วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ชาดกทันยุค(อดีตชาติของพระพุทธเจ้า)..บารมีธรรม (ปลายิชาดก)

จิตอาสาเพื่อสังคมอุดมสุข

สะสมสร้างเสริมทำดี
บารมีนับวันยิ่งใหญ่
มหาชนเชิดชูภูมิใจ
ไร้ใครอาจหาญต้านทาน
พุทธกาลนั้นเอง มีปริพาชก (นักบวชพวกหนึ่งในชมพูทวีปชอบสัญจรไปที่ต่างๆ เพื่อแสดงทรรศนะ ปรัชญา ทางศาสนาของตน) ผู้หนึ่ง ปรารถนาแสดงภูมิปัญญาของตน จึงท่องเที่ยวไปทั่วชมพูทวีป (ชื่อประเทศอินเดียในครั้งโบราณ) เพื่อโต้วาทะ(การพูดโต้ตอบเอาชนะ) กับผู้รู้ทั้งหลาย แต่แล้ว ก็ไม่มีใครมาโต้ตอบวาทะด้วยเลย ปริพาชกจึงรอนแรมมาจนถึงเมืองสาวัตถี แล้วเที่ยว สอบถาม ชาวบ้านว่า
"ที่เมืองสาวัตถีนี้ ใครได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้มากที่สุด ผู้นั้นจึงจะสามารถโต้ตอบวาทะกับเราได้ มีบ้างไหมบุคคลเช่นนี้"
บรรดาผู้คนทั้งหลายต่างพากันตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า
"พระพุทธองค์ นั่นแหละ เป็นสัพพัญญู (ผู้รู้หมดทุกสิ่ง) เลิศกว่ามนุษย์ทั้งปวง เป็นใหญ่ โดยธรรม ย่ำยีวาทะของผู้อื่นได้ สามารถจะโต้ตอบวาทะ กับปริพาชก เช่นท่านได้ แม้ตั้งพันคน เพราะปราชญ์ทั้งหลาย ในชมพูทวีปนี้ ผู้ที่มีวาทะขัดแย้ง โค่นล้มพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ไม่มีแม้แต่คนเดียว บรรดาวาทะขัดแย้งทั้งปวง เมื่อมาถึงพระองค์แล้ว ก็ถูกหักล้าง ทำลายไป จนหมดสิ้น ดุจเกลียวคลื่น กระทบฝั่ง แล้วหายไป ฉะนั้น

"เอาเถอะ ! เดี๋ยวนี้พระองค์ประทับอยู่ที่ไหน"
"ที่พระเชตวันมหาวิหาร"
"ถ้าอย่างนั้น เราจะไปประวาทะกับพระองค์บัดนี้เลย"

ปริพาชกมุ่งสู่เชตวันมหาวิหารทันที มีหมู่ชนที่ทราบเรื่องพากันติดตามไปดูแน่นขนัด เมื่อมาถึง หน้าซุ้มประตูของเชตวันมหาวิหาร เป็นซุ้มประตูที่พระราชกุมาร พระนามว่า เชตะ ทรงสละ ทรัพย์ เก้าโกฏิ (๙๐ ล้านบาท) สร้างขึ้นอย่างโอ่อ่า โอฬารตระการตา ปริพาชกเพ่งดูแล้ว ก็หยุดชะงัก อยู่ที่ตรงนั้น พร้อมกับถามไถ่ว่า "นี้คือปราสาทที่ประทับของพระสมณโคดมหรือ"
ผู้คนทั้งหลายช่วยตอบให้รู้ว่า "มิใช่ นี่เป็นเพียงซุ้มประตูเท่านั้น"
จากคำตอบนี้เอง ทำให้ปริพาชกถึงกับหวาดหวั่นขึ้นมาในใจทันที ด้วยความรู้สึกที่ว่า
"ซุ้มประตู ยังใหญ่โต ราวกับปราสาทถึงเพียงนี้ แล้วที่ประทับ จะเป็นเช่นไร"

ขณะนั้นเองมีชาวบ้านคนหนึ่งเอ่ยขึ้นว่า
"พระคันธกุฎี (พระกุฎีที่ประทับของพระพุทธเจ้า) นั้น ประมาณไม่ถูกเลยทีเดียว"

ปริพาชกถึงกับรุ่มร้อนภายใน เหงื่อกาฬแตกด้วยความขลาดกลัว แล้วโพล่งออกไปว่า
"ใครจะไปโต้ตอบวาทะกับพระสมณโคดม ที่มีบารมีถึงปานนี้ได้เล่า"

แล้วก็หลบหนีไปจากที่นั้น อย่างรวดเร็ว

หมู่ชนทั้งหลายจึงส่งเสียงอึงคะนึงขึ้นทันทีว่า "ปลายิปริพาชก (ปริพาชกหนีไปแล้ว)"
"ปริพาชกหนีไปแล้ว.."

