วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เกิดเป็นคนควรนิยมบุญ


จิตอาสาเพื่อสังคมอุดมสุข


บรรยากาศของโลกทุกวันนี้ ควรที่ทุกคนน่าจะรู้ตัวเองแล้วว่า การที่ได้เกิดมาเป็นคนนั้น เป็นบุญ หนักหนาแล้ว ไม่เต็มคนนักก็ตาม หรืออาจจะมีร่างเป็นคน แต่ใจยังไม่เป็นคนทั้งหมด ก็ควรศึกษา ควรเรียนรู้ ควรทำความรู้จักความเป็นคนให้แจ้งชัด เพราะพฤติกรรมที่เปิดเผยเป็นข่าวออกมาตามสื่อ บางคน ส่อความโหดเหี้ยมอย่างไม่น่าเชื่อว่า "นี่คนหรือ?" หรือ "คนเขาทำอย่างนี้ได้ด้วยหรือ?"

สัตวโลกที่ได้เกิดมาเป็นคนแล้ว ควรดีใจ และควรนำมาระลึกนึกถึงความจริงส่วนหนึ่งว่า เราได้ต้นทุน มามากแล้ว มากกว่าสัตวโลกชนิดอื่นที่ไม่ได้เรียกว่าคน

ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่า เราก็ยังคือสัตวโลกอยู่ ตราบเท่าที่ยังมีสัญชาตญาณของสัตวโลก คือ ยามหิวก็ดุร้าย ยามโกรธก็ดุร้าย ยามเสพเพศคู่ก็ดุร้าย ยามมัวเมาหลงใหลก็ดุร้าย หากไม่รู้จัก ปรับเปลี่ยน นิสัยใจคอดุร้ายตามสัญชาตญาณสัตวโลกธรรมดาเช่นนี้

ดังเหตุการณ์ที่เกิดในประเทศเพื่อนบ้าน ในงานแต่งงาน แขกผู้ชายที่มามีความเมาผสมอยู่ในอารมณ์ ถือวิสาสะไปจับก้นเจ้าสาว พ่อกับพี่ชายเจ้าสาวถือว่าเป็นการดูหมิ่นอย่างแรง เกิดโทสะ ลากแขก ออกไปซ้อม ทำร้าย สุดท้ายฆ่าแขก..เอาเนื้อแขกมากิน

ที่เมืองไทยทางภาคใต้ เด็กชายอายุเพียง ๑๕ ปี ไม่พอใจพ่อที่ตักเตือนให้อยู่กับบ้านบ้าง อย่าไป เที่ยวเตร่ มืดค่ำนัก ประเดี๋ยวโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้วจะเลี้ยงตัวเองได้อย่างไร แม้พ่อจะไม่มีอารมณ์โกรธ ในขณะที่เตือน ก็ยังทำให้เด็กชายโกรธมาก สุดท้ายฆ่าพ่อ.. เป็นต้น

จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คนจะต้องมาศึกษาความเป็นคนในตน และศึกษาความเป็นคนในคนอื่นไปพร้อมๆกัน เพื่อจะได้ปรับใจตน ปรับความรู้สึกของคนอื่นด้วย

คนเท่านั้นที่จะศึกษาถึงความจริงนี้ได้ถึงแก่นชีวิต เพราะมันสมอง ความเจริญเติบโตของยีน อวัยวะ ความวิจิตรพิสดารในกลไกต่างๆ ช่วยนำพาให้เราได้อาศัยเป็นเครื่องมือศึกษา คนจึงได้ชื่อว่า "สัตวโลกที่มีบุญ" ยิ่งกว่า
สัตวโลกชนิดอื่น ยกเว้นไว้แต่คนที่ไม่ยอมใช้อุปกรณ์ที่เป็นบุญนี้ มาใช้พัฒนาตนไปสู่จุดนี้เท่านั้น ซึ่งก็มีคนชนิดนี้มากมาย เพราะส่วนใหญ่มาจมหลงอยู่แต่ความเป็นคน และหลงว่ามีบุญแล้ว ที่ได้มา เป็นคน แต่ไม่ยอมสั่งสมบุญในขณะที่ได้ร่างคน เพื่อสร้างบุญให้มากๆๆขึ้นไปอีก มิหนำซ้ำ ยังหลงเอา ความเป็นคน ที่ได้มาแล้ว สร้างบาป มาทำลายสิ่งที่ตนได้ดีแล้วนั้นด้วยซ้ำ

นับเป็นเรื่องน่าสังเวชสำหรับผู้ที่รู้แจ้งแทงทะลุในความจริงข้อนี้ อันเป็นเหตุให้ผู้รู้แจ้งแทงทะลุ เหล่านั้น ต้องยอมเสียสละทำงานกับคนด้วยกัน เพื่อยกฐานะจิตวิญญาณให้คนสูงขึ้นๆ อันเป็นอาชีพ ที่เป็นบุญ ทั้งแก่คนคนนั้น และสร้างหนทางแห่งบุญให้คนอื่นๆ ด้วย

"ต้นทุนในความเป็นคน" เป็นทุนที่คนต้องน้อมใจคิดให้ออก หากไม่มัวแต่ไปคิดเรื่องทุนด้านวัตถุ โดยเฉพาะ "ทุนการเงิน" หรือ "ทุนสมบัติข้าวของ" หรือแม้แต่ "ทุนชื่อเสียงความเชื่อถือ" เพียงแค่เกิด มาเป็น "คนรวยเงิน-รวยสมบัติวัตถุ" อื่นใดๆ มิหนำซ้ำยังหลงผิดไปยึดเอาความรวยเงิน ความรวย สมบัติ วัตถุ ความรวยความเชื่อถือมาเป็นทุนให้คนอื่นเขาหนุนนำ ส่งเสริมให้ตนเอง รวยสิ่งเหล่านี้ ขึ้นไปอีก โดยไม่ได้คิดถึงความขาดแคลนของคนอื่นๆ เลย ทั้งๆ ที่คนขาดแคลนของ เหล่านี้ ก็คือ คนที่ยังต้องใช้ ต้องอาศัยปัจจัยเครื่องอาศัยเหมือนกัน

คนที่กักตุน หวงแหน เอาเปรียบ เพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยเครื่องอาศัย ทั้งที่ "จำเป็นจริงๆ" และ "จำเป็น เทียมๆ" คือต้นเหตุของความเดือดร้อนทุกอย่าง เพราะความคิด นิสัยเช่นนี้แหละ คือคนที่เบียดเบียน คนอื่น คือคนที่ทำร้ายคนอื่นโดยปริยาย ถึงจะไม่มีอาการแสดงการทำร้ายด้วยรูปของอาวุธเห็นกันจะจะ หรือต้องใช้อาวุธมาเงื้อง่ากันซึ่งๆ หน้า แต่การทำร้ายนั้นๆ ถูกแฝงเร้นอยู่ในรูปของ "ปัญญาวุธ" หรือ "ปริญญาวุธ" ที่โลกนิยม

ดูได้จากค่านิยม การตีค่าของคนจากแผ่นกระดาษนานา จะเรียกว่าประกาศนียบัตร ปริญญาบัตร วุฒิบัตร สัญญาบัตร ฯลฯ หรืออะไรบัตรก็ตาม ดาษดื่น ก้าวล่วงจนถึงกาล "วิบัติ" ไปทั่วแผ่นดิน แต่คน ก็หารู้ตัวไม่ แม้คนถึงขั้นต้องขายสมบัติจนหมดเนื้อหมดตัวแล้วก็ตาม

"คุณสมบัติ" ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีนั้นจะหมายถึงสิ่งที่มีค่า มีประโยชน์ ก็ยังถูกขาย ถูกเปลี่ยนความหมาย กลายพันธุ์ไปเรียกสิ่งที่ "เป็นโทษ" ก็ยังไม่รู้ยังคงหลงว่าเป็นคุณอยู่นั่นแหละ เช่น ใครมีเงินเยอะ ก็เรียกว่ามีคุณสมบัติทางการเงินดี โดยไม่ได้คิดถึงที่มาของการมีเงินเยอะว่ามาจากเหตุอะไร?

มีเงินเยอะเพราะได้เปรียบเขามาแต่ต้น คือเงินของบรรพบุรุษ โดยที่ไม่ได้ร่วมทำมาเลย ไม่ได้ร่วม เหน็ดเหนื่อย ช่วยท่านเลย เกิดมาก็คาบช้อนเงินช้อนทอง เสวยเงินทองที่บรรพ-บุรุษสะสมไว้ กอบกอง เอาไว้ แต่ก็หลงว่าเราเป็นเจ้าของ เพราะเราคือทายาท เราคือลูกหลาน เราควรมีสิทธิ์ ควรมีสิทธิ์ยิ่งกว่า ลูกหลานคนอื่นๆ อีกหลายคน เมื่อคิดเช่นนี้ จึงทำให้เกิดศึกแย่งชิงสมบัติในตระกูลเดียวกัน จนเกิด การฆ่ากัน ความเป็นพี่น้องจากสายเลือดท้องแม่เดียวกันลบเลือนหายไปจนหมด

จะมีสักกี่คนในบรรดาพี่น้องท้องแม่เดียวกัน จะยอมไม่รับมรดกจากความเป็นทายาทของพ่อแม่ จะยอมยกให้พี่น้องคนอื่นๆ หากจำนวนพี่ๆ น้องๆ จากแม่เดียวกันสักครึ่งหนึ่ง ของครอบครัวนั้น คิดเช่นนี้ สังคมครอบครัว จะร่มเย็นสักแค่ไหน ยิ่งสังคมครอบครัวส่วนใหญ่ หรือสักครึ่งหนึ่ง ของ สังคม ประเทศนั้นๆ มีความเห็น มีการกระทำเช่นเดียวกันนี้ด้วย ผู้เขียนเชื่อแน่ว่าสังคม จะไม่ขาดแคลน ทรัพยากร ไม่ขาดแคลนปัจจัยเครื่องเลี้ยงชีวิตเลย เพราะแต่ละคนๆ มีความคิดเฉลี่ย เผื่อคนอื่น มีความคิดแบ่งให้ ยกให้คนอื่นเป็นทุนอยู่แล้ว คนอื่นๆ จึงไม่ต้องไปแย่งชิงจากครอบครัว จากสังคมประเทศอื่นเป็นผลเชื่อมโยงต่อมา

แต่เพราะคนในแต่ละครอบครัวไม่คิดเช่นนี้ จึงทำให้เรื่องนี้ลุกลามแพร่ขยายออกไป สร้างปัญหา ระดับชาติ เกิดสงครามแย่งแผ่นดิน แย่งประเทศ แย่งประชาชนมาเป็นแรงงานสร้างสิ่งต่างๆ ในโลก แต่ก็ใช่ว่าผู้นำความคิด ผู้นำทำ ผู้นำสร้างเหล่านั้นจะยอมเสียสละส่วนของตนฟรีๆ ผู้นำเหล่านั้น ก็ยังคิดส่วนได้ ส่วนแบ่งมากกว่าคนอื่นๆ ที่อยู่ในฐานะลูกน้อง ในฐานะบริวารอีก ทำให้เกิดวงจร "ปลาใหญ่ กินปลาเล็ก-นายหัวกินหัวคิว" อยู่ดี

ซ้ำร้ายหัวคิวนั่นแหละจะได้เปอร์เซ็นต์สูงกว่าเขาอื่น นายหัวนั่นแหละจะได้ส่วนแบ่งมากกว่า ทั้งๆ ที่บางทีเพียงแค่ใช้"หัวคิด"หาใช่ผู้ออกเรี่ยวออกแรงออกเหงื่อแต่อย่างใดไม่

เห็นภาพที่กล่าวขวัญถึงเชิงนี้ได้จากทุกๆวงการ ตั้งแต่นักการเมืองเป็นต้นไป จนระดับนักธุรกิจ นักวิชาการ ไม่ยกเว้นแม้กรรมกร จนเกิดรูปสำเร็จเชิงปฏิบัติการเป็นที่ยอมรับในสังคม โดยปริยาย ในนามของ "อภิสิทธิ์""สิทธิพิเศษ" ที่ดูเหมาะสม ที่สมควรแล้วตามสมมติ เพียงแค่คนนั้น เกิดมาเป็น ลูกเจ้าลูกนาย จะระดับไหน วรรณะไหนก็ตาม ในชนชั้นยังถูกบัญญัติให้ถูกต้อง ตามกฎหมาย ด้วยซ้ำ หรือ

หากใครที่เกิดมาในตระกูลร่ำรวยแล้วไม่เอาความร่ำรวยมาเพิ่มความร่ำรวย ก็จะถูกมอง ถูกหาว่าเป็นคนขี้เกียจ เป็นคนไม่เก่ง เหตุเช่นนี้จึงเป็นแรงผลักดันทำให้คนที่ร่ำรวยอยู่แล้ว "ไม่ยอมจน"

อย่ากล่าวไปถึง "ยอมจน" เลย แม้แค่ "ยอมลดลงบ้าง" ก็ยังยาก เริ่มตั้งแต่การกินการใช้ จะมีสักกี่คน ที่เกิดมารวย แต่การกินการใช้อย่างกับคนจน คือกินของไม่แพง ใช้ของไม่ฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย เพราะถ้า ทำเช่นนี้ ก็จะถูกหาว่าขี้เหนียว หรือไม่ก็ถูกหาว่า "เป็นคนบาป" ( ไม่รู้จักกิน ไม่รู้จักใช้)

จะมีคนรวยสักกี่คน ที่ยังคงขยันทำงาน ยอมลำบาก แม้ว่าถ้าไม่ทำงานก็ยังมีเงินใช้ แม้เขายังใช้เงินอยู่ ก็จะ "ใช้เงินเพื่อคนอื่น"

คนที่มีสมบัติมาก แต่ไม่ละโมบในสมบัติ ไม่หลงในความมาก ไม่ใช้ความมากเหล่านั้นไปสร้าง ความมาก ให้เพิ่มขึ้นแก่ตน แล้วหลงยึดความมากเหล่านั้นมาเป็นของของตน คนนั้นแหละคือคนที่ ไม่ก่อหนี้ ไม่สร้างหนี้ การเกิดมาของเขาเป็นการเกิดมาเพื่อล้างหนี้โดยแท้

เช่นเดียวกับคนที่แม้เกิดมามีสมบัติน้อย หรือไม่มีสมบัติเลย แต่เกิดมาแล้วก็ยังหลงความมีสมบัติ พยายามตะเกียกตะกายไขว่คว้าให้ได้มาซึ่งสมบัติต่างๆ จนมีสมบัติเพิ่มมากมาย จะด้วยวิธีไปกู้เขามา ไปสร้างหนี้มาก็ตาม คนนั้นแหละคือคนที่เป็นลูกหนี้เพิ่มขึ้นๆ ตามวันเวลา ตามอายุที่มากขึ้นๆ ทั้งสิ้น

หนี้วัตถุที่ว่ามากแล้ว ยังเทียบไม่ได้กับหนี้เวร หนี้บาป ที่จะผันกลับมาล้างความเป็นคนของตนๆ ตามสัดส่วนของการสร้างหนี้เหล่านั้น จนอาจเป็นตัวแปรทำให้คนๆนั้น ต้องกลายร่าง จากคนไปเป็น สัตว์เดรัจฉาน ทดแทน เช่น เป็นวัว เป็นควาย เป็นช้าง เป็นม้า เป็นหมา และสัตว์อื่นๆ ที่ต้องมาเป็น ทาสคนอีก ในวัฏสงสารอันไม่มีความสิ้นสุดนี้

สัตว์ชนิดที่กล่าวนามมาข้างต้น มาเป็น "ทาสคน" ก็ไม่กระไรนัก แต่ถ้า "คนเป็นทาสสัตว์" ล่ะ จะยิ่ง ตกต่ำ สักเพียงใด เช่นบางคนที่ยอมเลี้ยงดูสัตว์ รักหลงใหลสัตว์บางชนิดยิ่งกว่าคน และหลงผิด ไปอิสสาริษยาสัตว์ที่ต่ำกว่าคน ว่ามันตัวนั้นได้รับการเลี้ยงดู ได้รับการเอาใจใส่ ประคบประหงม ยิ่งกว่าเรา ที่เป็นคนเสียอีก ก็มีคนคิดเช่นนี้อยู่

เพราะรสนิยมความเป็น "นายทุน" ที่มิจฉาทิฐิเช่นนี้ ทำให้คนไปยกย่องการสร้าง เพิ่มความร่ำรวย ด้านวัตถุเงินทอง ข้าวของเชิง "วัตถุธรรม" มากกว่า ไม่คิดถึง "อาริยธรรม" สักนิดหนึ่งว่า เมื่อเราได้ ต้นทุน ความเป็นคนมาแล้วในชาตินี้ ก็ควรใช้ต้นทุนนี้แหละรักษาความเป็นคนไว้

ไม่เพียงแค่นั้นเท่านั้น ยังต้องใช้ความเป็นคนสร้างความเป็นอาริยะให้ยิ่งๆ ขึ้นด้วย เพราะความเป็นคน ที่ว่าดีแล้ว ก็ยังเป็นเพียงในชาตินี้เท่านั้น ชาติต่อๆ ไปใครเล่าจะ มั่นใจได้ว่าไม่แปรเปลี่ยนเป็นอื่น ตราบเท่าที่ คนนั้นยังไม่อยู่เหนือความเป็นคน

ความเป็น "คนดี" เป็นต้นทุนในการสร้างความเป็น "คนอาริยะ"
ความเป็น "คนสละ" เป็นต้นทุนในการสร้างความเป็น "คนสูง"
ความเป็นคน "ละ" เป็นต้นทุนในการสร้างความเป็น "คนหมดความเป็นคน"
คนที่มีวิญญาณอาริยะ จะเอาร่างกาย เอาแรงงานของตน มาแปรสภาพเป็น"ต้นทุน" เพราะตัวเองคือ "นายทุน" ที่แท้

ต่างจากคนที่มีวิญญาณ "นายทุน" ชอบที่จะ "เอาวัตถุ" และ "เอาคนอื่น" มาเป็นทุน จะด้วยการซื้อ ใช้อำนาจ ใช้ความฉลาดด้วยเล่ห์กระเท่ห์นานาสาระพัด อย่างลืมนึกถึงความเป็นหนี้อย่างสิ้นเชิง

แม้หนี้นั้นจะออกในรูปชีวิตบางคน ที่คนอื่นมองเห็นว่า "ทำไมถึงยอมเป็นทาสเขา" ถึงปานนั้นก็มี "ทำไมถึงทำอะไรโง่ๆ ได้อย่างนั้น" ก็มี

แต่ผู้ที่ถูกมอง ผู้ที่คนอื่นมองเห็นว่าเป็นเช่นนั้นๆ ก็ยังไม่รู้สึกตัว ยังไม่ฉงนนำมาขบคิด ยังคงคิดหลงตัว ว่าตนเองมีบุญด้วยซ้ำ

เฉกเช่นยุคที่คนนิยมระบบทาส คนที่เป็น "นายทาส" หลงตัวว่า "เหนือทาส" หลงตัวว่าเป็น "เจ้าของ ลูกทาส" แล้วก็นำความเป็นนาย ความเป็นเจ้าของเหล่านั้นแหละไปทำร้ายตัวเอง สร้างความเป็น "ทาสกิเลส" ให้แก่ตนเพิ่มขึ้นไปอีก

มาถึงยุคที่ยกเลิกระบบทาสที่เป็นตัวเป็นตนชัดๆ เช่นนี้มาแล้ว ก็ยังมิวายที่คนจะก่อร่าง สร้างความ เป็นทาส ในรูปแบบอื่นๆ และคนก็ไม่มีโอกาสรู้ว่าตนเองเป็นทาสอีกด้วย เพราะ "คนติดรส เสพใน ความมี ความเป็น" อย่างนั้นๆ ปิดกั้นความเป็นทาสโดยสิ้นเชิง

คนที่หลงผิดมากมายจึงชักชวน ส่งเสริมให้คนเดินไปในทิศทางที่เพิ่มความเป็น "ทาสทุนนิยม" ยิ่งขึ้น ความชอบรักสะดวก รักสบาย เป็นเหตุของความเป็น "นายทุนเศรษฐกิจทุนนิยม" ทุกชนิด

เศรษฐกิจทุนนิยมจึงตั้งอยู่บนฐานของการสร้างหนี้ เพิ่มหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้บาป หนี้เวร หนี้ชีวิต หนี้ดอกเบี้ย จนปรากฏในรูปของยิ่งเพิ่มทุนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นหนี้ในทุกรูปแบบมากขึ้นเท่านั้น

ถ้าคนใดรู้สึกตัว หันกลับมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง หักลบหมดหนี้ ด้วยการเปลี่ยนแนวคิดจากเดิมที่คิดว่า "ได้เปรียบมาก-คือได้กำไรมาก" มาเป็นความคิดใหม่ว่า "ยอมเสียเปรียบมาก-คือได้กำไรมาก" แทน คนนั้นแหละ คือคนที่กำลังเดินทางไปสู่ความเป็นผู้หมดหนี้ยิ่งๆ ขึ้น

ลองหัดทำ "ยอมให้คนอื่นได้เปรียบ-ยอมให้คนอื่นได้มากกว่า" ในทุกๆเรื่องดูบ้าง ตั้งแต่ในระหว่างพี่ๆ น้องๆ ญาติๆไปก่อน จนกระทั่งเขยิบวงกว้างออกไปเป็นเพื่อนบ้าน ชุมชน ประเทศ เชื่อแน่ว่า นี่แหละ คือการปูทิศทางการเดินไปสู่วิถีแห่ง "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่แท้จริง อันเป็นที่พึ่งของตนและเป็นที่พึ่ง ของสังคมด้วย




วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ในหลวงกับพุทธภูมิ

จิตอาสาเพื่อสังคมอุดมสุข
จากการที่ได้หาโอกาสศึกษาและมีวาสนาได้กราบไหว้ใกล้ชิด พระอัจฉริยเถราจารย์
ผู้ทรงคุณธรรมเบื้องสูงจำนวนมาก ตลอดระยะเวลาอันยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ ทำให้ได้รับการบอกกล่าวถึง
เรื่องอันพิเศษๆเป็นอันมาก ที่นอกเหนือจากสามัญมนุษย์ทั่วไป ซึ่งไร้ซึ่งญาณปรีชาจะพึงทราบชัด ให้ถูกถ้วน
ตามความเป็นจริงได้เป็นอันเอนกปริยาย ดังที่ได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมะ และความรู้รอบตัวต่างๆเป็น
ธรรมวิทยาทานมาโดยลำดับ ความย่อมเป็นที่แจ้งใจอยู่โดยทั่วไปแล้วนั้น

บัดนี้ เป็นกาลอันสมควรแล้ว ที่จะได้นำเอาเรื่องราวที่บรรดาพระอริยคณาจารย์ทั้งหลาย ที่ได้เคยกล่าวถึง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาแสดง เพื่อน้อมถวายความจงรักภักดีแด่พระมหาธรรมราชา ผู้ทรงพระคุณ
อันประเสริฐแห่งประชาชาติไทยพระองค์นั้น และเพื่อยังความเป็นสวัสดิมงคลอันยิ่ง ให้บังเกิดขึ้นแก่แผ่นดิน
และมหาชนทั้งหลายสืบไปตราบชั่วจิรัฏฐิติกาล...