แล้วผู้คนทั้งหมดก็พากันเข้าไปยังพระเชตวันมหาวิหาร พระศาสดาทรงได้ยินเสียงดัง ทั้งแลเห็นผู้คนจำนวนมาก จึงตรัสถามว่า"
"นี้มิใช่เวลาฟังธรรม ทำไมจึงมีผู้คนมากันมากมายอย่างนี้หรือ"

หมู่ชนจึงกราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบ พระศาสดาเข้าใจเรื่องแล้วได้ตรัสว่า
"ดูก่อนอุบาสกทั้งหลาย ปริพาชกนี้พอเห็นซุ้มประตูวิหารเท่านั้นก็หนีไป มิใช่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน ก็เคยหนีแล้วเหมือนกัน"

หมู่ชนได้ยินดังนั้น พากันทูลขอร้องให้ตรัสเล่า พระศาสดาจึงแสดงชาดกนั้นให้ฟัง

ในอดีตกาล มีพระราชาพระองค์หนึ่งเสวยราชสมบัติที่เมืองตักกสิลา ในแคว้นคันธาระ
ส่วนที่เมืองพาราณสี ในแคว้นกาสี มีพระเจ้าพรหมทัตครองราชย์อยู่ พระองค์ทรงดำริ หมายครอบครอง เมืองตักกสิลา
เมื่อใกล้จะถึงเมืองตักกสิลา ได้หยุดทัพตั้งมั่นอยู่ เพื่อวางแผนการรบ ที่จะเข้าโจมตีเมือง ได้รับสั่งกับไพร่พลทั้งหลาย ก่อนที่จะยกทัพบุกว่า
"เมืองตักกสิลาจะถูกล้อมไว้ทุกด้าน ด้วยกองทัพช้างซึ่งร้องคำรนอยู่ด้านหนึ่ง ด้วยกองทัพม้า อีกด้านหนึ่ง ด้วยกองทัพรถ บุกตะลุยด้านหนึ่ง ด้วยกองทัพเดินเท้า ที่แม่นธนูด้านหนึ่ง
ท่าน ทั้งหลาย จะต้องรีบรุกเข้าไป จะต้องรีบบุกเข้าไป ต้องไสช้าง ให้หนุนเนื่องกันเข้าไป ต้องโห่ร้อง ให้สนั่นหวั่นไหว ในวันนี้ ดุจสายฟ้าฟาด จากกลีบเมฆ คำรามอยู่"

พระเจ้าพรหมทัตทรงตรวจพล และปลุกใจเหล่าทหาร ให้คึกคักเข้มแข็ง แล้วเคลื่อนพล ไปสู่ประตูเมือ งตักกสิลา พอมาถึงซุ้มประตูเมือง ที่สง่างามใหญ่โตแข็งแรง ตั้งตระหง่านมั่นคง อยู่ตรงหน้า จึงได้ตรัสถาม ขึ้นมาว่า
"นี่คือพระราชมณเฑียร ที่ประทับของพระราชาหรือ"

"มิใช่พระเจ้าข้า นี่คือซุ้มประตูเมืองเท่านั้น"
พระเจ้าพรหมทัตถึงกับตกพระทัยว่า
"ซุ้มประตูยังใหญ่โตมโหฬาร สง่างามถึงเพียงนี้ แล้วที่ประทับจะขนาดไหนเล่า"

พอดีเสนาได้กราบทูลต่อพระองค์อีกว่า
"พระราชมณเฑียรของพระเจ้ากรุงตักกสิลา นั้น ผู้คนบอกว่ายิ่งใหญ่สวยงาม เป็นเช่นเดียวกับ
เวชยันตปราสาท (วิมานของพรอินทร์)เลยทีเดียว พระเจ้าข้า"

ทรงสดับแล้ว ยิ่งทรงหวาดหวั่นพระทัย อาการที่เคยฮึกเหิม ก็กลับกลายเป็น ขลาดกลัว ทรงไม่แน่พระทัย ที่จะโจมตี ทำศึกสงครามด้วย ในที่สุด รับสั่งกับไพร่พลว่า
"เราไม่อาจสู้รบกับพระราชาที่สมบูรณ์ด้วยบารมีและลาภยศยิ่งใหญ่อย่างนี้ได้"

ได้ทรงหันไปทอดพระเนตร ซุ้มประตูเมืองอีกครั้ง แล้วตัดสินใจรับสั่งว่า "ถอยทัพ"
ความหวาดกลัวเหนือกว่าความอับอาย พระเจ้าพรหมทัตเสด็จยกกองทัพ ถอยหนีกลับคืน สู่เมือง พาราณสีตามเดิม เพียงแค่ได้ทอดพระเนตร ซุ้มประตูเมือง ตักกสิลาเท่านั้น

พระศาสดาทรงแสดงชาดกเรื่องนี้จบแล้ว ตรัสว่า
"พระเจ้าพรหมทัตในครั้งนั้น ได้มาเป็นปลายิปริพาชกในครั้งนี้ ส่วนพระราชาเมืองตักกสิลาได้มาเป็นเราตถาคตนี้เอง"

(พระไตรปิฏกเล่ม ๒๗ ข้อ ๓๐๗ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๗ หน้า ๔๒๒)
(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๙ ธันวาคม ๒๕๔๕)



วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

กว่าจะถึงอรหันต์..พระภัททเถระ

จิตอาสาเพื่อสังคมอุดมสุข


เป็นภิกษุ ทรงศีล ที่ยังเด็ก

แม้ตัวเล็ก เจ็ดขวบ จวบเท่านั้น

อย่ามองหมิ่น หลงพลาด ปรามาสกัน

เพราะเด็กนั่น อรหันต์ เชียวนะคุณ

พระภัททเถระ ในอดีตชาติของพระภัททเถระ ได้สั่งสมบุญบารมีเอาไว้มากมาย มีผลบุญผลประโยชน์ติดตาม มาพร้อมพรั่ง ในชาตินี้จึงเกิดอยู่ในตระกูลเศรษฐีแห่งกรุงสาวัตถี นครหลวงของแคว้นโกศล ได้ชื่อว่า ภัททะ (ผู้มีดีเจริญ) ภัททกุมารเป็นบุตรชายเพียงคนเดียว จึงเป็นที่รักของบิดามารดา เพราะแต่เดิมนั้นเศรษฐี อยู่ครองเรือน มาช้านาน ก็ยังไม่ได้บุตรแม้สักคนเดียว ทั้งสองสามีภรรยาจึงตั้งจิตประพฤติ ข้อปฏิบัติอันดีงาม และเซ่นสรวงบูชา แด่เทวดา (สภาวะจิตใจสูง) เป็นอันมาก จนได้กำเนิด บุตรสุดประเสริฐคนนี้มา

ครั้นพอภัททกุมารอายุได้ ๗ ขวบ บิดามารดามุ่งหวังความเจริญดีแก่บุตรชาย จึงตัดสินใจ พากันช่วยเหลือบุตร โดยแสวงหา ประโยชน์มหาศาลให้ ด้วยการนำภัททกุมาร ไปถวายแด่พระพุทธเจ้า องค์สมณโคดม กราบทูลอ้อนวอน กับพระศาสดาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุตรของข้าพระองค์นี้ เป็นสุขุมาลชาติ (ชาติผู้ดีมีสกุลสูง) เติบโตมา ด้วยความสุข เป็นบุตรที่ข้าพระองค์ทั้งสอง ได้มาโดยยาก ต้องประพฤติดีมากมาย แล้วก็เพื่อ ประโยชน์สุข อันยิ่งของลูกน้อย ข้าพระองค์ทั้งสองตัดใจ ขอถวายลูกสุดที่รักคนนี้ ให้เป็นผู้คอยรับใช้ ของพระองค์ ผู้ทรงชนะ กิเลสมารได้แล้ว ทรงพระกรุณาช่วยรับไว้ด้วยเถิด"

พระศาสดาทรงพิจารณาแล้ว ด้วยญาณหยั่งรู้ยิ่ง จึงทรงรับภัททกุมารไว้ แล้วหันไปรับสั่งกับ พระอานนท์ว่า "จงรีบให้เด็กน้อยคนนี้ บรรพชา (บวชเณร) เถิด เพราะเด็กคนนี้ จะเป็นผู้รอบรู้ ได้รวดเร็วยิ่งนัก" ตรัสแล้ว พระศาสดาก็ทรงลุกขึ้น จากที่ประทับ เสด็จเข้าสู่พระคันธกุฎี (ที่พัก)

ส่วนพระอานนท์ ก็นำภัททกุมารไปบวชเณร ในวันนั้นทันที แล้วสั่งสอนบอกกล่าววิปัสสนา (การพิจารณษให้รู้แจ้ง ตามจริง) ให้โดยย่อ ด้วยผลบุญ ของสามเณรภัททะ ที่สะสมไว้ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอุปนิสัยที่จะนิพพาน (ดับกิเลสได้สิ้นเกลี้ยง) ได้บำเพ็ญวิปัสสนา เพียงชั่วครู่เดียว ยังไม่ทันที่ดวงอาทิตย์ จะตกดินในวันนั้น จิตของสามเณรภัททะ ก็หลุดพ้นจากอาสวะกิเลส (กิเลสที่หมักหมมในสันดาน) ทั้งปวง โดยสภาวะ ได้เป็นพระอรหันต์ องค์หนึ่งในโลกแล้ว