"ในหลวงพระองค์นี้ ท่านเป็นพระโพธิสัตว์น๊ะ..!!!!"
พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต(ธมฺมวิตกฺโกภิกขุ)วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร

สำหรับปฐมเหตุที่ทำให้ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ฯกล่าวความเช่นนี้ ก็เกิดมาจากการที่ท่านได้กล่าวเตือนญาติโยมบางราย
ที่ไปนมัสการว่า

"การที่คุณเอาธนบัตรที่มีรูปในหลวงไปใส่ไว้ในกระเป๋ากางเกงนั้น ไม่ดีเลย เพราะในหลวงท่านเป็น
พระโพธิสัตว์ การเอาพระรูปของท่านไปไว้ในที่ต่ำอย่างนั้น ย่อมบังเกิดโทษเป็นอันมาก ทีหลังอย่าพากันทำ..!!?!"



"พระองค์มัวแต่เป็นห่วงคนอื่น แต่ไม่ทรงห่วงพระองค์เองบ้างเลย.."
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ วัดดอยแม่ปั๋ง เชียงใหม่


ครั้งหนึ่ง มีผู้พูดถึง"ผู้ยิ่งใหญ่"ระดับประเทศบางท่านให้หลวงพ่ออุตตมะ วัดวังก์วิเวการาม กาญจนบุรี
พระมหาโพธิสัตว์ใหญ่ที่หลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน นครราชสีมากล่าวรับรองไว้ด้วยองค์เองว่า
"เป็นหนึ่งในสิบแห่งอนาคตพุทธวงศ์เบื้องหน้า"ฟัง สังเกตว่า ดูหลวงพ่ออุตตมะท่าน"เฉย"มากๆ
ก่อนที่จะปรารภออกมาอย่างราบเรียบที่สุด เหมือนมิได้ไยดีใดๆว่า

"เขาไม่ได้ทำประโยชน์อะไรมากเหมือนกับในหลวงหรอก..!!!!!"

ในหลวงสนทนาเรื่อง"พุทธภูมิ" กับ หลวงตามหาบัว
"...เหตุการณ์ที่น่าทึ่งที่สุดคือ เมื่อปี พ.ศ.2531 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จไปนิมนต์หลวงตาไปใน
งานในวัง ปกติหลวงตาท่านไม่ค่อยไปไหน แต่ตอนที่พระเจ้าอยู่หัวฯ ไปนิมนต์ ท่านไปนิมนต์ด้วยพระองค์เอง
เรายังจำได้..

วันนั้นเป็นวันที่ 7 มกราคม 2531 เป็นปีเฉลิมราชรัชมั งคลาภิเษกที่ทรงครองราชย์มากกว่ากษัตริย์ใด
ในประวัติศาสตร์ไทย ท่านนิมนต์หลวงตาเข้าวัง มาเป็นขบวนใหญ่ หลวงตาท่านจะอยู่ที่กุฏิ ท่านให้เราควบคุม
ดูแลญาติโยม ดูแลพวกทหารที่มา พระเจ้าอยู่หัวฯ จะเสด็จมาตอน 6 โมงเย็น

เมื่อขบวนพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จมาถึง เรายืนตรงนี้ ผู้ว่าฯ สายสิทธิ์ยืนตรงนี้ หมออวย แล้วใครต่อใครยืนเป็นแถว
รอรับเสด็จ แล้วท่านก็ขึ้นไปข้างบนซึ่งหลวงตารอท่านอยู่แล้ว ส่วนเราก็อยู่ตรงบันได ส่วนหลวงตาอยู่ข้างบน
ที่ขึ้นไปก็มีพระบรมวงศานุวงศ์ตามเสด็จครบหมดเลย พระราชินี พระบรมฯ พระเทพฯ เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ
หมดทั้งครอบครัวเพื่อจะนิมนต์หลวงตาไปงานพิธีในวัง

พอพระองค์ท่านกราบหลวงตาเสร็จ ท่านก็ถวายคำถามแรก ( พระเจ้าอยู่หัวเรียกหลวงตาว่า "หลวงปู่" )
"หลวงปู่... สาวกภูมิกับพุทธภูมิต่างกันอย่างไร"

โอ้... พระเจ้าอยู่หัวถามปัญหาหลวงตาขนาดนี้
หลวงตาตอบว่า...
"พุทธภูมิ ก็เหมือน ดั่งเรานั่งรถไฟ นั่งรถไฟไปเชียงใหม่หรือนั่งรถไฟไ ปอุดร
นั่นแหละพุทธภูมิ แต่ถ้าเรานั่งจักรยานมาหรือนั่งมอเตอร์ไซค์ ขี่มอเตอร์ไซค์ไป
นั่นแหละ...สาวกภูมิ เพราะฉะนั้นการเป็นพุทธภูมิก็คือการ นำคนไปได้เยอะ ๆ
ส่วนสาวกภูมินั้นนำไปได้น้อยๆ ไม่ได้มากนัก อย่างเก่งก็ 1 คน หรือ 3-4 คน
ก็ว่ากันไป นั่นคือสาวกภูมิ เข้าใจไหมล่ะพ่อหลวง"

พระเจ้าอยู่หัวฯ ตอบหลวงตาว่า
"เข้าใจแล้วหลวงปู่ แล้วนิพพานเป็นอย่างไรนะ หลวงปู่"

หลวงตาตอบ : "อ้อ พ่อหลวงเหมือนพ่อหลวงมาวัดป่าบ้านตาดนี่แหละ
รู้ไหมว่าวัดป่าบ้านตาดอยู่ตรงไหน อยุ่บนกุฏินี่เหรอ วัดป่าบ้านตาดอยู่ไหนล่ะ
แต่พอพระมหากษัตริย์มาถึงนี่แล้ว บริเวณนี้ทั้งหมดคือวัดป่าบ้านตาดนี้แหละ
แต่จะชี้ลงไปว่าที่กุฏิอาตมาก็ไม่ใช่ ที่กุฏิพระก็ไม่ใช่ ที่ศาลาก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ทั้งหมด
แต่เมื่อรวมกันทั้งหมดในกำแพงวัดนี้นี่แหละคือวัดป่าบ้านตาด นี่แหละ
พระนิพพานก็มีความหมายแบบเดียวกัน"

และเมื่อพระเจ้าอยู่หัวฯ ขอบารมีหลวงตาช่วยต่ออายุให้แม่หลวง (คือสมเด็จย่า)
ตอนนั้น สมเด็จย่าทรงประชวรอยู่ หลวงตาท่านก็ตอบปฏิเสธเลยว่า...

"พ่อหลวงนั่นแหละก็จัดการเองได้ ขอเองได้" ท่านว่างั้นนะ...
"พ่อหลวงก็สามารถจัดการได้เอง" ท่านบอกไปเลยนะว่า...
ให้พระเจ้าอยู่หัวขอเอง จัดการเอง จัดการเองอาตมาต่อให้ไม่ได้หรอก

พระเจ้าอยู่หัวฯ ได้กราบลาว่า
"เอาล่ะ ได้เวลาแล้ว จะกลับแล้ว ท่านหลวงปู่มีอะไรจะบอกไหม"

หลวงตาท่านได้เทศน์สั้น ๆ ว่า
"การเป็นพุทธภูมิ สร้างบารมีเพื่อความเป็นพุทธะ พอจบพุทธภูมิได้ก็เป็น
พระพุทธเจ้า แล้ว พระพุทธเจ้าก็มีพุทธกิจ 5 คือ ตอนเช้าบิณฑบาต
ตอนบ่ายสอนคหบดีมนุษย์ทั่วไป ตกเย็นสอนนักบวช สมณะชีพราหมณ์
ตอนกลางคืนแก้ปัญหาเทวดา พอมาตอนเช้ามืดเล็งญาณดูสัตว์โลก
สัตว์โลกตัวไหนมีกิเลสเบาบางพอที่จะบรรลุธรรมได้ ท่านก็จะเล็งญาณดู
รีบไปโปรดก่อน พระพุทธเจ้าสร้างบารมีพุทธภูมิจนได้เป็นพระพุทธเจ้า
เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านก็มีพระพุทธกิจ 5 อย่ างนี้ แต่... ไม่รู้ว่า
พ่อหลวงแม่หลวงของประเทศไทยปรารถนาอะไร ทำงานกันจนไม่มีเวลา
จะพักผ่อน..เอาล่ะ ๆ ... อาตมาจะให้พร"


พอฟังมาถึงตรงนี้นะ เรายังจำได้แม่น เพราะพระเจ้าอยู่หัวฯ ท่านถามเรื่องพุทธภูมิ เสร็จแล้วพอท่านจะลากลับ
หลวงตาท่านสรุปให้เสร็จสรรพเลย... ไม่รู้ว่าพ่อหลวงแม่หลวงของไทยทำงานปรารถนาความเป็นอะไร...
ทำงานกันจนไม่มีเวลาพักผ่อน... เอาล่ะ ๆ ...อาตมาจะให้พร

เมื่อพระเจ้าอยู่หัวท่านเสด็จลงมา ท่านก็ตรัสว่า อยากให้ท่านอาจารย์อยู่กับหลวงตาไปนาน ๆ
...เราก็ได้ตอบท่านว่า เจริญพร...มหาบพิตร อาตมาก็อยากจะอยู่ แต่ถ้าถึงเวลา
ที่อาตมาจะต้องเอา ตัวเองให้รอด อาตมาก็ขอเอาตัวเองให้รอดก่อน เพราะทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผล ถึงเวลาไป
ก็ต้องไปเหมือนกัน แล้วพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็บอกขอทำบุญกับหลวงตา 200,000 ถวายอาจารย์ 20,000
แล้วท่านก็ถามว่าพระที่อยู่ในวัดนี้กี่รูป เราก็ตอบท่านท ั้งหมด 29 รูปรวมหลวงตานั่นแหละ... ท่านจึงถวายให้รูปล่ะ
2,000 "แล้วปัจจัยจะให้ไว้กับใคร" ท่านถาม...ท่านหยิบออกมาให้เลยนะ ท่านผู้ว่าฯ ยัง
รับมือสั่น พระเจ้าอยู่หัวไม่เพียงมากราบหลวงตา ท่านมาที่วัดท่านยังมาทำบุญกับพระด้วยปัจจัยที่เตรียมพร้อม
จากพระหัตถ์ของ ท่านเอง จากนั้นพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็เสด็จออกไปเยี่ยมประชาชนแล้วก็ขึ้นรถไป

นั่นแหละเราได้ฟังมา เรื่องของพุทธภูมิ เรื่องของพระโพธิสัตว์ สาวกภูมิกับพุทธภูมิต่างกันอย่างไร เสร็จแล้ว
พอตอนจบขอพร หลวงตาท่านก็สรุปและให้พร จึงบอกได้ว่าเป็นบทสนทนาของจอมปราชญ์...

ที่มานิตยสาร น่านฟ้า ปีที่1 ฉบับที่ 8 ประจำเดือนธันวาคม 2550 หน้า18



เมื่อต้นปีพ.ศ. 2498 คุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติมได้ปรารภกับศิษยานุศิษย์ของท่านว่า
"มีใครเป็นห่วงพระเจ้าแผ่นดินองค์น้อย(ในหลวง)บ้าง..??"

เมื่อทุกคนกล่าวรับว่าเป็นห่วง เนื่องจากมีข่าวที่น่าเป็นกังวลมาให้ได้ยินอยู่ คุณแม่บุญเรือนก็ว่าต่อไปอีกหน่อยว่า
"ถ้าเป็นห่วง ก็ขอให้แม่อธิษฐานช่วยพระองค์ท่านซิ"
(ตามอริยประเพณี พระอริยะจะทำการสิ่งใดโดยปราศจากเหตุหรือไม่มีผู้อาราธนามิได้)

เมื่อศิษย์ทุกคนกล่าวคำขอให้คุณแม่ใช้อิทธิฤทธิ์ช่วยในหลวงให้ทรงพระเจริญและแคล้วคลาดจากสรรพภยันตราย
ทั้งปวงแล้ว คุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติมจึงได้กำหนดที่จะไปเข้า"นิโรธสมาบัติ" คุ้มครองถวายพระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัว ที่บ้านนาซา(เป็นเคล็ดให้เรื่องร้าย"สร่างซา"ลงไป) ของนางสาววาย(เป็นเคล็ดให้เรื่องราวที่ไม่ดี
มีอันต้อง"วาย"หายสูญ ไป) วิทยานุกรณ ์ (น้องสาวพระมหารัชชมังคลาจารย์ วัดสัมพันธวงศ์) ที่ปากน้ำประแสร์
จ.ระยองเป็นเวลาถึง 1 ปีเต็ม โดยช่วงนั้น คุณแม่บุญเรือนได้สั่งห้ามมิให้ศิษย์คนใดเข้ามารบกวนท่านในช่วงเวลานั้น
เป็นอันเด็ดขาด..!!!!

ที่มา,หนังสืออนุสรณ์ อดีตเจ้าอาวาส วัดสารนาถธรรมาราม ระยอง พ.ศ. 2551


"มีแต่คนที่ไม่ฉลาดเท่านั้น ที่จะไม่รู้ว่า ในหลวงพระองค์นี้ดีอย่างไร.???"
(พระอาจารย์วัน อุตตโม วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม สกลนคร)


เมื่อหลายสิบปีก่อน ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ถูกลอบปลงพระชนม์ ถึงเสด็จ
สวรรคต หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสะแก พระนครศรีอยุธยา เคยเล่าว่าท่านเกิดความสลดสังเวชมาก ว่าคนไทย
หลายคน ยังขาดกตัญญูกตเวทิตาคุณต่อพระเจ้าอยู่หัว ท่านคิดอยู่เสมอว่า จะให้คนไทยมีความรักชาติ ศาสนา
และพระมหากษัตริย์ได้อย่างไร..???


หลวงปู่ดู่รักในหลวงมาก

ในสมัยที่หลวงปู่มีชีวิต ท่านจะกำชับให้ลูกศิษย์ของท่านเอาบุญจากการภาวนา รวมเข้ากับบุญของพระพุทธเจ้า
และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ถวายให้ในหลวง รวมทั้งแผ่เมตตาให้เทพเทวาผู้ปกรักษาพระองค์ท่านให้มีความสุข
แล้วก็กรวดน้ำให้เจ้ากรรมนายเวรของพระองค์ท่านให้ไปเกิดในสุคติภูมิ หลวงปู่กล่าวว่า หากไม่มีในหลวง พระพุทธศานา
ก็ตั้งอยู่ไม่ได้ หลายครั้ง ที่ลูกศิษย์จะรับทราบได้ว่าหลวงปู่จะเข้าที่เพื่ออธิษฐานช่วยในหลวงในยามที่พระองค์ทรง
พระประชวร)

นอกจากนี้ ท่านยังกำชับให้แผ่เมตตาให้ประเทศชาติ ดังเช่นการอธิษฐานช่วยประเทศชาติของหลวงปู่เกษม เขมโก
สุสานไต รลักษณ์ ด้วยเช่นกัน(หลวงปู่เกษมจะมีคาถากำกับด้วยว่า รัฐะ ปาลา สมัคคา สทา โหนตุ)

สรุปก็คือ นักปฏิบัติต้องไม่ลืมประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

เพราะสามสถาบันนี้เกื้อกูลให้เราได้รับความร่มเย็นเป็นสุข ได้รับความสัปปายะแก่การปฏิบัติธรรมสืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน

สำหรับองค์ของหลวงปู่ดู่เองนั้น ตั้งแต่บัดนั้นจนกระทั่งทุกวันนี้ แม้กาลเวลาล่วงเลยไป หลายสิบปี กิจวัตรอันหนึ่งที่
ท่านทำอยู่มิได้ขาด คือ การสวดมนต์ถวายพระพรแด่ในหลวงทุกวันตลอดมา ขอให้พระองค์มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน
เป็นมิ่งขวัญคนไทยตลอดไป

หลวงพ่อยังได้กล่าวไว้อีกว่า เพราะพระเจ้าแผ่นดิน(ร.9) ท่านปฏิบัติ(ธรรม) ต่อไปพุทธศานา
ในเมืองไทยจะเจริญขึ้น เพราะท่านเป็นผู้นำเป็นแบบอย่าง


สมัยหนึ่งเมื่อหลวงปู่ดู่ ยังทรงสังขารอยู่นั้นบ่ายของวันที่แดดร่มลมตก จู่ ๆ ท่านก็เปรยกับคณะศิษย์ที่ประกอบ
ด้วย "คนตาดี" หลายคนว่า
"พวกแกลองดูทีซิว่า มีพระรูปไหนอยู่กับในหลวงบ้าง"

เข้าใจว่าท่านคงหมายถึง กายทิพย์หรือบารมีที่พระมหาเถระแต่ละองค์อธิษฐานพิทักษ์รักษาในหลวง
ศิษย์ท่านหนึ่งก็ "เข้าที่" ตามหลวงปู่สั่ง พักหนึ่งก็ลืมตาแล้วตอบว่า

"หลวงพ่อเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์ ลำปางครับ"
หลวงปู่ยิ้มแล้วว่า "นั่นองค์หนึ่งละ มีใครอีก"
ศิษย์แสนซนคนหนึ่งตอบทันที "หลวงพ่อนั่นแหละครับ"

ท่านมองหน้าแล้วถาม "ทำไมแกจึงว่าอย่างนั้น"
ศิษย์อธิบายว่า
"อ้าว ก็หลวงพ่อรู้ได้ว่ามีองค์นั้น องค์นี้อยู่กับในหลวง แสดงว่าหลวงพ่อก็ต้องไปมาด้วยน่ะสิ
ไม่อย่างนั้นจะรู้ได้ยังไง"


เมื่อเข้าเนื้อท่านโบกมือให้ยุติเรื่องทันที ศิษย์ก็ถึงที่ยิ้มไป...



เราอย่าเห็นสิ่งปลีกย่อยดีกว่าส่วนรวมส่วนใหญ่นะ ส่วนใหญ่นั่นละเป็นของสำคัญ พ่อกับแม่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อะไรที่เป็นหลักของชาติ เป็นหัวใจของชาติให้พากันรักกันสงวน อย่าพากันทำลาย
ลูกเต้าจะอวดดีกว่าพ่อกว่าแม่มันไม่ดีละ


คิดดูในพุทธศาสนาพระเจ้าอาชาตศัตรูทำลายพระราชบิดา ก็ไม่เห็นเจริญอะไร ท่านว่า เย เกจิ พุทธํ ธมฺมํ
สงฺฆํ สรณํ คตา เส น เต คมิสฺสนฺ อบายภูมึ พวกสัตว์ทั้งหลายถ้านึกลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์

มีความเทิดทูนในสิ่งที่ดีงามที่มีคุณมีประโยชน์ทั้งหลายแล้วผู้นั้นเจริญ ผู้ใดไปทำลายหลักใหญ่แล้วจะเอาให้ส่วน
เล็กๆนี้ขึ้นครองบ้านครองเมืองมันก็ไม่ดี ให้พากันรักษาหลักใหญ่เอาไว้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือหัวใจของชาติไทยเรา นี่ให้พากันจำเอาไว้นะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนี้คือหัวใจของชาติไทยเรา ให้พากันเทิดทูน อย่าพากันดูถูกเหยียดหยามทำลาย
เช่นอย่างจะทำลายจะไม่ให้มีพระเจ้าอยู่หัว มันคนเกิดมาแล้วพ่อแม ่ตายหมด มีแต่ลูกกำพร้าหยิมแหยมๆ มันใช้
ไม่ได้นะ สกุลใดที่มีคนคับแคบอยู่ในบ้านนั้นเมืองนั้นแล้วสกุลนั้นไม่เจริญ สกุลใดที่มีความกว้างขวาง มีจิตใจอัน
กว้างขวาง พิจารณารอบคอบเพื่อทำประโยชน์แก่ส่วนรวมผู้นั้นเป็นผู้ดี

นี่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ของพวกเราคือหัวใจของคนไทยทั้งชาติ ให้พากันทะนุถนอมนะ อย่าพากันไป
ทำลาย จะมีแต่ลูกหยอมแหยมๆ พ่อแม่ผู้ให้ความร่มเย็นไม่มีมันไม่เกิดประโยชน์ อย่างไรต้องรักษาส่วนใหญ่เอาไว้
ในประเทศไทยเราก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว-สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี นี้คือหัวใจของชาติให้พากัน
เคารพเทิดทูน อะไรที่เป็นหลักใหญ่ของชาติของส่วนรวมให้พากันรักษา พากันเทิดทูน อย่าพากันทำลายโดยอวดดี

ดังที่ท่านว่าอึ่งอ่างกับวัวนั่นละ เราก็เห็นในนิทานอีสปแต่ก่อนเรียนหนังสือ อึ่งอ่างตัวเท่ากำปั้นนี่ วัวมันตัวขนาด
ไหน ลูกอยู่ในรู แม่ไปหากิน ลืมแล้วนิทานอีสป มันเป็นอย่างไรละทีนี้ (ลูกเห็นวัว พอแม่กลับมาเล่าให้แม่ฟังว่าเจอ
ตัวอะไรไม่รู้ใหญ่มาก แม่ก็พองตัว ลูกว่าใหญ่กว่านี้อีกค่ะ) ได้ไหมๆ สุดท้ายสิ่งที่ได้คือพุงแตก นี่ระวังนะ ตัวเล็กๆ
อย่าไปพองตัว มันไม่สมควรจะพอง อึ่งอ่างกับวัว วัวมันตัวใหญ่ขนาดไหน อึ่งอ่างตัวเท่ากำปั้น มาพอง มันตัวเท่านี้
ไหมๆ เรื่อย สุดท้ายเลยตาย เข้าใจไหม นี่อึ่งอ่างกับวัวมันไม่ดีอย่างนั้นละ


หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด อุดรธานี




หลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน นครราชสีมา เคยบอกกับผมเมื่อสมัยที่บวชอยู่กับท่านว่า...

"วันหนึ่งข้างหน้า ในหลวงจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งของโลก"

หลวงพ่อมองหน้าผมแล้วย้ำว่า...

"ในหลวงเป็นพระโพธิสัตว์ ปรารถนาพุทธภูมิ"









อนุโมทนาขอบคุณข้อมูล
จากกัลยาณมิตรกลุ่มธรรมสวัสดี
ธรรมะสวัสดีคลิกที่นี่



วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ชาดกทันยุค(อดีตชาติของพระพุทธเจ้า)..บารมีธรรม (ปลายิชาดก)

จิตอาสาเพื่อสังคมอุดมสุข

สะสมสร้างเสริมทำดี
บารมีนับวันยิ่งใหญ่
มหาชนเชิดชูภูมิใจ
ไร้ใครอาจหาญต้านทาน
พุทธกาลนั้นเอง มีปริพาชก (นักบวชพวกหนึ่งในชมพูทวีปชอบสัญจรไปที่ต่างๆ เพื่อแสดงทรรศนะ ปรัชญา ทางศาสนาของตน) ผู้หนึ่ง ปรารถนาแสดงภูมิปัญญาของตน จึงท่องเที่ยวไปทั่วชมพูทวีป (ชื่อประเทศอินเดียในครั้งโบราณ) เพื่อโต้วาทะ(การพูดโต้ตอบเอาชนะ) กับผู้รู้ทั้งหลาย แต่แล้ว ก็ไม่มีใครมาโต้ตอบวาทะด้วยเลย ปริพาชกจึงรอนแรมมาจนถึงเมืองสาวัตถี แล้วเที่ยว สอบถาม ชาวบ้านว่า
"ที่เมืองสาวัตถีนี้ ใครได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้มากที่สุด ผู้นั้นจึงจะสามารถโต้ตอบวาทะกับเราได้ มีบ้างไหมบุคคลเช่นนี้"
บรรดาผู้คนทั้งหลายต่างพากันตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า
"พระพุทธองค์ นั่นแหละ เป็นสัพพัญญู (ผู้รู้หมดทุกสิ่ง) เลิศกว่ามนุษย์ทั้งปวง เป็นใหญ่ โดยธรรม ย่ำยีวาทะของผู้อื่นได้ สามารถจะโต้ตอบวาทะ กับปริพาชก เช่นท่านได้ แม้ตั้งพันคน เพราะปราชญ์ทั้งหลาย ในชมพูทวีปนี้ ผู้ที่มีวาทะขัดแย้ง โค่นล้มพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ไม่มีแม้แต่คนเดียว บรรดาวาทะขัดแย้งทั้งปวง เมื่อมาถึงพระองค์แล้ว ก็ถูกหักล้าง ทำลายไป จนหมดสิ้น ดุจเกลียวคลื่น กระทบฝั่ง แล้วหายไป ฉะนั้น

"เอาเถอะ ! เดี๋ยวนี้พระองค์ประทับอยู่ที่ไหน"
"ที่พระเชตวันมหาวิหาร"
"ถ้าอย่างนั้น เราจะไปประวาทะกับพระองค์บัดนี้เลย"

ปริพาชกมุ่งสู่เชตวันมหาวิหารทันที มีหมู่ชนที่ทราบเรื่องพากันติดตามไปดูแน่นขนัด เมื่อมาถึง หน้าซุ้มประตูของเชตวันมหาวิหาร เป็นซุ้มประตูที่พระราชกุมาร พระนามว่า เชตะ ทรงสละ ทรัพย์ เก้าโกฏิ (๙๐ ล้านบาท) สร้างขึ้นอย่างโอ่อ่า โอฬารตระการตา ปริพาชกเพ่งดูแล้ว ก็หยุดชะงัก อยู่ที่ตรงนั้น พร้อมกับถามไถ่ว่า "นี้คือปราสาทที่ประทับของพระสมณโคดมหรือ"
ผู้คนทั้งหลายช่วยตอบให้รู้ว่า "มิใช่ นี่เป็นเพียงซุ้มประตูเท่านั้น"
จากคำตอบนี้เอง ทำให้ปริพาชกถึงกับหวาดหวั่นขึ้นมาในใจทันที ด้วยความรู้สึกที่ว่า
"ซุ้มประตู ยังใหญ่โต ราวกับปราสาทถึงเพียงนี้ แล้วที่ประทับ จะเป็นเช่นไร"

ขณะนั้นเองมีชาวบ้านคนหนึ่งเอ่ยขึ้นว่า
"พระคันธกุฎี (พระกุฎีที่ประทับของพระพุทธเจ้า) นั้น ประมาณไม่ถูกเลยทีเดียว"

ปริพาชกถึงกับรุ่มร้อนภายใน เหงื่อกาฬแตกด้วยความขลาดกลัว แล้วโพล่งออกไปว่า
"ใครจะไปโต้ตอบวาทะกับพระสมณโคดม ที่มีบารมีถึงปานนี้ได้เล่า"

แล้วก็หลบหนีไปจากที่นั้น อย่างรวดเร็ว

หมู่ชนทั้งหลายจึงส่งเสียงอึงคะนึงขึ้นทันทีว่า "ปลายิปริพาชก (ปริพาชกหนีไปแล้ว)"
"ปริพาชกหนีไปแล้ว.."

แล้วผู้คนทั้งหมดก็พากันเข้าไปยังพระเชตวันมหาวิหาร พระศาสดาทรงได้ยินเสียงดัง ทั้งแลเห็นผู้คนจำนวนมาก จึงตรัสถามว่า"
"นี้มิใช่เวลาฟังธรรม ทำไมจึงมีผู้คนมากันมากมายอย่างนี้หรือ"

หมู่ชนจึงกราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบ พระศาสดาเข้าใจเรื่องแล้วได้ตรัสว่า
"ดูก่อนอุบาสกทั้งหลาย ปริพาชกนี้พอเห็นซุ้มประตูวิหารเท่านั้นก็หนีไป มิใช่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน ก็เคยหนีแล้วเหมือนกัน"

หมู่ชนได้ยินดังนั้น พากันทูลขอร้องให้ตรัสเล่า พระศาสดาจึงแสดงชาดกนั้นให้ฟัง

ในอดีตกาล มีพระราชาพระองค์หนึ่งเสวยราชสมบัติที่เมืองตักกสิลา ในแคว้นคันธาระ
ส่วนที่เมืองพาราณสี ในแคว้นกาสี มีพระเจ้าพรหมทัตครองราชย์อยู่ พระองค์ทรงดำริ หมายครอบครอง เมืองตักกสิลา
เมื่อใกล้จะถึงเมืองตักกสิลา ได้หยุดทัพตั้งมั่นอยู่ เพื่อวางแผนการรบ ที่จะเข้าโจมตีเมือง ได้รับสั่งกับไพร่พลทั้งหลาย ก่อนที่จะยกทัพบุกว่า
"เมืองตักกสิลาจะถูกล้อมไว้ทุกด้าน ด้วยกองทัพช้างซึ่งร้องคำรนอยู่ด้านหนึ่ง ด้วยกองทัพม้า อีกด้านหนึ่ง ด้วยกองทัพรถ บุกตะลุยด้านหนึ่ง ด้วยกองทัพเดินเท้า ที่แม่นธนูด้านหนึ่ง
ท่าน ทั้งหลาย จะต้องรีบรุกเข้าไป จะต้องรีบบุกเข้าไป ต้องไสช้าง ให้หนุนเนื่องกันเข้าไป ต้องโห่ร้อง ให้สนั่นหวั่นไหว ในวันนี้ ดุจสายฟ้าฟาด จากกลีบเมฆ คำรามอยู่"

พระเจ้าพรหมทัตทรงตรวจพล และปลุกใจเหล่าทหาร ให้คึกคักเข้มแข็ง แล้วเคลื่อนพล ไปสู่ประตูเมือ งตักกสิลา พอมาถึงซุ้มประตูเมือง ที่สง่างามใหญ่โตแข็งแรง ตั้งตระหง่านมั่นคง อยู่ตรงหน้า จึงได้ตรัสถาม ขึ้นมาว่า
"นี่คือพระราชมณเฑียร ที่ประทับของพระราชาหรือ"

"มิใช่พระเจ้าข้า นี่คือซุ้มประตูเมืองเท่านั้น"
พระเจ้าพรหมทัตถึงกับตกพระทัยว่า
"ซุ้มประตูยังใหญ่โตมโหฬาร สง่างามถึงเพียงนี้ แล้วที่ประทับจะขนาดไหนเล่า"

พอดีเสนาได้กราบทูลต่อพระองค์อีกว่า
"พระราชมณเฑียรของพระเจ้ากรุงตักกสิลา นั้น ผู้คนบอกว่ายิ่งใหญ่สวยงาม เป็นเช่นเดียวกับ
เวชยันตปราสาท (วิมานของพรอินทร์)เลยทีเดียว พระเจ้าข้า"

ทรงสดับแล้ว ยิ่งทรงหวาดหวั่นพระทัย อาการที่เคยฮึกเหิม ก็กลับกลายเป็น ขลาดกลัว ทรงไม่แน่พระทัย ที่จะโจมตี ทำศึกสงครามด้วย ในที่สุด รับสั่งกับไพร่พลว่า
"เราไม่อาจสู้รบกับพระราชาที่สมบูรณ์ด้วยบารมีและลาภยศยิ่งใหญ่อย่างนี้ได้"

ได้ทรงหันไปทอดพระเนตร ซุ้มประตูเมืองอีกครั้ง แล้วตัดสินใจรับสั่งว่า "ถอยทัพ"
ความหวาดกลัวเหนือกว่าความอับอาย พระเจ้าพรหมทัตเสด็จยกกองทัพ ถอยหนีกลับคืน สู่เมือง พาราณสีตามเดิม เพียงแค่ได้ทอดพระเนตร ซุ้มประตูเมือง ตักกสิลาเท่านั้น

พระศาสดาทรงแสดงชาดกเรื่องนี้จบแล้ว ตรัสว่า
"พระเจ้าพรหมทัตในครั้งนั้น ได้มาเป็นปลายิปริพาชกในครั้งนี้ ส่วนพระราชาเมืองตักกสิลาได้มาเป็นเราตถาคตนี้เอง"

(พระไตรปิฏกเล่ม ๒๗ ข้อ ๓๐๗ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๗ หน้า ๔๒๒)
(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๙ ธันวาคม ๒๕๔๕)



วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

กว่าจะถึงอรหันต์..พระภัททเถระ

จิตอาสาเพื่อสังคมอุดมสุข


เป็นภิกษุ ทรงศีล ที่ยังเด็ก

แม้ตัวเล็ก เจ็ดขวบ จวบเท่านั้น

อย่ามองหมิ่น หลงพลาด ปรามาสกัน

เพราะเด็กนั่น อรหันต์ เชียวนะคุณ

พระภัททเถระ ในอดีตชาติของพระภัททเถระ ได้สั่งสมบุญบารมีเอาไว้มากมาย มีผลบุญผลประโยชน์ติดตาม มาพร้อมพรั่ง ในชาตินี้จึงเกิดอยู่ในตระกูลเศรษฐีแห่งกรุงสาวัตถี นครหลวงของแคว้นโกศล ได้ชื่อว่า ภัททะ (ผู้มีดีเจริญ) ภัททกุมารเป็นบุตรชายเพียงคนเดียว จึงเป็นที่รักของบิดามารดา เพราะแต่เดิมนั้นเศรษฐี อยู่ครองเรือน มาช้านาน ก็ยังไม่ได้บุตรแม้สักคนเดียว ทั้งสองสามีภรรยาจึงตั้งจิตประพฤติ ข้อปฏิบัติอันดีงาม และเซ่นสรวงบูชา แด่เทวดา (สภาวะจิตใจสูง) เป็นอันมาก จนได้กำเนิด บุตรสุดประเสริฐคนนี้มา

ครั้นพอภัททกุมารอายุได้ ๗ ขวบ บิดามารดามุ่งหวังความเจริญดีแก่บุตรชาย จึงตัดสินใจ พากันช่วยเหลือบุตร โดยแสวงหา ประโยชน์มหาศาลให้ ด้วยการนำภัททกุมาร ไปถวายแด่พระพุทธเจ้า องค์สมณโคดม กราบทูลอ้อนวอน กับพระศาสดาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุตรของข้าพระองค์นี้ เป็นสุขุมาลชาติ (ชาติผู้ดีมีสกุลสูง) เติบโตมา ด้วยความสุข เป็นบุตรที่ข้าพระองค์ทั้งสอง ได้มาโดยยาก ต้องประพฤติดีมากมาย แล้วก็เพื่อ ประโยชน์สุข อันยิ่งของลูกน้อย ข้าพระองค์ทั้งสองตัดใจ ขอถวายลูกสุดที่รักคนนี้ ให้เป็นผู้คอยรับใช้ ของพระองค์ ผู้ทรงชนะ กิเลสมารได้แล้ว ทรงพระกรุณาช่วยรับไว้ด้วยเถิด"

พระศาสดาทรงพิจารณาแล้ว ด้วยญาณหยั่งรู้ยิ่ง จึงทรงรับภัททกุมารไว้ แล้วหันไปรับสั่งกับ พระอานนท์ว่า "จงรีบให้เด็กน้อยคนนี้ บรรพชา (บวชเณร) เถิด เพราะเด็กคนนี้ จะเป็นผู้รอบรู้ ได้รวดเร็วยิ่งนัก" ตรัสแล้ว พระศาสดาก็ทรงลุกขึ้น จากที่ประทับ เสด็จเข้าสู่พระคันธกุฎี (ที่พัก)

ส่วนพระอานนท์ ก็นำภัททกุมารไปบวชเณร ในวันนั้นทันที แล้วสั่งสอนบอกกล่าววิปัสสนา (การพิจารณษให้รู้แจ้ง ตามจริง) ให้โดยย่อ ด้วยผลบุญ ของสามเณรภัททะ ที่สะสมไว้ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอุปนิสัยที่จะนิพพาน (ดับกิเลสได้สิ้นเกลี้ยง) ได้บำเพ็ญวิปัสสนา เพียงชั่วครู่เดียว ยังไม่ทันที่ดวงอาทิตย์ จะตกดินในวันนั้น จิตของสามเณรภัททะ ก็หลุดพ้นจากอาสวะกิเลส (กิเลสที่หมักหมมในสันดาน) ทั้งปวง โดยสภาวะ ได้เป็นพระอรหันต์ องค์หนึ่งในโลกแล้ว

ครั้นพระศาสดาทรงออกจากสมาบัติ (สภาวะจิตสงบอันประณีตยิ่ง) เสด็จออกจากที่เร้น สามเณรภัททะ อยู่ที่หน้ากุฎีนั้นเอง พระศาสดาจึงรับสั่งขึ้นทันทีว่า "ภัททะ เธอจงเป็นภิกษุเถิด" คำตรัสของพระศาสดา เช่นนี้แหละ ได้ถือเป็นการอุปสมบท (บวชพระ) แก่สามเณรภัททะแล้ว เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา (พระพุทธเจ้าทรงบวชให้เอง โดยการอุปสมบทด้วยพระวาจา เพียงคำว่า จงเป็นภิกษุเถิด) พระภัททะเถระ จึงได้ประกาศอรหัตผลบ้างว่า "เราเกิดมาได้ เพียงแค่ ๗ ปีเท่านั้น ก็ได้อุปสมบทแล้ว สามารถทำจิตของเรา ให้หลุดพ้น จากกิเลสทั้งปวง ได้บรรลุวิชชา ๓ (คือ ๑.ปุพเพนิวาสานุสติญาณ=รู้ระลึกชาติได้ ๒.จุตูปปาตญาณ=รู้การเกิดและดับกิเลสของสัตวโลกได้ ๓.อาสวักขยญาณ=รู้ความหมดสิ้นไป ของกิเลสได้) น่าอัศจรรย์จริง ความที่ธรรมะเป็นธรรมดียิ่ง"

อยู่มาวันหนึ่ง พระภัททเถระกับพระอานนท์เถระ พักอยู่ที่กุกกุฏาราม ใกล้นครปาฏลิบุตร คราวนั้นพระภัททเถระ ออกจากที่เร้น ในเวลาเย็น เข้าไปหา พระอานนท์เถระ แล้วได้ถามปัญหา กับพระอานนท์เถระว่า

"ท่านอานนท์ ที่เรียกว่า อพรหมจรรย์นั้น เป็นไฉนหนอ?"