ครั้นพระศาสดาทรงออกจากสมาบัติ (สภาวะจิตสงบอันประณีตยิ่ง) เสด็จออกจากที่เร้น สามเณรภัททะ อยู่ที่หน้ากุฎีนั้นเอง พระศาสดาจึงรับสั่งขึ้นทันทีว่า "ภัททะ เธอจงเป็นภิกษุเถิด" คำตรัสของพระศาสดา เช่นนี้แหละ ได้ถือเป็นการอุปสมบท (บวชพระ) แก่สามเณรภัททะแล้ว เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา (พระพุทธเจ้าทรงบวชให้เอง โดยการอุปสมบทด้วยพระวาจา เพียงคำว่า จงเป็นภิกษุเถิด) พระภัททะเถระ จึงได้ประกาศอรหัตผลบ้างว่า "เราเกิดมาได้ เพียงแค่ ๗ ปีเท่านั้น ก็ได้อุปสมบทแล้ว สามารถทำจิตของเรา ให้หลุดพ้น จากกิเลสทั้งปวง ได้บรรลุวิชชา ๓ (คือ ๑.ปุพเพนิวาสานุสติญาณ=รู้ระลึกชาติได้ ๒.จุตูปปาตญาณ=รู้การเกิดและดับกิเลสของสัตวโลกได้ ๓.อาสวักขยญาณ=รู้ความหมดสิ้นไป ของกิเลสได้) น่าอัศจรรย์จริง ความที่ธรรมะเป็นธรรมดียิ่ง"

อยู่มาวันหนึ่ง พระภัททเถระกับพระอานนท์เถระ พักอยู่ที่กุกกุฏาราม ใกล้นครปาฏลิบุตร คราวนั้นพระภัททเถระ ออกจากที่เร้น ในเวลาเย็น เข้าไปหา พระอานนท์เถระ แล้วได้ถามปัญหา กับพระอานนท์เถระว่า

"ท่านอานนท์ ที่เรียกว่า อพรหมจรรย์นั้น เป็นไฉนหนอ?"

"อพรหมจรรย์ ก็คือ มิจฉามรรค (ทางที่ผิด) อันประกอบด้วยองค์ ๘ ได้แก่ ๑.มิจฉาทิฏฐิ (มีความคิดเห็นที่ผิด) ๒.มิจฉาสังกัปปะ (มีความไตร่ตรองที่ผิด) ๓.มิจฉาวาจา (มีการเจรจาที่ผิด) ๔.มิจฉากัมมันตะ (มีการงานที่ผิด) ๕.มิจฉาอาชีวะ (มีการเลี้ยงชีพที่ผิด) ๖.มิจฉาวายามะ (มีความพยายามที่ผิด) ๗.มิจฉาสติ (มีการระลึกที่ผิด) ๘.มิจฉาสมาธิ (มีความตั้งจิตมั่นที่ผิด)"

"ก็แล้ว พรหมจรรย์เป็นไฉนหนอ?"

"พรหมจรรย์ ก็คือ อริยมรรค (ทางที่ประเสริฐ) อันประกอบด้วยองค์ ๘ ได้แก่ ๑.สัมมาทิฏฐิ (มีความคิดเห็นที่ถูกตรง) ๒.สัมมาสังกัปปะ (มีความไตร่ตรองที่ถูกตรง ๓.สัมมาวาจา (มีการเจรจาที่ถูกตรง) ๔.สัมมากัมมันตะ (มีการงานที่ถูกตรง) ๕.สัมมาอาชีวะ (มีการเลี้ยงชีพที่ถูกตรง) ๖.สัมมาวายามะ (มีความพยายามที่ถูกตรง) ๗.สัมมาสติ (มีการระลึกที่ถูกตรง) ๘.สัมมาสมาธิ (มีความตั้งจิตมั่นที่ถูกตรง)"

"ที่สุดของพรหมจรรย์เล่าเป็นไฉน?"

"ความสิ้นราคะ(ความกำหนัด) โทสะ (ความโกรธ) โมหะ (ความหลงผิด) นี้เป็นที่สุดของ พรหมจรรย์"

"บุคคลพรหมจารีเป็นไฉน?"

"พรหมจารี ก็คือบุคคลผู้ประกอบด้วยอริยมรรค มีองค์ ๘ นั่นเอง"

"แล้วศีลที่เป็นกุศล ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้วนั้น มีพระประสงค์เพื่ออะไร?"

"ศีลที่เป็นกุศล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเพื่อประสงค์ให้เจริญสติปัฏฐาน ๔ คือ ๑.ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา (ความโลภ ) และโทมนัส (ความทุกข์เสียใจ) ในโลกไปเสีย ๒.ย่อมพิจารณเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มี ความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดความโลภ และความทุกข์เสียใจ ในโลกไปเสีย ๓.ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดความโลภ และความทุกข์เสียใจ ในโลกไปเสีย ๔.ย่อมพิจาณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดความโลภ และความทุกข์เสียใจ ในโลกไปเสีย"

"อะไรหนอ? เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรม (ธรรมที่ดีแท้ของคนดีที่มีสัมมาทิฏฐิ) เสื่อม"

"ก็เพราะไม่ได้กระทำให้มากในสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมจึงเสื่อม"

"แล้วอะไร? เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมไม่เสื่อม"