"อพรหมจรรย์ ก็คือ มิจฉามรรค (ทางที่ผิด) อันประกอบด้วยองค์ ๘ ได้แก่ ๑.มิจฉาทิฏฐิ (มีความคิดเห็นที่ผิด) ๒.มิจฉาสังกัปปะ (มีความไตร่ตรองที่ผิด) ๓.มิจฉาวาจา (มีการเจรจาที่ผิด) ๔.มิจฉากัมมันตะ (มีการงานที่ผิด) ๕.มิจฉาอาชีวะ (มีการเลี้ยงชีพที่ผิด) ๖.มิจฉาวายามะ (มีความพยายามที่ผิด) ๗.มิจฉาสติ (มีการระลึกที่ผิด) ๘.มิจฉาสมาธิ (มีความตั้งจิตมั่นที่ผิด)"

"ก็แล้ว พรหมจรรย์เป็นไฉนหนอ?"

"พรหมจรรย์ ก็คือ อริยมรรค (ทางที่ประเสริฐ) อันประกอบด้วยองค์ ๘ ได้แก่ ๑.สัมมาทิฏฐิ (มีความคิดเห็นที่ถูกตรง) ๒.สัมมาสังกัปปะ (มีความไตร่ตรองที่ถูกตรง ๓.สัมมาวาจา (มีการเจรจาที่ถูกตรง) ๔.สัมมากัมมันตะ (มีการงานที่ถูกตรง) ๕.สัมมาอาชีวะ (มีการเลี้ยงชีพที่ถูกตรง) ๖.สัมมาวายามะ (มีความพยายามที่ถูกตรง) ๗.สัมมาสติ (มีการระลึกที่ถูกตรง) ๘.สัมมาสมาธิ (มีความตั้งจิตมั่นที่ถูกตรง)"

"ที่สุดของพรหมจรรย์เล่าเป็นไฉน?"

"ความสิ้นราคะ(ความกำหนัด) โทสะ (ความโกรธ) โมหะ (ความหลงผิด) นี้เป็นที่สุดของ พรหมจรรย์"

"บุคคลพรหมจารีเป็นไฉน?"

"พรหมจารี ก็คือบุคคลผู้ประกอบด้วยอริยมรรค มีองค์ ๘ นั่นเอง"

"แล้วศีลที่เป็นกุศล ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้วนั้น มีพระประสงค์เพื่ออะไร?"

"ศีลที่เป็นกุศล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเพื่อประสงค์ให้เจริญสติปัฏฐาน ๔ คือ ๑.ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา (ความโลภ ) และโทมนัส (ความทุกข์เสียใจ) ในโลกไปเสีย ๒.ย่อมพิจารณเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มี ความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดความโลภ และความทุกข์เสียใจ ในโลกไปเสีย ๓.ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดความโลภ และความทุกข์เสียใจ ในโลกไปเสีย ๔.ย่อมพิจาณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดความโลภ และความทุกข์เสียใจ ในโลกไปเสีย"

"อะไรหนอ? เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรม (ธรรมที่ดีแท้ของคนดีที่มีสัมมาทิฏฐิ) เสื่อม"

"ก็เพราะไม่ได้กระทำให้มากในสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมจึงเสื่อม"

"แล้วอะไร? เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมไม่เสื่อม"

"เพราะได้กระทำให้มากในสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมจึงไม่เสื่อม"

"ถ้าพระผู้มีพระภาคเข้าเสด็จปรินิพพานแล้ว อะไรจะเป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่ทำให้ พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นาน หรือไม่ได้นานเล่า"

"ดีล่ะท่านภัททะ ท่านช่างคิด ช่างเฉียบแหลม ช่างไต่ถามได้เหมาะ เมื่อพระศาสนา เสด็จปรินิพพานแล้ว หากผู้ที่อยู่ในศาสนานี้ ได้กระทำให้มากในสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมจึงตั้งอยู่ได้นาน แต่ถ้าไม่กระทำให้มากในสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมก็จะตั้งอยู่ ไม่ได้นาน" พระภัททเถระ ยินดีพอใจยิ่ง ในคำเฉลย ได้แสดงความเคารพนอบน้อม แก่พระอานนท์เถระแล้ว


(พระไตรปิฎกเล่ม ๑๙ ข้อ ๕๖-๕๘,ข้อ ๗๖๗-๗๗๕

พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๓๖๓ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๒ หน้า ๒๕๔)


วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

พุทธศาสตร์การเมือง..ตอน..ปกครองด้วยธรรม

จิตอาสาเพื่อสังคมอุดมสุข


ผู้นำ ปกครอง ด้วยธรรม
ชูธรรม ใช้ธรรม เป็นใหญ่
จักรแก้ว เกิดแล้ว กำชัย
ราษฎร์ได้ สุขใจ จำเริญ

มีอยู่สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าองค์สมณโคดม ประทับอยู่ที่ เมืองมาตุลา ในแคว้นมคธ ได้ตรัสเล่าถึงเรื่อง การปกครองด้วยธรรมของพระเจ้าจักรพรรดิเอาไว้
เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้าจักรพรรดิ พระนามว่า ทัฬหเนมิ เป็นพระราชาผู้ทรงธรรม ครองราชย์โดยธรรม ปกครองแผ่นดิน กว้างใหญ่จรดมหาสมุทรทั้ง ๔ รบที่ใดชนะที่นั้น ทรงชนะโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาวุธ ก็ครอบครองแผ่นดินได้ จึงมีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ ด้วยแก้ว (สิ่งมีค่ามาก) ๗ ประการคือ ๑. จักรแก้ว (อำนาจธรรมของพระเจ้าจักรพรรดิ) ๒. ช้างแก้ว ๓. ม้าแก้ว ๔. มณีแก้ว ๕. นางแก้ว ๖. คหบดีแก้ว ๗. ปริณายกแก้ว
พระองค์ได้รับสั่งไว้กับราชบุรุษว่า
"วันใดท่านเห็นจักรแก้วอันเป็นทิพย์ ถอยเคลื่อนจากที่ตั้งเมื่อใดให้รีบบอกเราทันที"
แล้ววันคืนก็ผ่านไป...ยาวนาน กระทั่งวันหนึ่ง ราชบุรุษนั้นเข้าเฝ้าพระเจ้าทัฬหเนมิ กราบทูลว่า ขอเดชะพระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์ทรงทราบเถิด บัดนี้จักรแก้วของพระองค์ถอยเคลื่อนจากที่ตั้งแล้ว
ทรงทราบข่าวนี้ จึงตรัสเรียกพระราชโอรสองค์ใหญ่มารับสั่งว่า
"ลูกเอ๋ย จักรแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิพระองค์ใด หากเคลื่อนออกจากที่ตั้งแล้ว พระเจ้าจักรพรรดิพระองค์นั้น จะทรงพระชนม์อยู่ได้ไม่นาน บัดนี้เป็นเวลาที่พ่อจะออกบวชแล้ว ลูกจง ปกครองแผ่นดินนี้เถิด"
แล้วทรงสั่งสอนในเรื่องการครองราชย์จนเรียบร้อย จากนั้นได้เสด็จออกบวชเป็นฤาษี
ครั้นพระราชฤาษีผนวชได้ ๗ วันเท่านั้น พระราชาพระองค์ใหม่ได้เสด็จไปหาถึงที่ประทับ ทรงแสดงความเสียพระทัย ให้ปรากฏ กราบทูลว่า
ขอเดชะพระพุทธเจ้าข้า บัดนี้จักรแก้วอันเป็นทิพย์นั้นได้อันตรธานไปเสียแล้ว
พระราชฤาษีทรงสดับเช่นนั้น จึงทรงปลอบพระทัย
"อย่าเสียใจไปเลย เพราะจักรแก้วอันเป็นทิพย์ไม่ใช่สมบัติ ที่สืบต่อกันมา แต่เป็นสมบัติที่ต้อง กระทำเอง ขอให้พระองค์ประพฤติ จักกวัตติวัตร (ข้อปฏิบัติของพระเจ้าจักรพรรดิ) โดยรักษาอุโบสถ (ศีล ๘) ทุกวันอุโบสถ (วันพระ) ๑๕ ค่ำ แล้วจักรแก้วอันเป็นทิพย์จะมาปรากฏแด่พระองค์"
"ก็แล้วจักกวัตติวัตรอันประเสริฐนั้นเป็นไฉน พระเจ้าข้า"
"จงอาศัยธรรมเท่านั้น สักการะธรรม เคารพธรรม นับถือธรรม บูชาธรรม ยำเกรงธรรม มีธรรมเป็นธงชัย มีธรรมเป็นยอด มีธรรมเป็นใหญ่"
จงจัดการรักษา ป้องกันและคุ้มครองชนภายใน ไพร่พล กษัตริย์อนุยนต์ สมณะและพราหมณ์ คฤหบดี ชาวนิคม และชนบท สัตว์ทั้งหลาย อย่าให้อธรรมมีได้ในแว่นแคว้น
ถ้าบุคคลเหล่าใดในแว่นแคว้นไม่มีทรัพย์ พึงให้ทรัพย์แก่บุคคลเหล่านั้น
ถ้าสมณพราหมณ์เหล่าใดในแว่นแคว้น เว้นขาดจากความมัวเมาและความประมาท ตั้งมั่นอยู่ในขันติ (ความอดทน) และโสรัจจะ (ความเสงี่ยมเจียมตัวสำรวมกิริยาวาจา) ฝึกตน สงบตน ให้ตนดับกิเลส พึงเข้าไปหา สมณพราหมณ์ เหล่านั้น แล้วไต่ถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไร
ไม่ ควรเสพ กระทำอะไรอยู่ไม่เป็นประโยชน์ แต่เป็นทุกข์ตลอดกาล กระทำอะไรอยู่เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข ตลอดกาล เมื่อได้ฟังคำของสมณพราหมณ์เหล่านั้นแล้ว สิ่งใดเป็นอกุศล พึงละเว้นสิ่งนั้นเสีย สิ่งใดเป็นกุศล พึงยึดถือสิ่งนั้นเอาไปประพฤติ
นี้แลคือ จักกวัตติวัตรอันประเสริฐ
ทรงสดับอย่างนั้น พระราชาทรงนำเอา จักกวัตติวัตรไปประพฤติทุกประการ ในไม่ช้า จักรแก้วอันเป็นทิพย์ ก็ได้ปรากฏขึ้นแด่พระองค์ จึงทรงประคองจักรแก้วด้วยพระหัตถ์ขวา แล้วตรัสว่า
"จักรแก้วอันประเสริฐ จงหมุนแล่นไปเถิด จงชนะโลกทั้งปวงเถิด"
จักรแก้วนั้นก็หมุนไปทิศต่างๆ ไม่ว่าหมุนไปในทิศใด พระราชาพร้อมด้วยจาตุรงคินีเสนา (๑.พลช้าง ๒. พลม้า ๓. พลรถ ๔. พลเดินเท้า) ก็ติดตามไปยังทิศนั้นๆ
ส่วนกษัตริย์ทั้งหลายในทิศนั้นๆ ต่างก็ยอมแพ้ต่อพระราชาผู้ครองจักรแก้ว ยอมยกราช-อาณาจักรให้แต่โดยดี เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิได้ครองแผ่นดินอันกว้างใหญ่แล้ว ก็ทรงกล่าวกับกษัตริย์เหล่านั้นว่า
"พวกท่านไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงถือเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ไม่พึงประพฤติผิดในกาม ไม่พึงกล่าวเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา แล้วจงครองราช-สมบัติไปตามเดิมเถิด"
คราวนั้นเอง จักรแก้ว ได้ปราบปรามกษัตริย์ทั้งปวงอย่างราบคาบ พระเจ้าจักรพรรดินั้นได้ชนะอย่างวิเศษ ชนะด้วยธรรม โดยไม่ต้องใช้อาวุธเลย มีแผ่นดินกว้างใหญ่จรดมหามหาสมุทรทั้ง ๔ แล้ว พระองค์ ทรงมีจักรแก้ว ปรากฏอยู่ เหมือนเครื่องประดับ อันทรงคุณค่ายิ่ง ทำให้สว่างไสวไปทั่วพระราชวัง
กาลเวลาผ่านไปยาวนานหลายพันปี...กระทั่งถึงสมัยของพระเจ้าจักรพรรดิองค์ ที่ ๗ จักรแก้วอันเป็นทิพย์ ได้ถอยเคลื่อนจากที่ตั้ง พระเจ้าจักรพรรดิก็ทรงออกผนวชเป็นฤาษี มอบราชสมบัติให้พระราชโอรสองค์ใหญ่
พอผนวชได้ ๗ วัน จักรแก้วก็อันตรธานไป พระราชาองค์ใหม่ทรงเสียพระทัย แต่ไม่ได้เสด็จไปเฝ้าพระราชฤาษี ทรงปกครองบ้านเมือง ไปตามความคิดเห็นของพระองค์เอง ประชาชนไม่มีความสุขความเจริญ เหมือนพระราชา พระองค์ก่อน ซึ่งทรงประพฤติในจักกวัตติวัตร อันประเสริฐ
บรรดาผู้คนทั้งหมดจึงพากันประชุม กราบทูลพระราชาว่า
"พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้พระองค์ทรงปกครองประชาชนตามความคิดเห็นของพระองค์เอง บ้านเมืองไม่เจริญ เช่นกษัตริย์พระองค์ก่อนๆ ซึ่งทรงประพฤติในจักกวัตติวัตร พวกข้าพระองค์อันได้แก่ อำมาตย์ ข้าราชบริพาร โหราจารย์ แม่ทัพ นายกอง คนรักษาประตูเมือง คนเลี้ยงชีพ อยู่พร้อมในที่นี้แล้ว จำจักกวัตติวัตร อันประเสริฐนั้นได้อยู่ ขอพระองค์โปรดตรัสเถิด พวกข้าพระพุทธเจ้า จะทูลถวายแด่พระองค์"
พระราชาก็ทรงสอบถาม พวกเขาจึงกราบทูลให้ทรงทราบทั้งหมด พระราชาก็ทรงนำไปใช้ โดยรับสั่ง ให้จัดการรักษา ป้องกันและคุ้มครองประชาชนโดยธรรม แต่ไม่ได้พระราชทานทรัพย์ แก่คนยากจน ความขัดสน จึงกระจายแพร่หลาย เกิดการลักขโมยกัน มีชายคนหนึ่ง ถูกจับได้ว่าขโมย โดนนำตัว ไปถวายพระราชา พระองค์ทรงถามว่า
"เจ้าขโมยของผู้อื่นจริงหรือไม่"
"จริง พระเจ้าข้า"
"เพราะเหตุไรเล่า"
"เพราะข้าพระองค์ไม่มีอะไรจะเลี้ยงชีพ"
พระราชาทรงสงสาร พระราชทานทรัพย์แก่เขา แล้วรับสั่งว่า
"เจ้าจงนำทรัพย์นี้ไปเลี้ยงชีวิตตน เลี้ยงดูบิดามารดา บุตร ภรรยา จงประกอบการงานสุจริต จงรู้จักทำบุญ ในสมณพราหมณ์ อันมีผลเกื้อกูลแก่สวรรค์ มีสุขเป็นผลเถิด"
แม้ขโมยคนอื่นๆ โดนจับมา พระราชาก็ ทรงพระราชทานทรัพย์ให้ แล้วทรงสอนเขาให้ประพฤติสุจริต เหตุการณ์ดังนี้ ทำให้คนทั้งหลาย เกิดความคิดว่า
"คนขโมยได้พระราชทานทรัพย์ ถ้าอย่างนั้นแม้เราก็ควรเป็นขโมยบ้าง"
ขโมยจึงยิ่งเพิ่มมากขึ้นเมื่อเป็นอย่างนี้ พระราชาจึงทรงดำริใหม่ว่า
"ถ้าเราให้ทรัพย์แก่คนขโมย การทำผิดศีลลักขโมยก็ทวีมากขึ้น อย่ากระนั้นเลย เราจะให้คุมตัวขโมย อย่างแข็งขัน แล้วนำไป ประหารชีวิตเสีย"
จึงรับสั่งให้ราชบุรุษกระทำตามนั้น พวกหัวขโมยทั้งหลายเจอเหตุการณ์เช่นนี้ ก็พากันคิดว่า
"เพียงแค่ลักขโมยของผู้อื่น ก็ถูกประหาร ชีวิตเสียแล้ว ถ้าอย่างนั้นพวกเราควรมีอาวุธไว้ใช้"
คราวนี้พอขโมยของจากเจ้าทรัพย์แล้ว ก็เลยฆ่าเจ้าทรัพย์ด้วย กลายเป็นโจรปล้นชาวบ้าน ปล้นตามถนนหนทาง ลุกลามไปถึง ปล้นชุมชน ปล้นนิคม กระทั่งปล้นพระนคร เข่นฆ่าประชาชนทั้งหลาย
เหตุการณ์เลวร้ายจึงเกิดขึ้นเป็นลำดับ คือ
-พระราชาไม่พระราชทานทรัพย์แก่คนยากไร้ ความขัดสน จึงแพร่หลาย
-การปล้นฆ่า (ปาณาติบาต) จึงแพร่หลาย
-การโกหก (มุสาวาท) กันจึงแพร่หลาย
-การพูดส่อเสียด (ปิสุณาวาจา) จึงแพร่หลาย
-การคบชู้ ประพฤติผิดในกาม (กาเมสุมิจฉาจาร) จึงแพร่หลาย
-การด่าทอพูดคำหยาบ (ผสุสวาจา) จึงแพร่หลาย
-การพูดเพ้อเจ้อ (สัมผัปปลาปะ) จึงแพร่หลาย
-ความเพ่งเล็งอยากได้ (อภิชฌา) จึงแพร่หลาย
-ความพยาบาทปองร้าย (พยาปาท) จึงแพร่หลาย
-ความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) จึงแพร่หลาย
-ความกำหนัดที่วิปริตผิดธรรม (อธัมมราคะ) จึงแพร่หลาย
-ความละโมบโลภจัด (วิสมโลภะ) จึงแพร่หลาย
-ความประพฤติธรรมที่ผิด (มิจฉาธรรม) จึงแพร่หลาย
-การปฏิบัติผิดต่อบิดามารดา การปฏิบัติผิด ต่อสมณพราหมณ์ และการไม่อ่อนน้อม ต่อผู้ใหญ่ในตระกูล จึงแพร่หลาย

เมื่อสิ่งเหล่านี้แพร่หลายในยุคใด ประชาชนในยุคนั้นจะมีอายุสั้น มีผิวพรรณทราม ชายหญิงจะสมสู่ ปะปนกันหมด เป็นเสมือนแพะ ไก่ หมู หมา ฯลฯ แล้วจะมีความโกรธกันรุนแรง อาฆาตมาดร้ายจัด มองเห็น คนเป็นสัตว์ ใช้อาวุธห้ำหั่นฆ่ากันเอง เป็นมิคสัญญี (ยุคที่มีแต่รบราฆ่าฟันกัน) แต่...ยังมีมนุษย์บางกลุ่ม เกิดความคิดว่า
"พวกเราอย่าฆ่าใครๆ เลย ใครๆ ก็อย่าฆ่าเรา"
พวกเขาเหล่านี้พากันไปหลบอยู่ตามป่าเขาหรือเกาะ อาศัยผลไม้ และรากไม้ในป่าเป็นอาหารเลี้ยงชีพ กระทั่งพ้น ๗ วันไปแล้ว จึงพากันออกมาจากที่ซ่อน พอได้พบเห็นกันเข้า ก็ดีใจ ต่างสวมกอดกันและกัน ละล่ำละลัก กล่าวว่า
ท่านผู้เจริญ เราได้พบเห็นกันแล้ว ท่านยังมีชีวิตอยู่
แล้วพากันปรึกษาร่วมกัน สรุปได้ว่า
"พวกเราต้องสูญเสียสิ้นญาติมากมาย ก็เพราะไปยึดถืออกุศลธรรม (กิเลสชั่ว) เป็นเหตุ อย่ากระนั้นเลย พวกเราควร ประพฤติกุศล (การชำระกิเลส) ควรถือศีล (ข้อปฏิบัติเว้นจากความชั่ว) ยึดถือในกุศลธรรม ทั้งหลายเถิด"
ทั้งหมดจึงพากันประพฤติธรรมตามนั้น ทำให้อายุยืนมากขึ้น ผิวพรรณผ่องใส ยิ่งกาลเวลาผ่านไปยาวนาน ประชาชน ผู้ประพฤติในกุศลธรรมในยุคต่อๆ มา ก็ยิ่งความสุขความเจริญมากขึ้น
จนกระทั่งถึง ยุคสมัยของพระเจ้าสังขะ ผู้ ทรงธรรม มีกรุงเกตุมดีเป็นเมืองหลวง ที่มั่งคั่งสมบูรณ์ พลเมืองมากมาย พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ พระองค์ทรงปกครองโดยธรรม ทรงชนะโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาวุธ ก็ได้ครอบครอง ราชอาณาจักกว้างใหญ่ มีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็น ขอบเขต เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ สมบูรณ์ พรั่งพร้อมด้วยแก้ว ๗ ประการ
ในยุคกาลนั้นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า เมตไตรย จะเสด็จอุบัติขึ้นในโลก แล้วพระเจ้าสังขะ ก็จะทรงบำเพ็ญทานแก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพกและยาจกทั้งหลาย จะเสด็จออกบวช เป็นบรรพชิต ในสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผนวชแล้วไม่นาน มีความเพียรในธรรม ไม่ประมาท ก็ทำที่สุดแห่งพรหมจรรย์ (นิพพาน) ได้
................
สุดท้าย เมื่อตรัสจบการปกครองด้วยธรรม ของพระเจ้าจักรพรรดิแล้ว พระพุทธเจ้าองค์ สมณโคดมทรงสรุปว่า
"จงมีธรรมเป็นเกาะ
มีธรรมเป็นที่พึ่ง
อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่"


พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๑ "จักกวัตติสูตร"ข้อ ๓๓ -๔๙










วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552

กว่าจะถึงอรหันต์..พระนันทาเถรี


ึจิตอาสาเพื่อสังคมอุดมสุข


ในอดีตชาติของพระนันทาเถรี (ในอรรถกถาใช้เป็นชื่อ สุนทรีนันทา) เคยสั่งสมบุญเอาไว้ ในสมัยของ พระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ผู้ทรงรู้แจ้งจบในธรรมทั้งปวง ทรงฉลาด ในวิธีแสดงธรรม ตรัสสอนให้สรรพสัตว์ เกิดดวงตาเห็นธรรม ทรงช่วยหมู่ชน ให้ข้ามพ้น วัฏฏสงสาร (การเวียน ว่ายตายเกิดอยู่กับกิเลส) ทรงทำให้เดียรถีย์ (นักบวชนอก พุทธศาสนา) กลับใจมาถือมั่นในศีล ๕ ศาสนาของพระองค์ ว่างเปล่าจาก พวกเดียรถีย์ งดงามไปด้วย พระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้เที่ยงแท้คงที่

ครั้งนั้น นางเกิดในตระกูลเศรษฐีที่มั่งคั่งร่ำรวย ในเมืองหงสวดี เป็นผู้เพียบพร้อม ด้วยความสุขสบาย ตั้งแต่เล็ก จนกระทั่งเติบโต เป็นสาวรุ่น ไม่ต้องพบพาน ความทุกข์ยาก ลำบากใดๆเลย

วันหนึ่ง นางมีโอกาสเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ได้ฟังพระธรรมเทศนา อันประกาศถึง ปรมัตถธรรม (สิ่งเป็นจริงที่มีประโยชน์สูงสุด คือนิพพาน) อย่างจับจิต จับใจยิ่งนัก บังเกิดความเลื่อมใสมาก จึงได้นิมนต์พระพุทธเจ้า พร้อมด้วยหมู่สงฆ์ ถวายมหาทาน ด้วยมือของตนเอง แล้วก้มลงกราบ ซบศีรษะลง จรดพื้น เอ่ยปากแสดงการอธิษฐาน (ตั้งจิต) อันแรงกล้า ต่อพระพุทธองค์ ว่ามุ่งมั่นปรารถนา ความเป็นผู้เลิศยอดกว่าใครๆ ในการมีฌาน (สภาวะสงบอันประณีตยิ่ง)

คราวนั้นเอง พระพุทธเจ้าองค์ปทุมุตตระ ทรงได้พยากรณ์ ด้วยญาณหยั่งรู้ในอนาคตว่า "ในอนาคต นับจากกัป (โลกวอดวายหนึ่งครั้ง) นี้ถึงกัปที่หนึ่งแสน พระพุทธเจ้าพระนามว่า โคดม จะอุบัติขึ้นในโลก เธอจะมีชื่อว่านันทา จะได้เป็นธรรมทายาท ของพระศาสดา พระองค์นั้น แล้วเธอจะได้ สมดังความปรารถนา ที่ตั้งจิตไว้ดีแล้วนั้น"

นางได้ฟังคำตรัสแล้ว มีใจยินดียิ่ง มีจิตเต็มเปี่ยมด้วยเมตตา บำรุงดูแล พระพุทธเจ้า และหมู่สงฆ์ทั้งหมด ด้วยปัจจัย (สิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตอยู่) ทั้งหลายจนตลอดชีวิต

ด้วยผลบุญแห่ง กุศลกรรมที่ทำดีไว้นั้น ทำให้ได้เกิดในสวรรค์ (สภาวะสุข ของผู้มี จิตใจสูง) ชั้นต่างๆ เมื่อได้กายใหม่เป็นมนุษย์ ก็เป็นอัครมเหสี ของพระเจ้า จอมจักรพรรดิ หรือพระเจ้าเอกราช มีความสุข ในที่ทุกสถานทั้ง เป็นเทวดาและมนุษย์ ไม่ว่าจะไปเกิด ในชาติใดๆ

เมื่อถึงชาติสุดท้าย ในสมัยของพระพุทธเจ้าองค์สมณโคดม นางได้เกิดเป็น พระธิดาของ พระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ กับพระนางมหาปชาบดีโคตมี ซึ่งเป็น พระน้านาง ของเจ้าชาย สิทธัตถะ และมีเจ้าชายนันทะ เป็นพระภาดา (พี่ชาย) นางได้ชื่อว่า นันทา ก็เพราะรูปโฉมงดงามยิ่งนัก มหาชนพากันชื่นชม สรรเสริญ ว่ามีความงาม ดังดวงอาทิตย์ ที่เจิดจ้า ในพระนครกบิลพัสดุ์นั้น นอกจาก พระนางยโสธรา ซึ่งเป็นพระสุณิสา (พี่สะใภ้) แล้ว นางเป็นสาวสวย ที่งามที่สุด ยิ่งกว่าสาวรุ่น คนใดทั้งปวง

ครั้นต่อมา เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงออกบวช ได้สำเร็จเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว บรรดา พระประยูรญาติ ใกล้ชิด พากันออกบวชหมด แม้แต่พระมหาปชาบดี ผู้เป็นพระมารดา พระยโสธรา ผู้เป็นพระสุณิสา เจ้าชายนันทะ ผู้เป็นพระภาดา (พี่ชาย) พระราหุล ผู้เป็นพระนัดดา (หลานชาย) เหลืออยู่แต่นางยังเป็นคฤหัสถ์อยู่ผู้เดียว

นางนึกถึงคำเตือนของพระมารดาที่ว่า "ลูกรัก เจ้าเกิดอยู่ในศากยสกุล เป็นน้องสาว ของพระพุทธองค์ กับพระนันทะ ก็เมื่อบัดนี้ในวัง ไม่มีนันทกุมารเสียแล้ว เจ้ายังจะอยู่ เพื่อประโยชน์อะไรเล่า รูปกาย แม้จะสวยสดงดงาม ก็มีความแก่เป็นจุดจบ กายนี้ บัณฑิตรู้กันดีว่า เป็นของไม่สะอาด เมื่อยังเจริญ แข็งแรง ก็มิได้มีโรค แต่บั้นปลาย ก็จะมีโรค เพราะชีวิตมีความตาย เป็นที่สุด แม้ร่างนี้ของลูก จะงาม จูงใจให้หลงใหล ยิ่งตกแต่งด้วย เครื่องประดับมากอย่าง ก็ยิ่งมีความงาม เปล่งปลั่ง เป็นที่นิยมยินดี ของสายตาทั้งหลาย เสมือนทรัพย์มีค่า ที่ชาวโลกพากันสรรเสริญบูชา แต่ไม่ช้านาน เท่าไรเลย ความชราก็เข้ามาย่ำยี ลูกรัก เจ้าจงละทิ้งพระราชวัง ละทิ้งรูปกาย ที่บัณฑิต ติเตียน แล้วมาประพฤติ พรหมจรรย์ เถิด"

ถึงจะหลงใหลในความงดงามอยู่ แต่นางก็ตัดสินใจ ทำตามคำตรัส ของพระมารดา จึงได้ออกบวช เป็นภิกษุณี ซึ่งออกบวชเพียงร่างกายเท่านั้น แต่จิตใจมิได้บวช ด้วยศรัทธา แท้จริง บวชเพราะ ปรารถนาอยู่ใกล้ชิด กับพระญาติสนิท มากกว่า

ครั้นบวชแล้ว เพราะความที่ยังติดสวย ติดงามนี่เอง นันทาภิกษุณี จึงถูกรบกวน ด้วยอารมณ์ ราคจริต (นิสัยรักสวยรักงาม) เสมอ ต้องระลึกถึงตัวเองอยู่ ด้วยการ เพ่งฌานให้มาก แต่ก็มิได้ ขวนขวาย ในการปฏิบัติธรรมนั้น แม้พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี จะกล่าวตักเตือนอยู่ก็ตาม อีกทั้งนันทาภิกษุณี ก็ไม่ยอมไปฟังธรรม จากพระพุทธองค์เลย ด้วยความเข้าใจว่า พระศาสดา ทรงตำหนิติเตียนรูป ทรงชี้แต่โทษของรูป ด้วยเหตุนี้เอง พระศาสดาจึงตรัสสั่ง พระมหาปชาบดีโคตมีเถรีว่า "ภิกษุณีทั้งหมด จงมารับโอวาท จากเรา ตามลำดับ ตามวาระของตน "

พอถึงวาระที่นันทาภิกษุณีต้องไปฟังธรรม ก็เลี่ยงส่งรูปอื่นไปแทนเสีย ทำให้พระศาสดา ต้องตรัสย้ำ กำชับอีกว่า "เมื่อถึงวาระฟังธรรมของรูปใด ภิกษุณีรูปนั้น พึงมาฟังธรรม ด้วยตนเอง ไม่พึงส่งรูปอื่นมาแทน" ทำให้นันทาภิกษุณี ไม่อาจละเมิดรับสั่ง ของพระศาสดาได้ ต้องปฏิบัติตามนั้น

วันหนึ่ง พระพุทธองค์ทอดพระเนตร เห็นใบหน้าของนันทาภิกษุณีแจ่มใส ดังดอกบัวบาน เมื่อมาฟังธรรม เป็นอุปนิสัยอันควร แก่การบรรลุธรรม จึงตรัสเนรมิตนางงามเลิศ คนหนึ่ง ทั้งน่าชื่นชม ทั้งน่าชอบใจ ให้ปรากฏในจิต ของนันทาภิกษุณี เสมือนปรากฏอยู่ เบื้องหน้าสายตา ฉะนั้น ด้วยอานุภาพแห่ง อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ของพระองค์

พอได้เห็นนางงามที่สวยพริ้งยิ่งกว่าตน นันทาภิกษุณี ถึงกับคิดเพ้อไปว่า "ดีจริงหนอ เป็นลาภแก่ดวงตา ของเราแล้วหนอ ที่ได้พบเห็นนางงามถึงปานนี้ เชิญเถิด แม่คนงาม เธอมีชื่อสกุลใด หากมีความประสงค์สิ่งใด จงบอกแก่ฉันเถิด ฉันจะให้"

"เวลานี้ยังไม่ใช่เวลาที่จะถามปัญหา ท่านจงให้ฉันนอนหนุนตัก ให้ฉันได้พักหลับ สักครู่ก่อน" ว่าแล้ว นางงามนั้น ก็เอาศีรษะพาดลงที่ตัก ของนันทาภิกษุณี หลับตาพริ้มอย่างเป็นสุข

ทันใดนั้นเอง.....หน้าผากของนางงามนั้น พลันพองโตขึ้น แล้วปรากฏของแข็ง ก้อนใหญ่ตกลง กระแทกหน้าผากอย่างแรง หน้าผากของนางงาม แตกดังโพละ ทั้งเลือดทั้งหนอง ไหลพรั่งพรูออกมา ส่งกลิ่นเหม็นเน่า คละคลุ้ง มีการบวมเขียว ลุกลามไปทั่วทั้งตัว กายสั่นเทิ้ม หายใจถี่ ได้รับทุกข์ ทรมาน ดิ้นทุรนทุรายอยู่ ขณะนั้น นันทาภิกษุณี ถึงกับสะดุ้ง แล้วกลับรำพัน อย่างสลดสังเวชใจว่า "แม่คนงาม ประสบทุกข์ ฉันก็พลอยมีทุกข์ จมอยู่ในมหาทุกข์ไปด้วย แม่คนงามที่เป็นที่พึ่ง ของฉัน บัดนี้ หน้าที่งดงามนั้น หายไปไหน จมูกโด่งงามนั้น หายไปไหน ริมฝีปากที่สวย เหมือนลูก มะพลับสุก หายไปไหน ลำคอคล้ายปล้องทองคำ หายไปไหน ใบหูดังพวงดอกไม้ สิ้นสีสันไปแล้ว ปทุมถัน คล้ายดอกบัวตูมแตกแล้ว มีกลิ่นเหม็น คล้ายศพเน่า เอวกลม ตะโพกผาย ของแม่คนงาม เต็มไปด้วย สิ่งชั่วถ่อยหนอ

โอ....รูปไม่เที่ยง อวัยวะทั้งหมดสกปรกน่ารังเกียจ น่ากลัวเหมือนซากศพ ที่ถูกทิ้งไว้ ในป่าช้า แต่ร่างกายนี้กลับเป็นที่ยินดีของพวกพาลชน (คนโง่เขลา)

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้อารมณ์จิต ของนันทาภิกษุณี ว่าเข้ากระแส สู่ความสังเวชแล้ว เกิดความเบื่อหน่ายในรูป จึงตรัสสอนว่า "ดูก่อนนันทา จงดูร่างกายอันกระสับกระส่าย ไม่สะอาด เปื่อยเน่า ดังซากศพ จงอบรมจิตให้ ตั้งมั่นด้วยดี มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ด้วยอสุภารมณ์ (อารมณ์ที่พิจารณา เห็นความไม่สวยไม่งาม) ร่างกายเรานี้ฉันใด ร่างกายท่าน ก็ฉันนั้น ร่างกายท่านฉันใด ร่างกายเรา ก็ฉันนั้น ร่างกายเป็นของเหม็นเน่า มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป พวกคนพาล ยินดียิ่งนัก แต่พวกบัณฑิต ย่อมพิจารณา เห็นร่างกายนี้ เป็นของสกปรก ท่านจงพิจารณา โดยไม่เกียจคร้านเถิด ทั้งกลางวันกลางคืน ก็จะเบื่อหน่าย ในรูปกายนี้ จะแทงตลอด เห็นด้วยปัญญาของตนได้"

ด้วยการตั้งใจและกระทำจิตให้แยบคาย พิจารณากาย เห็นเป็นอนิจจัง (ไม่เที่ยง) ทุกขัง (เป็นทุกข์) อนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน) ทำให้นันทาภิกษุณี เกิดญาณ (ความรู้จริง) ขึ้นแล้ว พระศาสดาจึงตรัส แสดงธรรมยิ่งขึ้นว่า "รูปกายนี้ตามธรรมดาแล้ว สร้างขึ้นให้เป็นนคร แห่งกระดูก มีเนื้อและเลือด ฉาบทาไว้ เป็นที่ ตั้งแห่งความชรา ความตาย ความถือดี และความลบหลู่" เมื่อจบคาถาธรรมนี้ พระนันทาเถรี มีจิตสว่างไสว ตั้งมั่นอยู่ในธรรม ได้บรรลุธรรม เป็นพระอรหันต์แล้ว จึงอุทานออกมาว่า

"เมื่อเราเป็นผู้ไม่ประมาท ค้นคว้าอยู่โดยอุบายอันแยบคาย จึงเห็นกายนี้ ทั้งภายใน และภายนอก ตามความเป็นจริง เราจึงเบื่อหน่ายในกาย คลายความกำหนัด ในภายใน ไม่เกาะเกี่ยว ในสิ่งใดๆ เป็นผู้สงบระงับ ดับสนิทแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในที่ไหนๆ ก็มีฌาน (สภาวะสงบ อันประณีตยิ่ง) อยู่ ตลอดเวลา"

พระศาสดาทรงพอพระทัย ในคุณสมบัตินั้น จึงทรงตั้งให้พระนันทาเถรี อยู่ในตำแหน่ง เอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยมพิเศษกว่าผู้อื่น ในทางใดทางหนึ่ง) ด้านชำนาญในฌานไว้แล้ว

(พระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่ม ๒๖ ข้อ ๔๔๒ พระไตรปิฎกฉบับ หลวงเล่ม ๓๓ ข้อ ๑๖๕

(พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯเล่ม ๓๓ หน้า ๔๗๗ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๔ หน้า ๑๓๖)




วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2552

กว่าจะถึงอรหันต์....ตอน..พระเขมาเถรี

จิตอาสาเพื่อสังคมอุดมสุข


สาวงาม แปรเปลี่ยน เป็นเฒ่า
เข้าเฝ้า ศาสดา ได้ผล
เบื่อหน่าย คลายกาม กายตน
หลุดพ้น พานพบ นิพพาน


ในอดีตชาติ แต่โบราณกาลนานมา แล้ว พระเขมาเถรี เคยเกิดอยู่ใน ตระกูลเศรษฐี รุ่งเรืองด้วยทรัพย์สมบัติ และแก้วมณี มีค่ามากมาย อาศัยอยู่ในกรุงหังสวดี เพียบพร้อมไปด้วยความสุข
มีอยู่คราวหนึ่ง ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ฟังธรรมเทศนาแล้ว เกิดความเลื่อมใส อย่างยิ่ง จึงขอยึดเป็นที่พึ่ง ในพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น แล้วนิมนต์พระพุทธเจ้า กับพระสาวกทั้งหลาย เพื่อทำบุญ ถวายทาน และอาหาร อันประณีต ตลอด ๗ วัน เลยทีเดียว
วันหนึ่งนางได้พบเห็น พระปทุมุตตรพุทธเจ้า ทรงตั้งภิกษุณีองค์หนึ่ง ให้เป็นผู้เลิศ ทางปัญญา ยิ่งกว่าภิกษุณีทั้งปวง จึงบังเกิดจิตยินดี ปรารถนาได้เป็นเช่นนั้นบ้าง ได้ตั้งจิตอธิษฐาน ไว้ในใจ แล้วหมอบลง กราบพระพุทธเจ้า
ทันใดนั้นพระพุทธเจ้าตรัสขึ้นว่า "ความปรารถนาเธอจะสำเร็จ สักการะบูชา ที่เธอทำแล้วแก่เรา พร้อมด้วย ภิกษุสงฆ์ จะมีผลมาก เธอจะได้เป็นผู้เลิศยอดด้วยปัญญา เป็นภิกษุณีชื่อ เขมา ในสมัยของพระพุทธเจ้า
พระนามว่า สมณโคดม"