"เพราะได้กระทำให้มากในสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมจึงไม่เสื่อม"

"ถ้าพระผู้มีพระภาคเข้าเสด็จปรินิพพานแล้ว อะไรจะเป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่ทำให้ พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นาน หรือไม่ได้นานเล่า"

"ดีล่ะท่านภัททะ ท่านช่างคิด ช่างเฉียบแหลม ช่างไต่ถามได้เหมาะ เมื่อพระศาสนา เสด็จปรินิพพานแล้ว หากผู้ที่อยู่ในศาสนานี้ ได้กระทำให้มากในสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมจึงตั้งอยู่ได้นาน แต่ถ้าไม่กระทำให้มากในสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมก็จะตั้งอยู่ ไม่ได้นาน" พระภัททเถระ ยินดีพอใจยิ่ง ในคำเฉลย ได้แสดงความเคารพนอบน้อม แก่พระอานนท์เถระแล้ว


(พระไตรปิฎกเล่ม ๑๙ ข้อ ๕๖-๕๘,ข้อ ๗๖๗-๗๗๕

พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๓๖๓ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๒ หน้า ๒๕๔)


วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

พุทธศาสตร์การเมือง..ตอน..ปกครองด้วยธรรม

จิตอาสาเพื่อสังคมอุดมสุข


ผู้นำ ปกครอง ด้วยธรรม
ชูธรรม ใช้ธรรม เป็นใหญ่
จักรแก้ว เกิดแล้ว กำชัย
ราษฎร์ได้ สุขใจ จำเริญ

มีอยู่สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าองค์สมณโคดม ประทับอยู่ที่ เมืองมาตุลา ในแคว้นมคธ ได้ตรัสเล่าถึงเรื่อง การปกครองด้วยธรรมของพระเจ้าจักรพรรดิเอาไว้
เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้าจักรพรรดิ พระนามว่า ทัฬหเนมิ เป็นพระราชาผู้ทรงธรรม ครองราชย์โดยธรรม ปกครองแผ่นดิน กว้างใหญ่จรดมหาสมุทรทั้ง ๔ รบที่ใดชนะที่นั้น ทรงชนะโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาวุธ ก็ครอบครองแผ่นดินได้ จึงมีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ ด้วยแก้ว (สิ่งมีค่ามาก) ๗ ประการคือ ๑. จักรแก้ว (อำนาจธรรมของพระเจ้าจักรพรรดิ) ๒. ช้างแก้ว ๓. ม้าแก้ว ๔. มณีแก้ว ๕. นางแก้ว ๖. คหบดีแก้ว ๗. ปริณายกแก้ว
พระองค์ได้รับสั่งไว้กับราชบุรุษว่า
"วันใดท่านเห็นจักรแก้วอันเป็นทิพย์ ถอยเคลื่อนจากที่ตั้งเมื่อใดให้รีบบอกเราทันที"
แล้ววันคืนก็ผ่านไป...ยาวนาน กระทั่งวันหนึ่ง ราชบุรุษนั้นเข้าเฝ้าพระเจ้าทัฬหเนมิ กราบทูลว่า ขอเดชะพระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์ทรงทราบเถิด บัดนี้จักรแก้วของพระองค์ถอยเคลื่อนจากที่ตั้งแล้ว
ทรงทราบข่าวนี้ จึงตรัสเรียกพระราชโอรสองค์ใหญ่มารับสั่งว่า
"ลูกเอ๋ย จักรแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิพระองค์ใด หากเคลื่อนออกจากที่ตั้งแล้ว พระเจ้าจักรพรรดิพระองค์นั้น จะทรงพระชนม์อยู่ได้ไม่นาน บัดนี้เป็นเวลาที่พ่อจะออกบวชแล้ว ลูกจง ปกครองแผ่นดินนี้เถิด"
แล้วทรงสั่งสอนในเรื่องการครองราชย์จนเรียบร้อย จากนั้นได้เสด็จออกบวชเป็นฤาษี
ครั้นพระราชฤาษีผนวชได้ ๗ วันเท่านั้น พระราชาพระองค์ใหม่ได้เสด็จไปหาถึงที่ประทับ ทรงแสดงความเสียพระทัย ให้ปรากฏ กราบทูลว่า
ขอเดชะพระพุทธเจ้าข้า บัดนี้จักรแก้วอันเป็นทิพย์นั้นได้อันตรธานไปเสียแล้ว
พระราชฤาษีทรงสดับเช่นนั้น จึงทรงปลอบพระทัย
"อย่าเสียใจไปเลย เพราะจักรแก้วอันเป็นทิพย์ไม่ใช่สมบัติ ที่สืบต่อกันมา แต่เป็นสมบัติที่ต้อง กระทำเอง ขอให้พระองค์ประพฤติ จักกวัตติวัตร (ข้อปฏิบัติของพระเจ้าจักรพรรดิ) โดยรักษาอุโบสถ (ศีล ๘) ทุกวันอุโบสถ (วันพระ) ๑๕ ค่ำ แล้วจักรแก้วอันเป็นทิพย์จะมาปรากฏแด่พระองค์"
"ก็แล้วจักกวัตติวัตรอันประเสริฐนั้นเป็นไฉน พระเจ้าข้า"
"จงอาศัยธรรมเท่านั้น สักการะธรรม เคารพธรรม นับถือธรรม บูชาธรรม ยำเกรงธรรม มีธรรมเป็นธงชัย มีธรรมเป็นยอด มีธรรมเป็นใหญ่"
จงจัดการรักษา ป้องกันและคุ้มครองชนภายใน ไพร่พล กษัตริย์อนุยนต์ สมณะและพราหมณ์ คฤหบดี ชาวนิคม และชนบท สัตว์ทั้งหลาย อย่าให้อธรรมมีได้ในแว่นแคว้น
ถ้าบุคคลเหล่าใดในแว่นแคว้นไม่มีทรัพย์ พึงให้ทรัพย์แก่บุคคลเหล่านั้น
ถ้าสมณพราหมณ์เหล่าใดในแว่นแคว้น เว้นขาดจากความมัวเมาและความประมาท ตั้งมั่นอยู่ในขันติ (ความอดทน) และโสรัจจะ (ความเสงี่ยมเจียมตัวสำรวมกิริยาวาจา) ฝึกตน สงบตน ให้ตนดับกิเลส พึงเข้าไปหา สมณพราหมณ์ เหล่านั้น แล้วไต่ถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไร
ไม่ ควรเสพ กระทำอะไรอยู่ไม่เป็นประโยชน์ แต่เป็นทุกข์ตลอดกาล กระทำอะไรอยู่เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข ตลอดกาล เมื่อได้ฟังคำของสมณพราหมณ์เหล่านั้นแล้ว สิ่งใดเป็นอกุศล พึงละเว้นสิ่งนั้นเสีย สิ่งใดเป็นกุศล พึงยึดถือสิ่งนั้นเอาไปประพฤติ
นี้แลคือ จักกวัตติวัตรอันประเสริฐ
ทรงสดับอย่างนั้น พระราชาทรงนำเอา จักกวัตติวัตรไปประพฤติทุกประการ ในไม่ช้า จักรแก้วอันเป็นทิพย์ ก็ได้ปรากฏขึ้นแด่พระองค์ จึงทรงประคองจักรแก้วด้วยพระหัตถ์ขวา แล้วตรัสว่า
"จักรแก้วอันประเสริฐ จงหมุนแล่นไปเถิด จงชนะโลกทั้งปวงเถิด"
จักรแก้วนั้นก็หมุนไปทิศต่างๆ ไม่ว่าหมุนไปในทิศใด พระราชาพร้อมด้วยจาตุรงคินีเสนา (๑.พลช้าง ๒. พลม้า ๓. พลรถ ๔. พลเดินเท้า) ก็ติดตามไปยังทิศนั้นๆ
ส่วนกษัตริย์ทั้งหลายในทิศนั้นๆ ต่างก็ยอมแพ้ต่อพระราชาผู้ครองจักรแก้ว ยอมยกราช-อาณาจักรให้แต่โดยดี เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิได้ครองแผ่นดินอันกว้างใหญ่แล้ว ก็ทรงกล่าวกับกษัตริย์เหล่านั้นว่า