นับจากชาตินั้นมา เพราะอำนาจผลบุญต่างๆ ที่ได้กระทำไว้ ทำให้นางไปเกิด ในชาติใดๆ ก็ได้เป็น พระอัครมเหสี ของพระราชา มีทรัพย์มาก มีความสุขสบายมาก
กระทั่งได้เกิดในสมัยของพระพุทธเจ้า พระนามว่า วิปัสสี มีโอกาสบวชอยู่ ในพระพุทธศาสนา ประพฤติพรหมจรรย์ ด้วยความเพียร เป็นพหูสูต (มีความรู้มาก) ฉลาดในปัจจยาการ (อาการที่เป็นเหตุ เป็นผลแก่กัน) คล่องแคล่วในอริยสัจ ๔ มีปัญญาละเอียดถี่ถ้วน แสดงธรรมไพเราะ ปฏิบัติตามสัตถุศาสน์ (พระพุทธพจน์)
ด้วยผลแห่งพรหมจรรย์ (ประพฤติ อริยมรรคองค์ ๘) นั้นนางได้ไปเกิดในชาติใด ก็เป็นผู้มีสมบัติมาก มีปัญญา รูปงาม มีบริวารเชื่อฟัง ไม่ว่าจะไปในที่ใด ก็ไม่มีใครๆดูหมิ่นเลย
ครั้นมาเกิดในสมัยของพระพุทธเจ้า พระนามว่า โกนาคมนะ นางได้ทำบุญมหาศาล ในกรุงพาราณสี ด้วยการถวายสังฆาราม แก่พระมุนี (นักบวชที่เข้าถึงธรรม) หลายพันรูป สร้างพระวิหาร ถวายแก่ พระพุทธเจ้า และหมู่สงฆ์
ต่อมา เมื่อได้มาเกิดในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ นางได้เป็น พระธิดาคนโตสุด ของพระเจ้ากาสี พระนามว่า กิกี ในกรุงพาราณสี ที่อุดมสมบูรณ์ ชาตินี้นางได้นามว่า สมณี
วันหนึ่ง มีโอกาสฟังธรรมของพระพุทธเจ้า แล้วบังเกิดความยินดีพอใจนัก จึงขอบวช แต่พระราชบิดา ไม่ทรงอนุญาต นางจึงประพฤติพรหมจรรย์ ตั้งแต่เป็นกุมารี (เด็กหญิงวัยรุ่น) ดำรงชีวิตอยู่ อย่างเป็นสุข คอยบำรุงดูแล แก่พระพุทธเจ้า และภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย
พอมาถึงยุคสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า สมณโคดม นางได้ชื่อว่า เขมา เพราะพอเกิดมาแล้ว ในราชสกุล แห่งกรุงสากละ แคว้นมัททะ ทำให้พระเจ้ามัททราช และชาวพระนคร มีแต่ความเกษม สำราญ ถ้วนหน้ากัน
เมื่อเติบโตเจริญวัยเป็นสาว ก็มีรูปสะสวยและผิวพรรณงดงาม ได้ไปเป็นพระเทวีของ พระเจ้าพิมพิสาร แห่งกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ผู้ซึ่งถวายพระราชอุทยานเวฬุวัน เป็นสังฆาราม แก่พระศาสดา
ด้วยเหตุที่ พระนางเขมา มีรูปร่างงาม เป็นที่โปรดปราน ของพระราชสวามี พระนางจึงยินดีพอใจ ในการบำรุง รูปโฉมให้งาม และไม่พอใจ ที่จะฟังคนกล่าวถึง รูปที่น่ารังเกียจ หรือโทษภัยต่างๆ ของรูป พระนางจึงไม่เสด็จไปเฝ้า พระศาสดาเลย เพราะเกรงว่าพระศาสดา จะแสดงโทษ ของรูปให้ฟัง
พระเจ้าพิมพิสารทรงเล็งเห็นเช่นนั้น จึงมีพระประสงค์ จะช่วยเหลือพระนางเขมา รับสั่งให้ เหล่านักร้อง แต่งเพลงขึ้น พรรณาถึงความงดงาม ของพระเวฬุวันมหาวิหาร แล้วขับกล่อม ให้พระนางฟัง กระทั่ง พระนางเขมา เคลิบเคลิ้มว่า "พระมหาวิหารนี้ เป็นที่ประทับของพระศาสดา ช่างน่ารื่นรมย์ งดงามยิ่งนัก เป็นดุจดั่ง นันทวันอันเป็นสวนสวรรค์ ของพระอินทร์ ที่น่าเพลินชมมิรู้เบื่อ ผู้ใดหากได้เห็น พระมหาวิหาร ก็เสมือนได้เห็น นันทวัน เฉกเช่นเดียวกัน"
พระนางจึงทูลขอเสด็จไปชมพระมหาวิหารนั้น พระเจ้าพิมพิสาร ทรงดีพระทัยนัก รีบตรัสว่า
"เชิญชม พระมหาวิหารเวฬุวันเถิด เป็นที่สวยงาม สงบเย็นตาเย็นใจยิ่ง เปล่งปลั่งด้วยรัศมี ของพระผู้มี พระภาคเจ้า อันงามด้วยคุณ-ความดีทุกสมัย"

แต่พระนางรีบทูลทันทีว่า
"ในเวลาที่พระศาสดาเสด็จบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ เมื่อนั้นหม่อมฉันจะเข้าไปชม พระมหาวิหาร เพคะ"

แล้วเช้าวันหนึ่ง...เมื่อเหล่าภิกษุบิณฑบาต อยู่ในพระนคร พระนางเขมาจึงเสด็จชม พระมหาวิหาร มวลดอกไม้ กำลังแย้มบาน หมู่แมลงผึ้งบินว่อน ตอมดอกไม้ เสียงนกดุเหว่าร่ำร้อง ดังเสียงเพลง ประสานกับ นกยูงรำแพนหาง ราวกับฟ้อนรำ สงบสงัดจากความพลุกพล่านอื่น พบเห็นแล้ว รื่นรมย์ เย็นใจด้วยกุฎี (ที่อยู่ของพระ) และ มณฑปต่างๆ
ขณะเพลิดเพลินเที่ยวชมอยู่นั้น พระนางเขมาได้เห็นภิกษุหนึ่ง บำเพ็ญเพียรอยู่ ทรงดำริในใจว่า
"ภิกษุรูปนี้ อยู่ในวัยรุ่นหนุ่ม รูปงาม แต่กลับโกนศีรษะโล้น ครองสังฆาฏิ นั่งอยู่ที่โคนไม้ ละความยินดี ที่เกิดจาก อารมณ์ทั้งปวง แล้วเจริญฌาน (สภาวะสงบ อันประณีตยิ่ง) อยู่ มาปฏิบัติในป่า เช่นนี้ ช่างเหมือน กับคนอยู่ในความมืด เพราะธรรมดาแล้ว คฤหัสถ์ควรบริโภคกาม อย่างมีความสุข พอแก่แล้ว จึงค่อย
ปฏิบัติธรรม ให้เจริญงอกงาม ในภายหลัง"

คิดอย่างโลกีย์แล้ว ก็เสด็จไปชมพระคันธกุฎี อันเป็นที่ประทับของพระศาสดา ด้วยคาดว่า คงจะว่างเปล่า ไม่มีผู้ใดอยู่ ในช่วงเวลานั้น แต่กลับปรากฏว่า.... ได้พบเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับสำราญอยู่ พระศาสดา ก็ทรงเห็นพระนางเขมาเทวีเสด็จมา จึงทรงเนรมิต หญิงงามดังเทพอัปสร (นางฟ้า) ถวายงานพัด แด่พระองค์
ฝ่ายพระนาง จำต้องเข้าเฝ้า แล้วบังเกิดความคิดขึ้นว่า
" พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงองอาจกว่าใครทั้งปวง มิได้มีความเศร้าหมองใดๆเลย ก็แล้วยังมีสาวงาม ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ดังทองคำ รูปร่าง สวยงดงาม ดูแล้วเป็นที่น่ายินดีพอใจนัก ยิ่งมองยิ่งชม ยิ่งไม่เบื่อตาเลย โอ...หญิงสาวนางนี้ ช่างรูปงามเหลือเกิน เราไม่เคยเห็นใครงาม เช่นนี้มาก่อนเลย

แต่...ขณะนั้นเอง สาวงามนั้นพลันมีสภาพเปลี่ยนไป กลายเป็นหญิงชรา ผิวพรรณเหี่ยว ย่นทั้งตัว ผมก็หงอกฟันก็หัก น้ำลายไหลยืด ตาขาวฝ้าฟาง หูตึง นมหย่อนยาน หลังงอกายซูบผอม ตัวสั่นงันงก แม้มีไม้เท้า ก็พยุงไม่ไหว ล้มลงกองอยู่ที่พื้นดิน แล้วหอบหายใจถี่ ประหนึ่งจะขาดใจตาย"
ความสังเวชใจที่ไม่เคยปรากฏแก่ พระนางเลยนั้น บัดนี้บังเกิดขึ้นแล้ว ทำให้พระนาง ขนลุกชูชัน เห็นในโทษ ของรูปกาย ที่พวกคนพาล (โง่เขลา) หลงยินดีกันอยู่
พระศาสดาทรงทราบวาระจิตของพระนางแล้ว จึงได้ตรัสด้วยพระกรุณาว่า
"ดูก่อนพระนางเขมา เชิญดูร่างกายอันกระสับกระส่าย ไม่สะอาด โสโครก มีของเหลว ไหลเข้า-ถ่ายออก ที่บรรดาคนพาลยินดีนัก

จงอบรมจิตให้เป็นสมาธิ (จิตตั้งมั่น) มีอารมณ์เดียว โดยอาศัยอสุภารมณ์ (อารมณ์ที่เห็น เป็นสภาพ น่ารังเกียจ) เถิด
  • จงมีกายคตาสติ (สติในการพิจารณากาย เพื่อลดละกิเลส)
  • รูปกายหญิงนี้ เป็นฉันใด รูปกายของเธอ ก็เป็นฉันนั้น
  • รูปกายของเธอเป็นฉันใด รูปกายของหญิงนี้ก็เป็นฉันนั้น
  • จงคลายความพอใจกายนี้ ทั้งภายในและภายนอกเสียเถิด
  • จงอบรมอนิมิตตวิโมกข์ (ความหลุดพ้นที่เกิดจากปัญญา พิจารณาเห็นนามรูป โดยความ เป็นอนิจจัง)
  • จงละมานานุสัย (ความถือตัว ที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน)เสีย แล้วเธอจะเป็นผู้สงบได้
เพราะคนใด ถูกความกำหนัดด้วยราคะ เกาะติดอยู่ ย่อมเป็นเสมือนแมงมุม เกาะติดใยที่ทำไว้เอง แต่ถ้า หากคนใด ตัดราคะให้ขาดเสีย ไม่มีความอาลัย ละกามสุขไป ย่อมหลุดพ้นได้"
พระศาสดาตรัสจบตรงนี้แล้ว ทรงรู้ว่า พระนางเขมาเทวี มีจิตควรแล้ว จึงทรงแสดง มหานิทานสูตร ว่าด้วยเรื่องของ ความเวียนตายวนเกิด เพราะวิญญาณและนามรูป เป็นปัจจัย ของกันและกัน กระทั่งตรัสถึง ความหลุดพ้น ด้วยสมาธิ และปัญญา
พระนางเขมาได้ฟังสูตรอันประเสริฐนี้แล้ว ระลึกถึงสัญญา (ความทรงจำ) แต่เก่าก่อน ได้บังเกิด ดวงตาเห็นธรรม ทันที ดังนั้น จึงหมอบลงที่แทบพระบาท ของพระศาสดา แสดงโทษของตนว่า
"ข้าแต่พระองค์ ผู้ทรงเห็นแจ้งในธรรมทั้งปวง ผู้มีพระมหากรุณาเป็นที่ตั้ง ผู้เสด็จข้ามสงสารแล้ว ผู้ประทานอมตธรรม หม่อมฉันขอถวาย นมัสการแด่พระองค์
หม่อมฉันเกิดจิตแล่นไป สู่ทิฐิอันรกชัฏ หลงใหลไป เพราะกามราคะ แต่พระองค์ทรงช่วยแนะนำ ด้วยอุบาย อันประเสริฐ หม่อมฉันขอ แสดงโทษ ที่มัวเมายินดี อยู่ในรูปกาย แล้วระแวงว่า พระองค์ไม่ทรงเกื้อกูล คนทั้งหลาย ที่ติดอยู่ในรูป จึงมิได้มาเข้าเฝ้าพระองค์ ผู้ทรงเกื้อกูลมาก ผู้ทรงประทานธรรม อันประเสริฐ หม่อมฉัน ขอแสดงโทษนั้น"
"สาธุ! พระนางเขมา จงลุกขึ้นมาเถิด"
พระนางก็กระทำตามนั้น แล้วประณมมือนมัสการด้วยเศียรเกล้า กระทำประทักษิณ (แสดงความเคารพ ด้วยการเดินเวียนขวา ตามเข็มนาฬิกา) พระองค์แล้ว ก็เสด็จกลับไปเฝ้า พระเจ้าพิมพิสาร กราบทูลว่า
"ข้าแต่ พระองค์ ผู้ทรงชนะข้าศึก น่าชมอุบาย อันเป็นกุศลยอดเยี่ยมนั้น ที่พระองค์ทรงดำริแล้ว ให้หม่อมฉัน ปรารถนาไปชม พระมหาวิหารเวฬุวัน ได้เข้าเฝ้าพระศาสดา บัดนี้ถ้าพระองค์ จะทรงพระกรุณา โปรดให้หม่อมฉัน ผู้เบื่อหน่ายในรูป ตามที่พระพุทธองค์ ตรัสสอนแล้ว ขอบวชอยู่ในพุทธศาสนานี้ เพคะ"

"ดูก่อนพระน้องนาง พี่อนุญาต บรรพชาจงสำเร็จแก่เธอเถิด"
เมื่อภิกษุณีเขมาบวชแล้ว ๗ เดือน ขณะบำเพ็ญเพียรอยู่นั้น วันหนึ่งเพ่งมองดูโคมไฟ ที่เดี๋ยวก็จุดสว่างไสว เดี๋ยวก็ดับวูบไป จึงบังเกิดจิตสังเวช พิจารณาเบื่อหน่าย ในสังขารทั้งปวง เข้าใจในปัจจยาการนั้น ข้ามพ้นโอฆะ ๔ (กิเลสที่ท่วมทับใจ หมู่สัตว์โลก คือ ๑. กาม ๒. ภพ ๓. ทิฎฐิ ๔. อวิชชา) ได้แล้ว บรรลุธรรม
เข้าสู่สภาพ อรหัตตผล ในทันทีนั้น

พระเขมาเถรีเป็นผู้มีความชำนาญในอภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทา ๔ ฉลาดในวิสุทธิทั้งหลาย (ความบริสุทธิ์ หมดจด ในศีล - ในจิต - ในทิฏฐิ) คล่องแคล่วในกถาวัตถุ (ถ้อยคำที่ควรพูด) รู้จักนัย (ข้อสำคัญ) แห่งอภิธรรม (ธรรมที่ก่อประโยชน์สูงสุด ที่ว่าด้วยจิต - เจตสิก - รูป - นิพพาน)
แล้ววันหนึ่ง...ขณะที่พระเขมาเถรีนั่งพักอยู่ บริเวณโคนไม้แห่งหนึ่ง มารผู้มีบาป (กามสัญญา) เข้ามา ดลจิตว่า
"แม่นางเขมาเอย เจ้าก็ยังเป็นสาวสะคราญ มีรูปโฉมงดงาม แม้หนุ่มๆวัยรุ่นทั้งหลาย ก็หมายร่วมอภิรมย์ด้วย จงไปเถิด ไปร่วมรื่นรมย์ เคล้าเสียงดนตรี ทั้งหลายกันเถิด"


พระเขมาเถรีมิได้หวั่นไหวแต่อย่างใดเลย ตอบโต้ด้วยอาการสงบเย็นว่า
" มาร...เราอึดอัดระอาในกายอันเปื่อยเน่า กระสับกระส่าย มีความแตกดับไป เป็นธรรมดานี้ เราถอน กามตัณหา ได้หมดแล้ว กามทั้งหลาย อุปมาดั่งหอก และหลาว ทิ่มแทงขันธ์ทั้งหลาย เอาไว้นั้น บัดนี้ ความยินดี ในกามทั้งสิ้น ไม่มีแก่เราแล้ว เรากำจัด ความเพลิดเพลิน ในสิ่งทั้งปวงแล้ว ทำลายกอง แห่งความมืดแล้ว

ดูก่อนมารใจบาป เจ้าจงรู้ไว้อย่างนี้ เรากำจัดเจ้าแล้ว เรามิใช่พวกคนพาล ที่ไม่รู้ความเป็นจริง พากัน กราบไหว้ ดวงดาว บูชาไฟอยู่ แล้วสำคัญว่า เป็นความบริสุทธิ์ แต่เรากราบไหว้บูชา ทำตามคำสั่งสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วจึงพ้น จากทุกข์ทั้งปวง เผากิเลสทั้งหลายสิ้น กิจในพระพุทธศาสนา เราได้กระทำเสร็จแล้ว"
มารมิอาจทำได้ดังปรารถนา จึงหายวับไปในทันใด
ต่อมา...พระเขมาเถรีเที่ยวจาริกไปในแคว้นโกศล แวะพักอยู่ที่โตรนวัตถุ(ค่าย) แห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ระหว่าง กรุงสาวัตถี กับเมืองสาเกต
ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปหาพระเขมาเถรีถึงที่พัก เพราะได้ยินชื่อเสียง อันฟุ้งขจรไป ของพระเถรีรูปนี้ว่า
"พระเขมาเถรีเป็นบัณฑิต เฉียบแหลม มีปัญญามาก เป็นพหูสูต มีถ้อยคำไพเราะ มีปฏิภาณดี"

พระองค์ได้ตรัสถามปัญหาว่า
"ข้าแต่แม่เจ้า เมื่อสัตวโลกตายแล้ว เบื้องหน้าย่อมเกิดอีก หรือไม่เกิดอีก หรือเกิดอีกก็มี และไม่เกิดอีกก็มี หรือ เกิดอีกก็มิใช่ และ ไม่เกิดอีกก็มิใช่"

"ขอถวายพระพร ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงพยากรณ์"
"ข้าแต่แม่เจ้า ก็แล้วอะไรเล่า เป็นเหตุสำคัญให้พระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ทรงพยากรณ์ปัญหาเหล่านี้"
"ขอถวายพระพร อาตมภาพขอถาม มหาบพิตรบ้าง มหาบพิตร มีนักคำนวณ นักประเมิน หรือ นักประมาณ ก็ตาม จะสามารถ คำนวณทราย ในแม่น้ำคงคาไหมว่า ทรายมีประมาณเท่านี้ ร้อยเม็ด...พันเม็ด... หมื่นเม็ด... แสนเม็ด.."
"ไม่มีนักคำนวณเช่นนั้นได้เลย แม่เจ้า"
"แล้วมหาบพิตร จะมีนักคำนวณ ซึ่งสามารถคำนวณน้ำในมหาสมุทรว่า น้ำมีอยู่เท่านี้ อาฬหกะ (มาตราตวง ชนิดหนึ่ง) ร้อย... พัน... หมื่น... แสนอาฬหกะ....."
"ไม่มีเลย แม่เจ้า"
"นั่นเพราะเหตุไรเล่า มหาบพิตร"
"เพราะมหาสมุทรเป็นของลึก ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้ยาก"
"ฉันนั้นแล มหาบพิตร การกำหนด ความเกิดของสัตว์โลกนั้น เป็นของลึก ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้ยาก ดุจมหาสมุทรฉันนั้น"
"พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพอพระทัย ในคำตอบยิ่งนัก อนุโมทนาภาษิตนั้น แล้วเสด็จลุกจากอาสนะ ไหว้พระเถรี ทรงกระทำประทักษิณ แล้วเสด็จจากไป
ต่อมา...พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วตรัสถามปัญหาเหล่านั้นอีก พระศาสดา ก็ทรงตอบ เช่นเดียวกับ พระเขมาเถรี ทำให้พระเจ้าปเสนทิโกศล ถึงกับทรงอุทานว่า
"อัศจรรย์จริง ไม่เคยมี พระเจ้าข้า ที่เนื้อความกับเนื้อความ พยัญชนะกับพยัญชนะ ของพระศาสดา กับพระเขมาเถรี ในการตอบปัญหานี้ เทียบเคียงกันได้ สมกันได้ ไม่ผิดเพี้ยนกัน ในบทที่สำคัญเลย น่าอัศจรรย์นัก"
พระศาสดาก็ทรงพอพระทัยในปัญญาของพระเถรีนี้ จึงทรงแต่งตั้ง พระเขมาเถรี ไว้ในตำแหน่ง เอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยมพิเศษ ในทางใดทางหนึ่ง)
"พระเขมาเถรี เป็นผู้เลิศด้วยปัญญามาก เหนือกว่าพวกภิกษุณีสาวิกาของเราทั้งปวง เป็นดังตราชู มาตรฐาน ของภิกษุณีสาวิกา ของเราทีเดียว"
(พระไตรปิฎกเล่ม ๑๘ ข้อ ๗๕๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๑๕๐,๓๗๖ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๔๕๓ พระไตรปิฎกเล่ม ๓๓ ข้อ ๑๕๘ อรรถกถาแปล เล่ม ๕๔ หน้า ๒๑๔)

วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ชาดกทันยุค อดีตชาติของพระพุทธเจ้า .. บ้านเมืองอาริยะ(หัตถิปาลชาดก).ตอนจบ)