"พวกท่านไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงถือเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ไม่พึงประพฤติผิดในกาม ไม่พึงกล่าวเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา แล้วจงครองราช-สมบัติไปตามเดิมเถิด"
คราวนั้นเอง จักรแก้ว ได้ปราบปรามกษัตริย์ทั้งปวงอย่างราบคาบ พระเจ้าจักรพรรดินั้นได้ชนะอย่างวิเศษ ชนะด้วยธรรม โดยไม่ต้องใช้อาวุธเลย มีแผ่นดินกว้างใหญ่จรดมหามหาสมุทรทั้ง ๔ แล้ว พระองค์ ทรงมีจักรแก้ว ปรากฏอยู่ เหมือนเครื่องประดับ อันทรงคุณค่ายิ่ง ทำให้สว่างไสวไปทั่วพระราชวัง
กาลเวลาผ่านไปยาวนานหลายพันปี...กระทั่งถึงสมัยของพระเจ้าจักรพรรดิองค์ ที่ ๗ จักรแก้วอันเป็นทิพย์ ได้ถอยเคลื่อนจากที่ตั้ง พระเจ้าจักรพรรดิก็ทรงออกผนวชเป็นฤาษี มอบราชสมบัติให้พระราชโอรสองค์ใหญ่
พอผนวชได้ ๗ วัน จักรแก้วก็อันตรธานไป พระราชาองค์ใหม่ทรงเสียพระทัย แต่ไม่ได้เสด็จไปเฝ้าพระราชฤาษี ทรงปกครองบ้านเมือง ไปตามความคิดเห็นของพระองค์เอง ประชาชนไม่มีความสุขความเจริญ เหมือนพระราชา พระองค์ก่อน ซึ่งทรงประพฤติในจักกวัตติวัตร อันประเสริฐ
บรรดาผู้คนทั้งหมดจึงพากันประชุม กราบทูลพระราชาว่า
"พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้พระองค์ทรงปกครองประชาชนตามความคิดเห็นของพระองค์เอง บ้านเมืองไม่เจริญ เช่นกษัตริย์พระองค์ก่อนๆ ซึ่งทรงประพฤติในจักกวัตติวัตร พวกข้าพระองค์อันได้แก่ อำมาตย์ ข้าราชบริพาร โหราจารย์ แม่ทัพ นายกอง คนรักษาประตูเมือง คนเลี้ยงชีพ อยู่พร้อมในที่นี้แล้ว จำจักกวัตติวัตร อันประเสริฐนั้นได้อยู่ ขอพระองค์โปรดตรัสเถิด พวกข้าพระพุทธเจ้า จะทูลถวายแด่พระองค์"
พระราชาก็ทรงสอบถาม พวกเขาจึงกราบทูลให้ทรงทราบทั้งหมด พระราชาก็ทรงนำไปใช้ โดยรับสั่ง ให้จัดการรักษา ป้องกันและคุ้มครองประชาชนโดยธรรม แต่ไม่ได้พระราชทานทรัพย์ แก่คนยากจน ความขัดสน จึงกระจายแพร่หลาย เกิดการลักขโมยกัน มีชายคนหนึ่ง ถูกจับได้ว่าขโมย โดนนำตัว ไปถวายพระราชา พระองค์ทรงถามว่า
"เจ้าขโมยของผู้อื่นจริงหรือไม่"
"จริง พระเจ้าข้า"
"เพราะเหตุไรเล่า"
"เพราะข้าพระองค์ไม่มีอะไรจะเลี้ยงชีพ"
พระราชาทรงสงสาร พระราชทานทรัพย์แก่เขา แล้วรับสั่งว่า
"เจ้าจงนำทรัพย์นี้ไปเลี้ยงชีวิตตน เลี้ยงดูบิดามารดา บุตร ภรรยา จงประกอบการงานสุจริต จงรู้จักทำบุญ ในสมณพราหมณ์ อันมีผลเกื้อกูลแก่สวรรค์ มีสุขเป็นผลเถิด"
แม้ขโมยคนอื่นๆ โดนจับมา พระราชาก็ ทรงพระราชทานทรัพย์ให้ แล้วทรงสอนเขาให้ประพฤติสุจริต เหตุการณ์ดังนี้ ทำให้คนทั้งหลาย เกิดความคิดว่า
"คนขโมยได้พระราชทานทรัพย์ ถ้าอย่างนั้นแม้เราก็ควรเป็นขโมยบ้าง"
ขโมยจึงยิ่งเพิ่มมากขึ้นเมื่อเป็นอย่างนี้ พระราชาจึงทรงดำริใหม่ว่า
"ถ้าเราให้ทรัพย์แก่คนขโมย การทำผิดศีลลักขโมยก็ทวีมากขึ้น อย่ากระนั้นเลย เราจะให้คุมตัวขโมย อย่างแข็งขัน แล้วนำไป ประหารชีวิตเสีย"
จึงรับสั่งให้ราชบุรุษกระทำตามนั้น พวกหัวขโมยทั้งหลายเจอเหตุการณ์เช่นนี้ ก็พากันคิดว่า
"เพียงแค่ลักขโมยของผู้อื่น ก็ถูกประหาร ชีวิตเสียแล้ว ถ้าอย่างนั้นพวกเราควรมีอาวุธไว้ใช้"
คราวนี้พอขโมยของจากเจ้าทรัพย์แล้ว ก็เลยฆ่าเจ้าทรัพย์ด้วย กลายเป็นโจรปล้นชาวบ้าน ปล้นตามถนนหนทาง ลุกลามไปถึง ปล้นชุมชน ปล้นนิคม กระทั่งปล้นพระนคร เข่นฆ่าประชาชนทั้งหลาย
เหตุการณ์เลวร้ายจึงเกิดขึ้นเป็นลำดับ คือ
-พระราชาไม่พระราชทานทรัพย์แก่คนยากไร้ ความขัดสน จึงแพร่หลาย
-การปล้นฆ่า (ปาณาติบาต) จึงแพร่หลาย
-การโกหก (มุสาวาท) กันจึงแพร่หลาย
-การพูดส่อเสียด (ปิสุณาวาจา) จึงแพร่หลาย
-การคบชู้ ประพฤติผิดในกาม (กาเมสุมิจฉาจาร) จึงแพร่หลาย
-การด่าทอพูดคำหยาบ (ผสุสวาจา) จึงแพร่หลาย
-การพูดเพ้อเจ้อ (สัมผัปปลาปะ) จึงแพร่หลาย
-ความเพ่งเล็งอยากได้ (อภิชฌา) จึงแพร่หลาย
-ความพยาบาทปองร้าย (พยาปาท) จึงแพร่หลาย
-ความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) จึงแพร่หลาย
-ความกำหนัดที่วิปริตผิดธรรม (อธัมมราคะ) จึงแพร่หลาย
-ความละโมบโลภจัด (วิสมโลภะ) จึงแพร่หลาย
-ความประพฤติธรรมที่ผิด (มิจฉาธรรม) จึงแพร่หลาย
-การปฏิบัติผิดต่อบิดามารดา การปฏิบัติผิด ต่อสมณพราหมณ์ และการไม่อ่อนน้อม ต่อผู้ใหญ่ในตระกูล จึงแพร่หลาย