จิตอาสาเพื่อสังคมอุดมสุข





   เช้าวันรุ่งขึ้น พราหมณ์ปุโรหิต นั่งขบคิดอยู่ที่เรือนของตนใน ที่สุดก็ตัดสินใจ ปรึกษากับนางพราหมณีว่า "ดูก่อน แม่วาเสฏฐิ ต้นไม้จะถูกเรียกชื่อว่าต้นไม้ได้ ก็เพราะมีกิ่งและใบ ส่วนต้นไม้ที่ไม่มีกิ่งและใบนั้น ชาวโลกเรียกว่า ตอไม้ ก็บัดนี้ลูกทั้ง๔ ของเราออกบวชกันหมดแล้ว เราเป็นผู้ไม่มีบุตร เหลือกันอยู่ตามลำพังเป็นเสมือน "มนุษย์ตอไม้" ถึงเวลาแล้วที่แม้เราก็จะออกบวชเช่นกัน"
จากนั้นปุโรหิตจึงเรียกพราหมณ์หมื่นหกพันคน มาประชุมกันแล้วกล่าวว่า "เราจะละทิ้งโลกียสุขอันเร่าร้อน จะไปบวชในสำนักของลูกชายเรา แล้วพวกท่านจะทำอย่างไรกันเล่า"
พราหมณ์เหล่านั้นตอบว่า "ท่านอาจารย์ นรกนั้นเป็นของร้อนเฉพาะตัวท่านผู้เดียวก็หาไม่ แม้พวกเราก็จะบวชตามท่านด้วย"
เมื่อเป็นดังนั้น พราหมณ์ปุโรหิตจึงยกทรัพย์สมบัติทั้ง ๘๐ โกฏ ิ(๘๐๐ล้าน) ให้แก่นางพราหมณีทั้งหมด แล้วพาพราหมณ์ ทั้งหลายมีแถวยาวประมาณโยชน์หนึ่ง ไปสู่ฝั่งแม่น้ำคงคา หัตถิปาลกุมาร จึงแสดงธรรมให้แก่พราหมณ์ทั้งหลายฟัง
ต่อมาในวันรุ่งขึ้น...นางพราหมณีได้คิดว่า "ลูกของเราตัดตาข่ายคือกามไปแล้ว ละทิ้งราชสมบัติ ออกบวช สามีของเราก็ทิ้งสมบัติ ๘๐ โกฏิพร้อมตำแหน่งปุโรหิต เพื่อออกบวช เหลืออยู่แต่เราผู้เดียว จะทำอะไรได้ ไฉนเราไม่ปฏิบัติตามลูก และสามีของเราเล่า"
เมื่อนางพราหมณีรู้แจ้งชัดอย่างนี้ จึงตกลงใจว่าจะออกบวช ดังนั้นจึงเรียกนางพราหมณีทั้งหลายมา บอกว่า "เธอทั้งหลาย เราจะออกบวชในสำนักของลูกชายเรา แล้วพวกเธอจะทำอย่างไรกันเล่า"
นางพราหมณีเหล่านั้นตอบว่า "ข้าแต่แม่เจ้า ถ้าท่านออกบวช พวกข้าพเจ้าก็จะบวชด้วย" นางพราหมณี จึงสละทรัพย์สมบัติทั้งหมด แจกจ่ายออกไป แล้วพาบริวารราวโยชน์หนึ่ง ไปยังฝั่งแม่น้ำคงคา หัตถิปาล กุมาร จึงแสดงธรรมให้ฟัง
วันรุ่งขึ้น...พระราชาเอสุการีได้ตรัสถามถึงพราหมณ์ปุโรหิต ราชบุรุษจึงกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ ท่านปุโรหิตและภรรยา ได้ละทิ้งสมบัติทั้งหมด แล้วพาบริวารของตน ไปยังสำนักของหัตถิปาลกุมาร แล้วพะยะค่ะ"
พระราชาทราบเรื่องแล้ว ทรงดำริว่า "ทรัพย์สมบัติที่ไม่มีเจ้าของปกครอง สมควรตกเป็นสมบัติของเรา" จึงสั่งให้ราชบุรุษ ไปขนเอาทรัพย์สมบัติ ที่เหลือจากเรือนของปุโรหิต มาเก็บไว้
เมื่อพระอัครมเหสีของพระราชาสดับข่าวนี้เข้า ทรงดำริขึ้นว่า "พระราชสวามีของเรานี้ ช่างหลงใหล งมงายนัก ไยไปขนเอาทรัพย์สมบัติ ที่เป็นประดุจคบเพลิง เป็นประดุจก้อนน้ำลาย ที่เขาบ้วนทิ้งแล้ว เอามาบรรจุไว้ในพระคลังหลวง เราจะทำให้พระราชาได้สติ ละทิ้งสมบัติเหล่านั้นไปเสีย"
พระอัครมเหสีจึงรับสั่งให้คนไปขนเอาเนื้อวัวและเนื้อสุนัข มากองไว้ที่หน้าพระลานหลวง แล้วขึงตาข่ายล้อมไว้โดยรอบ เมื่อบรรดานกแร้งพอเห็นเนื้อแต่ไกล ก็โผลงมาเพื่อจะกินเนื้อ หากแร้งตัวใดมีปัญญา ก็ได้คิดว่าเขาขึงตาข่ายดักไว้ ถ้ากินเนื้ออิ่ม แล้ว ร่างกายหนัก จะไม่อาจบินออกไปได้ ดังนั้นจึงคายสำรอกเนื้อออกมา แล้วบินขึ้นได้ ไม่ติดตาข่ายนั้น ส่วนแร้งตัวใดโง่เขลา พากันกินเนื้อเพลิดเพลินจนร่างกายหนัก ไม่อาจบินออกจากตาข่ายได้ ต้องติดอยู่กับตาข่ายนั้น ราชบุรุษก็จะจับแร้งเหล่านั้นมาถวาย พระอัครมเหสี พระนางจึงนำแร้งเหล่านั้น ไปให้พระราชาทอดพระเนตร แล้วทูลว่า "ขอเดชะ ขอเชิญพระองค์เสด็จไปทอดพระเนตร กิริยาของฝูงแร้ง ที่หน้าพระลานหลวงด้วยเถิด"
ขณะที่พระราชาทรงทอดพระเนตรอยู่นั้น พระอัครมเหสีกราบทูลว่า "แร้งฝูงนี้ ตัวใดกินเนื้อแล้ว ยอมสำรอกออกเสีย ก็จะบินหลุดออกจากตาข่ายได้ แต่แร้งตัวใดกินเนื้อแล้ว ไม่ยอมสำรอกออกมา ก็จะบินติดอยู่ในตาข่าย ตกอยู่ในเงื้อมมือของหม่อมฉัน ข้าแต่พระองค์ พราหมณ์ได้คายกามทั้งหลาย ออกทิ้งแล้ว ส่วนพระองค์กลับรับเอากามนั้นบริโภคอีก ผู้ใดบริโภคสิ่งที่ผู้อื่นคลายออกแล้ว เสมือนได้กลืนก้อนน้ำลายของผู้อื่น ไม่พึงได้รับคำสรรเสริญ"
พระราชาทรงสดับคำของพระนางแล้ว บังเกิดความสลดพระทัยยิ่งนัก ได้สติรู้สึกตัว จึงตรัสกับพระนางอย่างสำนึกผิดว่า "เปรียบเสมือนผู้มีกำลัง ช่วยฉุดผู้ทุพพลภาพ ให้ขึ้นมาจากเปือกตม ได้ฉันใด เธอก็ช่วยพยุงฉัน ให้ขึ้นมาจากกามได้ด้วยคำ สุภาษิตฉันนั้น และฉันก็ละอายแก่ใจจริงๆ จึงคิดว่าฉันจะสละราชสมบัติ ออกบวชเสียในวันนี้ทีเดียว"
จึงสั่งเรียกอำมาตย์ทั้งหลายมาเฝ้า แล้วตรัสว่า "เราจะไปบวชอยู่ในสำนัก ของหัตถิปาลกุมาร แล้ว พวกเจ้าจะทำอย่างไร" เหล่าอำมาตย์กราบทูลว่า "ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็จะบวชติดตามพระองค์ไป พระเจ้าข้า"
ดังนั้น พระเจ้าเอสุการี จึงทรงละทิ้งราชสมบัติ และรัฐสีมาถึง ๑๒ โยชน์ (๑๙๒ กม.) ทรงประกาศว่า "ผู้ใดต้องการราชสมบัติ จงมาขึ้นครองราชย์เถิด" แล้วเสด็จออกบรรพชา ดุจช้างตัวประเสริฐ สลัดเครื่องผูกให้ขาดไปได้ และนำหมู่อำมาตย์ ราชบริพารประมาณ ๓ โยชน์ (๔๙ กม.) เสด็จไปยังฝั่งแม่น้ำคงคา หัตถิปาลกุมารจึงแสดงธรรมให้ฟัง
ต่อมาวันรุ่งขึ้น...ประชาชนที่เหลืออยู่ในพระนคร ประชุมกันแล้ว ได้พากันไปยังประตูพระราชวัง ขอเข้าเฝ้ากราบทูลต่อ พระอัครมเหสีว่า ก็พระราชาผู้กล้าหาญประเสริฐสุด ทรงพอพระทัยในการบรรพชา ละรัฐสีมาไปแล้ว ขอพระนางทรงโปรดเป็นพระราชา แห่งข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระนางเจ้าโปรดเสวยราชสมบัติ เหมือนพระราชาเถิด
พระอัครมเหสีทรงสดับถ้อยคำของมหาชนแล้ว ได้ตรัสว่า "เมื่อพระราชาทรงเสด็จออกบรรพชาแล้ว แม้เราก็จะละกามทั้งหลายอันน่ารื่นรมย์ใจ เพราะเวลาย่อมล่วงเลย ไป ราตรีย่อมผ่านไป ช่วงแห่งวัยย่อมละลำดับไป เราจะเป็นผู้เย็นใจ ก้าวล่วงความข้องในกามทั้งปวง เที่ยวไปในโลก แต่ผู้เดียว ไม่มีกามเป็นเพื่อนสอง"
ตรัสดังนี้แล้ว พระนางรับสั่งให้เรียกภรรยาอำมาตย์ทั้งหลายเข้าเฝ้า แล้วตรัสถามว่า "เราจะออกบวช แล้วพวกเธอจะทำอย่างไรกัน" เหล่าภรรยาอำมาตย์ทูลตอบว่า "แม้พวกหม่อมฉัน ก็จะบวชตามเสด็จ ด้วยเพคะ"
พระอัครมเหสี จึงทรงรับสั่งให้จารึกพระสุพรรณบัฏ (แผ่นทองคำจารึกพระราชสาสน์ เป็นคำสั่ง) ว่า "ขุมทรัพย์ใหญ่ฝังไว้ในที่โน้นบ้าง ในที่นี้บ้าง ใครมีความต้องการ จงขนเอาทรัพย์ ที่เราพระราชทานไว้แล้วนี้ไปเถิด" แล้วผูกพระสุพรรณบัฏไว้ที่เสาต้นใหญ่ ให้พนักงานเปิดประตู พระคลังทอง และให้ตีกลอง ป่าวประกาศทั่วพระนคร จากนั้นพระนางทรงสละราชสมบัติ เสด็จไปสู่ฝั่งแม่น้ำคงคา
ขณะนั้นมหาชนพากันเดือดร้อนโกลาหล เพราะทั้งพระราชาและเทวี ทรงสละราชสมบัติออกบวชหมด ประชาชนทั้งหลาย จึงต่างพากันละทิ้งบ้านช่อง ทั้งคนจนและคนมั่งมี พากันจูงลูกหลาน ออกตามเสด็จพระเทวี บรรดาร้านรวงและตลาด จึงมีสิ่งของวางเกลื่อนกลาด แต่ไม่มีผู้ใดจะสนใจ เหลียวกลับมาดูเลย พระนครถึงกับกลายเป็นเมืองร้าง ปราศจากผู้คน ประชาชนติดตามพระ เทวีไปยาวประมาณถึง ๓ โยชน์ (๔๘ กม.) พอถึงแล้ว หัตถิปาลกุมาร ได้แสดงธรรม ให้ทั้งหมดได้รับฟังกัน จากนั้นจึงพามหาชนทั้งปวง มีประมาณถึง ๑๒ โยชน์ (๑๙๒ กม.) บ่ายหน้าไปสู่หิมวันตประเทศ
นครอื่นๆ ในแคว้นกาสิกรัฐ ซึ่งอยู่ใกล้ๆนั้น ชาวเมืองพากันลือกระฉ่อนไปว่า "หัตถิปาลกุมารพาผู้คน ๑๒ โยชน์ไปจากเมืองหมด จนทำให้นครพาราณสี ถึงกับรกร้างว่างเปล่า นำมหาชนออกบวชมุ่ง สู่หิมวันตประเทศ ฉะนั้นเราจะอยู่ไปไยในเมืองนี้"
จึงต่างพากันออกบวชตาม จนประชาชนเพิ่มถึง ๓๐ โยชน์ (๔๘๐ กม.) ในที่สุด หัตถิปาลกุมาร ก็พาผู้คนทั้งหลายมา จนถึงป่าหิมพานต์ แล้วบรรพชา เป็นฤาษี
หัตถิปาลฤาษีให้ช่วยกันจัดสร้างอาศรมขึ้น เป็นหมู่กลุ่ม โดยให้บรรดาหญิงแม่ลูกอ่อน และเด็กอยู่ตรงกลาง ถัดออกมา เป็นอาศรมของหญิงชรา ถัดออกมาอีก เป็นของหญิงวัยปานกลาง ส่วนชั้นนอกสุด เป็นอาศรมของเหล่าผู้ ชายทั้งหมด
เมื่อเป็นดังนี้ พระราชาในแคว้นอื่นๆ อีก ๖ แคว้น พอได้ทราบข่าวว่า นครพาราณสีไร้พระราชา ครองบัลลังก์แล้ว จึงต่าง เสด็จมาดูความจริง ได้ทอดพระเนตรเห็น กองแก้วแหวนเงินทอง เครื่องประดับตกแต่งอันมีค่ามากมาย เกลื่อนทั่ว จนต้องดำริขึ้นว่า" เหตุไฉนหนอ พระเจ้าเอสุการี ทรงสละละทิ้งพระนคร ที่มีสมบัติมากมายเยี่ยงนี้ไปได้ แล้วทรงออกบวช ชะรอยการ บรรพชานี้ จะต้องเป็นสิ่งมีคุณค่าอันโอฬารยิ่งใหญ่กว่าสมบัติ เหล่านี้เป็นแน่แท้"
พระราชาทั้งหลายจึงทรงสอบถามหนทาง แล้วเสด็จตามไปยังอาศรมของหัตถิปาลฤาษี ครั้นหัตถิปาลฤาษีทราบว่า พวก พระราชา เสด็จมาถึงแนวป่า จึงเดินทางออกไปต้อนรับ และแสดงธรรมให้พระราชาทั้งหลายฟัง
พระราชาทั้งหมด ๖ พระองค์ล้วนมีจิตยินดีในการออกบวช พากันสละราชสมบัติ เสด็จออกบรรพชาบ้าง อาศรมจึงกว้าง ไกลออกไป มีปริมณฑลได้ถึง ๓๖ โยชน์ (๕๗๖ กม.) เนืองแน่นไปด้วย มวลหมู่สังคมนักบวช
หากนักบวชรูปใดมีกามวิตกเกิด หัตถิปาลฤาษีก็จะแสดงธรรมให้ผู้นั้นพ้นทุกข์ไปได้ คำสั่งสอนต่างๆ มากมาย ของหัตถิปาลฤาษี ทำให้มหาชนเป็นอันมาก ปราศจากทุคติ คือ ไม่ดำเนินชีวิตชั่ว ไม่ไปสู่นรก คือความเร่าร้อนใจ ไม่กำเนิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน คือความมืดมัวโง่เขลา ไม่กำเนิดเป็นเปรต คือความหิวกระหายไร้สุข และไม่กำเนิดเป็นอสุรกาย คือความสะดุ้งหวาดกลัวภัย ด้วยประการฉะนี้
ในครั้งนั้น พระเจ้าเอสุการีคือ พระเจ้าสุทโธทนะในบัดนี้ ปุโรหิตคือ พระกัสสป ในบัดนี้ ส่วนหัตถิปาลกุมาร ก็คือเรา ตถาคตนั่นเอง
(พระไตรปิฎก เล่ม ๒๗ ข้อ ๒๒๔๕ อรรถกถาแปล เล่ม ๖๑หน้า ๒๓๙)





แหล่งอ้างอิง หนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ฉบับที่ 130 เดือน พฤษภาคม 2544
หน้า 1/1

วบอ้างอิง www.bunniyom.com

ชาดกทันยุค.อดีตชาติของพระพุทธเจ้า"หัตถิปาลชาดก" ตอนบ้านเมืองอาริยะ (ตอน ๑)

จิตอาสาเพื่อสังคมอุดมสุข




บ้านเมืองที่นิยมบุญ เป็นบ้านเมืองอาริยะ การเมืองที่นิยมบุญ เป็นการเมืองอาริยะ
บ้านเมืองอาริยะ (หัตถิปาลชาดก)
ในอดีตกาล มีพระราชาทรงพระนามว่า เอสุการี ครอบครองราชสมบัต ิอยู่ในนครพาราณสี โดยมีพราหมณ์ปุโรหิตผู้หนึ่ง เป็นสหายรักกันมาตั้งแต่ยังเยาว์ ทั้งสองไม่มีโอรส และบุตรสืบสกุลเลย
วันหนึ่ง ขณะที่ทั้งสองกำลังอารมณ์ดีมีความสุขอยู่ ก็ได้ปรึกษาหารือกัน โดยปุโรหิตเอ่ยขึ้นก่อนว่า "ยศอันยิ่งใหญ่ของเราทั้งสองมีมาก แต่บุตรสืบสกุลนั้น ไม่มีเลย เราจะทำอย่างไรกันดี"
พระเจ้าเอสุการี ตรัสแสดงความคิดเห็นบ้างว่า "สหายรัก เอาอย่างนี้สิ หากภรรยาที่เรือนของท่าน ให้กำเนิดบุตรชาย เราจะให้บุตรของท่าน ได้ครอบครองราชสมบัติของเรา แต่ถ้าหากว่ามเหสีของเรา ให้กำเนิดโอรส โอรสของเราก็จะช่วยดูแล ทรัพย์สมบัติของท่านด้วย" ทั้งสองต่างตกลงกันและกัน เอาไว้ดังนี้
วันหนึ่ง...ขณะที่พราหมณ์ปุโรหิตกำลังกลับบ้านส่วยของตน ได้ผ่านเข้าประตูเมือง ทางทิศใต้ บังเอิญได้พบเห็น หญิงยากจนคนหนึ่ง ชื่อ พหุปุตติกะ นางมีลูกเจ็ดคน ที่ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บอะไรเลย ลูกชายคนหนึ่งถือกระเบื้องภาชนะหุงต้ม คนหนึ่งก็หอบ เสื่อปูนอน คนหนึ่งก็พาเดินนำไปข้างหน้า คนหนึ่งก็คอยเดินตามหลัง คนหนึ่งก็เกาะ มือแม่เดินไป คนหนึ่งอยู่ที่สะเอวแม่ และอีกคนหนึ่ง อยู่บนบ่าของแม่
ปุโรหิตเห็นดังนั้น จึงถามนางว่า "แม่มหาจำเริญ พ่อของเด็กเหล่านี้อยู่ที่ไหนกัน แล้วไฉนจึงได้ลูกชายมากถึงเจ็ดคนเช่นนี้ ?"
นางพหุปุตติกะตอบว่า "พ่อแม่ของเด็กเหล่านี้ ไม่ได้อยู่ประจำที่เจ้าข้า ส่วนการได้ลูกชายนั้น..." นางชะงักคำพูด แล้วมองไปรอบๆ ตัว เพื่อแสวงหาคำตอบ พอดีแลเห็นต้นไทรต้นใหญ่ต้นหนึ่ง ขึ้นอยู่ใกล้ ประตูเมือง จึงแสร้งตอบไป ด้วยท่าที หนักแน่นจริงจังว่า "ข้าแต่นาย ดิฉันบวงสรวงเซ่นไหว้ บูชาต่อเทวดาที่สิงสถิต อยู่ที่ต้นไทรนี้เอง เทวดา จึงให้ลูก ถึงเจ็ดคน แก่ดิฉัน" ตอบเสร็จ นางพหุปุตติกะ ก็รีบเดินจากไปทันที
ปุโรหิตจึงลงจากรถ เดินตรงไปยังต้นไทร สังเกตดูสักครู่ก็จับกิ่งไทรเขย่าอย่างแรง พลางพูดด้วย เสียงอันดังว่า "เทวดาผู้เจริญ อะไรบ้างที่ท่านไม่ได้จากราชสำนัก ทุกๆ ปี พระราชาทรงสละ พระราชทรัพย์พันกหาปณะ (๔,๐๐๐ บาท) ตรัสสั่งให้ทำพลีกรรม แก่ท่าน ท่านกลับไม่ให้โอรส แก่พระราชาเลย แต่หญิงยากจนคนนั้น มีบุญคุณ ช่วยเหลือเกื้อกูลอะไรแก่ท่าน ทำไมท่านจึงให้บุตร แก่นางถึงเจ็ดคน ฉะนั้นถ้าหากท่าน ยังไม่ยอม ให้โอรสแก่พระราชาของเรา จากนี้ไปอีกเจ็ดวัน เราจะใช้ให้คนมาโค่น ต้นไทรนี้ลงทั้งราก แล้วสับให้เป็นท่อนๆ เลยทีเดียว" กล่าวแล้ว ปุโรหิตก็ขึ้นรถ กลับไป
และในวันรุ่งขึ้น ปุโรหิตก็มายังต้นไทรนี้อีก ทั้งยังกล่าวข่มขู่ในทำนองเดิมอีก ทำเช่นนี้ทุกวัน จนถึงวันที่ ๖ ก็สำทับว่า "ดูก่อนรุกขเทวดา (เทวดารักษาต้นไม้) เหลือเวลาอีกเพียงวันเดียวเท่านั้น ถ้าท่านยังไม่ยอมให้โอรส ผู้ประเสริฐแก่พระราชา ของเราละก็ พรุ่งนี้เราจะให้คนมาสำเร็จโทษท่าน"
ช่วงนั้นเอง...ในเหล่าเทวดา (คือผู้มีจิตใจสูง) ผู้ถึงกาลจุติ มีเทพบุตร ๔ สหาย ซึ่งมากด้วยบุญ อันควรเกิดในราชตระกูลปรากฏอยู่ แต่เทพบุตรทั้ง ๔ ไม่ปรารถนาที่จะเกิดในราชตระกูล จึงพากันไปเกิด ในเรือนของปุโรหิต โดยตั้งจิตร่วมกันไว้ว่า "เมื่อเกิดเป็นมนุษย์แล้ว จะละกามสมบัติ ออกบวช ตั้งแต่ยังมีวัยหนุ่มอยู่" ฉะนั้นเทวดาจึงดลใจแก่ปุโรหิตให้เกิดลาง สังหรณ์ เช่นนั้น ด้วยเหตุนี้เอง ต้นไทรนั้นจึง รอดพ้นจาก การถูกตัดโค่นไปได้
ครั้นเทพบุตรผู้เป็นพี่ใหญ่ จุติมาบังเกิดในครรภ์ของ นางพราหมณี ภรรยาปุโรหิตแล้ว ก็ได้ชื่อว่า หัตถิปาลกุมาร เพราะปุโรหิตได้มอบให้นายควานช้างเอาไปเลี้ยงไว้ เพื่อป้องกันการออกบวช ของกุมาร นั่นเอง
เมื่อหัตถิปาลกุมารเจริญเติบโตเริ่มเดินได้นั้น เทพบุตรองค์ที่สองก็จุติ มาบังเกิด ในครรภ์ ของนางพราหมณีอีก กุมารเกิดแล้วได้ชื่อว่า อัสสปาลกุมาร ฝากให้คนเลี้ยงม้า ช่วยดูแลให้ เพื่อป้องกันกุมารออกบวช แล้วเมื่อบุตรคนที่สามเกิด ก็ได้ชื่อว่า โคปาลกุมาร มีนายโคบาลเลี้ยงดูไว้ เพื่อป้องกันการออกบวช และบุตรคนที่สี่เกิดแล้ว ก็ได้ชื่อว่า อชปาลกุมาร มีคนเลี้ยงแพะช่วยเลี้ยงดูไว้
ครั้นกุมารทั้งสี่เมื่อเติบโตเจริญวัยเป็นหนุ่ม ได้มีรูปร่างสง่างามยิ่งนัก ซึ่งช่วงนั้นปุโรหิต ได้เชิญบรรดา นักบวชทั้งหลาย ออกไปจากพระราชอาณาเขตหมดสิ้น ในแคว้นกาสิกรัฐ จึงไม่มีบรรพชิต เหลืออยู่แม้แต่รูปเดียว
เมื่อหัตถิปาลกุมารอายุครบ ๑๖ ปี พระราชาได้ปรึกษากับพราหมณ์ปุโรหิตว่า "กุมารทั้ง ๔ เติบใหญ่แล้ว สมควรที่จะยกราชสมบัติให้ครอบครอง แต่ถ้าอภิเษกแล้ว หากว่ากุมารเหล่านี้ ได้พบปะบรรพชิตเข้า ก็อาจจะพากันออกบวชเสีย ถ้าเป็นอย่างนั้น ชาวเมืองก็จะระส่ำระสาย วุ่นวายไปหมด ฉะนั้นก่อนที่จะอภิเษกให้ เราสองต้องลงมือ ทดสอบกุมาร เหล่านี้ดูก่อน"
ทั้งสองจึงตกแต่งร่างกายปลอมแปลงเป็น ฤาษี เที่ยวภิกขาจารไป จนถึงประตูบ้าน ที่อยู่ของ หัตถิปาลกุมาร เมื่อหัตถิปาลกุมารมีโอกาส ได้พบเห็นฤาษีแล้ว ก็เกิดจิตปิติยินดี มีความเลื่อมใส ตรงเข้าไป ใกล้ๆ ถวายนมัสการ แล้วเอ่ยปากถามว่า
"นานมากแล้ว ที่ข้าพเจ้าไม่ได้พบเห็น ผู้มีผิวพรรณผ่องใส ดังเทพมุ่นชฎา ผู้ทรมานกิเลส ดั่งเปือกตม เป็นฤาษีผู้ยินดีในคุณธรรม นุ่งผ้าย้อมน้ำฝาด หรือผ้าคากรอง (ทำด้วยหญ้า) ปกปิดโดยรอบ ขอท่านผู้เจริญ รับอาสนะ (ที่นั่ง) รับน้ำ รับผ้าเช็ดเท้า และรับน้ำมันทาเท้า ข้าพเจ้าขอต้อนรับท่านด้วยสิ่งของมีค่า โปรดได้ กรุณารับของมีค่านี้ด้วยเถิด"
หัตถิปาลกุมารเชื้อเชิญฤาษีทั้งสองด้วยความเคารพศรัทธายิ่งนัก ปุโรหิตฤาษี จึงแกล้งถามว่า "แน่ะพ่อหัตถปาละ เจ้าสำคัญว่าเราทั้งสองเป็นใครกัน จึงกล่าวอย่างนี้"
หัตถิปาลกุมารจึงตอบว่า "ข้าพเจ้าคิดว่า ท่านเป็นฤาษีผู้มาจาก หิมวันตประเทศ"
ปุโรหิตจึงบอกความจริงว่า "พ่อคุณ...พวกเราไม่ใช่ฤาษีจริงๆ หรอก นี้คือ พระราชาเอสุการี เราก็คือปุโรหิตผู้เป็นบิดาของเจ้าไง"
หัตถิปาลกุมารจึงเกิดความสงสัยขึ้นทันที เอ่ยถามว่า "ทำไมต้องทำเช่นนี้ เพราะเหตุอันใดกันเล่า พระราชากับบิดาถึงต้องปลอมเป็นฤาษีด้วย"
ปุโรหิตเฉลยคำตอบว่า "ก็เพื่อทดลองใจเจ้าว่า หากเจ้าพบเห็นพวกบรรพชิตถือศีลแล้ว ก็มิได้คิด ออกบวช พวกเราก็จะ อภิเษกเจ้าให้เสวยราชสมบัติ"
หัตถิปาลกุมารได้ฟังดังนั้นก็รีบตอบว่า "ข้าแต่บิดา ข้าพเจ้าไม่ต้องการราชสมบัติเลย ข้าพเจ้า ต้องการที่จะบวชมากกว่า"
ปุโรหิตได้ยินดังนั้นถึงกับลนลานกล่าวว่า "ลูกรัก เจ้าจงร่ำเรียนวิชา และจงแสวงหา ทรัพย์ให้มาก จงปลูกฝังลูกหลานให้มั่นคงอยู่ในเรือน แล้วจงบริโภครูปรสกลิ่นเสียง อันบำเรอกามทั้งปวงก่อนเถิด กิจที่จะสงบระงับอยู่ในป่านั้น จะสำเร็จ ประโยชน์ดี ก็เมื่อยามแก่แล้ว ผู้ใดบวชในเวลาตอนนั้น ผู้นั้น พระอริยเจ้า ย่อมสรรเสริญ"
หัตถิปาลกุมารฟังแล้ว ก็กล่าวแย้งบิดาว่า "วิชาการต่างๆ เป็นของไม่เที่ยงแท้ ลาภคือทรัพย์ ก็ไม่เที่ยงแท้ ใครๆ จะเอาการมีลูกหลาน มาห้ามความแก่เฒ่าได้เล่า สัตบุรุษ (คนที่มีสัมมาทิฏฐิ) ทั้งหลายล้วนสอนให้ปล่อยวาง ในกามคุณ ๕ เพราะความเกิดแห่งผลกรรมใดๆ นั้น ย่อมมีได้ ตามกรรมของตน"
เมื่อพระราชาทรงสดับคำของหัตถิปาลกุมารแล้ว ก็ตรัสบ้างว่า "คำตรัสของเจ้าที่ว่า ความเกิดขึ้น แห่งผลกรรมใดๆ นั้น ย่อมมีได้ตามกรรมของตน ช่างเป็นคำจริงแท้ แน่นอน ฉะนั้นในเมื่อบิดามารดา ของเจ้านี้ก็แก่เฒ่าแล้ว หวังว่าเจ้าก็จะอยากอยู่ จนแก่เฒ่าอายุ ๑๐๐ ปี ไม่มีโรคใดบ้าง ฉะนั้น เจ้าต้องช่วยเลี้ยงดูบิดา มารดา ของเจ้าก่อน"
หัตถปาลกุมารฟังพระราชดำรัส แล้วกราบทูลว่า "ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ ความเป็นสหาย กับความตาย ความมีไมตรีกับความแก่นั้น ไม่เคยมีกับผู้ใดเลย เพราะไม่มีผู้ใดที่ไม่แก่ ไม่มีผู้ใดที่ไม่ตาย ผู้นั้นแม้มีอายุยืน ๑๐๐ ปี ไม่มีโรคเบียดเบียน ก็ได้ ในบางคราวเท่านั้น อุปมา ดังบุรุษเอาเรือมาจอดไว้ที่ท่าน้ำ รับคนฝั่งนี้ส่งถึงฝั่งโน้น แล้วรับคนฝั่งโน้น พามาส่ง ถึงฝั่งนี้ ฉันใด ความแก่และความเจ็บป่วย ย่อมนำเอาชีวิต ไปสู่อำนาจ แห่งความตายอยู่เนืองๆ ฉันนั้น"
ครั้นหัตถิปาลกุมารกล่าวแล้ว ก็หยุดสักครู่ จึงกล่าวต่อ "ขอเดชะพระมหาราชเจ้า ขอพระองค์ ก็ดำรงอยู่เป็นสุขเถิด ความแก่ ความเจ็บป่วย และความตาย ย่อมรุกรานเข้าใกล้ทุกคนตลอดเวลา ขอพระองค์อย่าได้ทรงประมาทมัวเมาเลย"
จบคำพูด หัตถิปาลกุมารถวายบังคมพระราชา และกราบลาบิดา แล้วพาบริวารของตน ละทิ้งสมบัติ ในพระนครพาราณสี ด้วยตั้งใจ ว่าจะออกบวช อีกทั้งยังมีชาวเมือง ส่วนหนึ่ง ติดตามหัตถิปาลกุมารไป ด้วยความคิดว่า "ขึ้นชื่อว่าการออกบวชนั้น ช่างเป็นความดีอันน่างดงามยิ่งนัก" รวมแล้วจึงมีผู้ตาม ไปกับหัตถิปาลกุมาร เป็นระยะทางยาว ประมาณถึง ๑ โยชน์ (๑๖ กม.) ทีเดียว
หัตถิปาลกุมาร เมื่อไปถึงฝั่งแม่น้ำคงคา เพ่งดูสายน้ำแล้วตกลงใจว่า "เราจะอยู่ ณ ที่นี่แหละ จะนั่งให้โอวาท แก่มหาชนทั้งหลาย อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคานี้ "
ในวันรุ่งขึ้น พระเจ้าเอสุการีกับพราหมณ์ ปุโรหิตคิดกันว่า เมื่อหัตถิปาลกุมาร ไม่ต้องการ ราชสมบัติ และคิดจะบวช ฉะนั้นคงต้องไปทดลองใจ ของอัสสปาลกุมาร ดูบ้าง ทั้งสองจึงตกแต่งแปลงร่าง ปลอมกาย เป็นฤาษีกันอีก แล้วไปประตูเรือน ของอัสสปาลกุมาร ทำเช่นเดียวกันกับหัตถิปาลกุมาร ทุกอย่าง แล้วก็ได้รับ คำตอบจากอัสสปาลกุมารว่า
"ข้าแต่ท่านบิดา ข้าพเจ้าไม่มุ่งหมายในราชสมบัติ ซึ่งเปรียบเสมือนก้อนน้ำลาย ที่พี่ชายของข้าพเจ้า บ้วนทิ้งแล้ว แม้จริงแท้ที่สัตว์ทั้งหลายผู้โง่เขลาเบาปัญญา ย่อมจะทิ้งกิเลสนั้นได้ยาก แต่ข้าพเจ้าก็จะ ละทิ้ง เพราะกามทั้งหลายเป็นดังเปือกตม ที่ก้าวลงไปแล้วทำให้จมลง เป็นที่ตั้งแห่งความตาย ฉะนั้นสัตว์ทั้งหลาย ผู้ข้องอยู่ในกาม จึงเป็นผู้มีจิตเลวทราม ย่อมข้ามถึงฝั่งไม่ได้เลย
แม้ในอดีต อัตภาพ (นิสัยใจคอ) ของข้าพระองค์ก็ได้กระทำกรรม อันหยาบช้ามาก่อน ผลแห่งกรรมนั้น ยึดข้าพระองค์ไว้มั่นแล้ว ข้าพระองค์จะพ้นไปจากผลแห่งกรรมนั้น ไม่ได้เลย ดังนั้นข้าพระองค์ จึงคิดจะปิดกั้น นิสัยใจคอนั้นอย่างรอบคอบ เพื่ออย่าได้กระทำกรรม อันหยาบช้าอีกเลย"
กล่าวจบ อัสสปาลกุมารก็กราบลาบิดาและพระราชา แล้วพาผู้ที่อยากติดตามไปด้วย มีความยาว ประมาณ โยชน์หนึ่ง (๑๖ กม.) ไปยังที่พำนักของหัตถิปาลกุมาร
หัตถิปาลกุมารได้แสดงธรรม แก่อัสสปาลกุมารฟัง แล้วกล่าวว่า "น้องรัก สมาคมนี้จะใหญ่ยิ่งกว่านี้ อีกมากนัก พวกเราจะพำนัก กันอยู่ในที่นี้ก่อน "
วันรุ่งขึ้น พระราชากับพราหมณ์ปุโรหิต ก็ปลอมตัว เป็นฤาษีอีก ไปยังเรือนของ โคปาลกุมาร ด้วยอุบายเหมือนเดิม แม้โคปาลกุมารก็ปฏิเสธราชสมบัติ และต้องการออกบวชเช่นพี่ชาย โดยกล่าวว่า "ข้าแต่พระเจ้าเอสุการี ประโยชน์ของข้าพระองค์ พินาศไปเสียแล้ว เหมือนผู้เลี้ยงโค ไม่เห็นโค ที่หายไปในป่า ฉะนั้น ต่อเมื่อข้าพระองค์ได้เห็น ทางแห่งบรรพชิตทั้งหลายแล้ว ไฉนจะไม่แสวงหา การออกบวชเล่า ข้าพระองค์ เห็นทางที่พี่ชายทั้งสองได้กระทำไป แล้ว เหมือนคนพบรอยเท้าโค ที่หายไป ฉะนั้น ข้าพระองค์ก็จะไปตามทางนั้นเหมือนกัน"
พระราชาและปุโรหิตช่วยกันกล่าวขอร้องว่า "พ่อโคปาลกุมาร รออีกสักวันสองวันก่อนเถิด ให้เราทั้งสองพอทำใจกันบ้าง แล้วเจ้าค่อยออกบวช"
แต่โคปาลกุมารกลับตอบว่า "ผู้ใดกล่าวผัดเพี้ยนการงาน ที่ควรกระทำในวันนี้ ว่าควรทำในวันพรุ่งนี้ แล้วกล่าวการงานที่ควร กระทำในวันพรุ่งนี้ ว่าควรทำในวันถัดไป ผู้นั่นย่อมเสื่อมจากการงานนั้น ฉะนั้น "กรรมดี" ควรทำในวันนี้ ไม่ควรผัดเพี้ยนว่าจะทำ "กรรมดี" ในวันพรุ่งนี้ ขึ้นชื่อว่า "กรรมดี" แล้ว ควรทำในวันนี้แหละ เพราะสิ่งใดเป็นอนาคต สิ่งนั้นยังไม่เกิดยังไม่มี จึงควรละความพอใจ ในอนาคตนั้นเสีย"
จากนั้นโคปาลกุมารกับบริวารติดตามไปเป็นขบวนยาวประมาณโยชน์หนึ่ง ก็เดินทางไปยังสำนัก ของพี่ชายทั้งสอง หัตถิปาลกุมารจึงแสดงธรรม ให้แก่ปาลกุมารฟัง ณ ที่นั้น
วันรุ่งขึ้น พระราชาและปุโรหิตยังคงปลอมเป็นฤาษี ไปยังเรือนของอชปาลกุมาร ในที่สุด แม้อชปาลกุมาร ก็ไม่ต้องการราชสมบัติ แต่ต้องการออกบวชเช่นนั้น ปุโรหิต จึงกล่าววิงวอนว่า "เจ้ายัง อายุน้อยนัก ควรจะบวชในเวลาที่ถึงวัยอันสมควร ให้เราทั้งสองเลี้ยงดูอุ้มชูเจ้าก่อนเถิด"
อชปาลกุมารจึงกล่าวว่า "ธรรมดาสัตว์โลกทั้งหลาย ไม่มีนิมิตเครื่องหมายที่มือ หรือที่เท้าของใครเลยว่า ผู้นี้ จะตายในเวลาเด็ก ผู้นั้นจะตายในเวลาแก่เฒ่า ข้าพเจ้าเองก็ไม่รู้เวลาตายของตัวเอง เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจะบวชในตอนนี้แหละ
เพราะข้าพเจ้าเคยเห็นหญิงสาวรูปร่างหน้าตางดงาม มีดวงตา ดังดอกการะเกด โดนความตายมาฉุดคร่า เอาชีวิตเธอไป ทั้งที่อยู่ในวัยแรกรุ่นเท่านั้น ยังไม่ทัน บริโภคสมบัติได้มากมายอะไรเลย แล้วยังมีชายหนุ่มสง่างาม ใบหน้าผ่องใส ผิวพรรณน่าดูน่าชม แม้ชายหนุ่มเห็นปานนี้ ก็ไปสู่อำนาจของความตาย
ข้าพเจ้าจึงคิดละกามและบ้านเรือนเสีย แล้วจะออกบวช ได้โปรดกรุณาอนุญาต แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด" อชปาลกุมารกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็กล่าวต่อไปอีกว่า "ขอท่านทั้งสองจงดำรงอยู่อย่างเป็นสุขเถิด ส่วนข้าพเจ้าผู้กำลังถูกความแก่ ความเจ็บ ความตาย รุกรานอยู่นี้ ขอกราบลาท่านทั้งสอง ไปก่อน"
จากนั้น อชปาลกุมารก็พาบริวารที่ติดตาม ไปเป็นแถวยาวโยชน์หนึ่ง ไปสู่ฝั่งแม่น้ำคงคา หัตถิปาล กุมารจึงแสดงธรรมให้น้องชายฟัง
เช้า...วันรุ่งขึ้น พราหมณ์ปุโรหิตนั่งขบคิดอยู่ที่เรือนของตน ในที่สุดก็ตัดสินใจปรึกษา กับนางพราหมณีว่า "ดูก่อนแม่วาเสฏฐิ ต้นไม้จะถูกเรียกชื่อว่าต้นไม้ได้ ก็เพราะมีกิ่งและใบ ส่วนต้นไม้ ที่ไม่มีกิ่งและใบนั้น ชาวโลกเขาเรียกว่า ตอไม้ ก็บัดนี้ลูกทั้ง ๔ ของเราออกบวชกันหมดแล้ว เราเป็นผู้ไม่มีบุตร เหลือกันอยู่ตามลำพัง เป็นเสมือน มนุษย์ตอไม้ ถึงเวลาแล้ว ที่แม้เราก็จะออกบวช เช่นกัน"
(อ่านต่อฉบับหน้า)



เครื่องหมายของ Facebook

ShareThis

ป้ายกำกับ

Powered By Blogger

ค้นหาบล็อกนี้

พระธรรมาภิวัฒน์'s space

เพื่อชีวิตจิตสำนึกที่ดีงาม

ผู้ติดตาม

Network