เมื่อสิ่งเหล่านี้แพร่หลายในยุคใด ประชาชนในยุคนั้นจะมีอายุสั้น มีผิวพรรณทราม ชายหญิงจะสมสู่ ปะปนกันหมด เป็นเสมือนแพะ ไก่ หมู หมา ฯลฯ แล้วจะมีความโกรธกันรุนแรง อาฆาตมาดร้ายจัด มองเห็น คนเป็นสัตว์ ใช้อาวุธห้ำหั่นฆ่ากันเอง เป็นมิคสัญญี (ยุคที่มีแต่รบราฆ่าฟันกัน) แต่...ยังมีมนุษย์บางกลุ่ม เกิดความคิดว่า
"พวกเราอย่าฆ่าใครๆ เลย ใครๆ ก็อย่าฆ่าเรา"
พวกเขาเหล่านี้พากันไปหลบอยู่ตามป่าเขาหรือเกาะ อาศัยผลไม้ และรากไม้ในป่าเป็นอาหารเลี้ยงชีพ กระทั่งพ้น ๗ วันไปแล้ว จึงพากันออกมาจากที่ซ่อน พอได้พบเห็นกันเข้า ก็ดีใจ ต่างสวมกอดกันและกัน ละล่ำละลัก กล่าวว่า
ท่านผู้เจริญ เราได้พบเห็นกันแล้ว ท่านยังมีชีวิตอยู่
แล้วพากันปรึกษาร่วมกัน สรุปได้ว่า
"พวกเราต้องสูญเสียสิ้นญาติมากมาย ก็เพราะไปยึดถืออกุศลธรรม (กิเลสชั่ว) เป็นเหตุ อย่ากระนั้นเลย พวกเราควร ประพฤติกุศล (การชำระกิเลส) ควรถือศีล (ข้อปฏิบัติเว้นจากความชั่ว) ยึดถือในกุศลธรรม ทั้งหลายเถิด"
ทั้งหมดจึงพากันประพฤติธรรมตามนั้น ทำให้อายุยืนมากขึ้น ผิวพรรณผ่องใส ยิ่งกาลเวลาผ่านไปยาวนาน ประชาชน ผู้ประพฤติในกุศลธรรมในยุคต่อๆ มา ก็ยิ่งความสุขความเจริญมากขึ้น
จนกระทั่งถึง ยุคสมัยของพระเจ้าสังขะ ผู้ ทรงธรรม มีกรุงเกตุมดีเป็นเมืองหลวง ที่มั่งคั่งสมบูรณ์ พลเมืองมากมาย พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ พระองค์ทรงปกครองโดยธรรม ทรงชนะโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาวุธ ก็ได้ครอบครอง ราชอาณาจักกว้างใหญ่ มีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็น ขอบเขต เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ สมบูรณ์ พรั่งพร้อมด้วยแก้ว ๗ ประการ
ในยุคกาลนั้นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า เมตไตรย จะเสด็จอุบัติขึ้นในโลก แล้วพระเจ้าสังขะ ก็จะทรงบำเพ็ญทานแก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพกและยาจกทั้งหลาย จะเสด็จออกบวช เป็นบรรพชิต ในสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผนวชแล้วไม่นาน มีความเพียรในธรรม ไม่ประมาท ก็ทำที่สุดแห่งพรหมจรรย์ (นิพพาน) ได้
................
สุดท้าย เมื่อตรัสจบการปกครองด้วยธรรม ของพระเจ้าจักรพรรดิแล้ว พระพุทธเจ้าองค์ สมณโคดมทรงสรุปว่า
"จงมีธรรมเป็นเกาะ
มีธรรมเป็นที่พึ่ง
อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่"


พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๑ "จักกวัตติสูตร"ข้อ ๓๓ -๔๙










เครื่องหมายของ Facebook

ShareThis

ป้ายกำกับ

Powered By Blogger

ค้นหาบล็อกนี้

พระธรรมาภิวัฒน์'s space

เพื่อชีวิตจิตสำนึกที่ดีงาม

ผู้ติดตาม

Network