ผู้นำ ปกครอง ด้วยธรรม
ชูธรรม ใช้ธรรม เป็นใหญ่
จักรแก้ว เกิดแล้ว กำชัย
ราษฎร์ได้ สุขใจ จำเริญ
มีอยู่สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าองค์สมณโคดม ประทับอยู่ที่ เมืองมาตุลา ในแคว้นมคธ ได้ตรัสเล่าถึงเรื่อง การปกครองด้วยธรรมของพระเจ้าจักรพรรดิเอาไว้
เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้าจักรพรรดิ พระนามว่า ทัฬหเนมิ เป็นพระราชาผู้ทรงธรรม ครองราชย์โดยธรรม ปกครองแผ่นดิน กว้างใหญ่จรดมหาสมุทรทั้ง ๔ รบที่ใดชนะที่นั้น ทรงชนะโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาวุธ ก็ครอบครองแผ่นดินได้ จึงมีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ ด้วยแก้ว (สิ่งมีค่ามาก) ๗ ประการคือ ๑. จักรแก้ว (อำนาจธรรมของพระเจ้าจักรพรรดิ) ๒. ช้างแก้ว ๓. ม้าแก้ว ๔. มณีแก้ว ๕. นางแก้ว ๖. คหบดีแก้ว ๗. ปริณายกแก้ว
พระองค์ได้รับสั่งไว้กับราชบุรุษว่า
"วันใดท่านเห็นจักรแก้วอันเป็นทิพย์ ถอยเคลื่อนจากที่ตั้งเมื่อใดให้รีบบอกเราทันที"
แล้ววันคืนก็ผ่านไป...ยาวนาน กระทั่งวันหนึ่ง ราชบุรุษนั้นเข้าเฝ้าพระเจ้าทัฬหเนมิ กราบทูลว่า ขอเดชะพระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์ทรงทราบเถิด บัดนี้จักรแก้วของพระองค์ถอยเคลื่อนจากที่ตั้งแล้ว
ทรงทราบข่าวนี้ จึงตรัสเรียกพระราชโอรสองค์ใหญ่มารับสั่งว่า
"ลูกเอ๋ย จักรแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิพระองค์ใด หากเคลื่อนออกจากที่ตั้งแล้ว พระเจ้าจักรพรรดิพระองค์นั้น จะทรงพระชนม์อยู่ได้ไม่นาน บัดนี้เป็นเวลาที่พ่อจะออกบวชแล้ว ลูกจง ปกครองแผ่นดินนี้เถิด"
แล้วทรงสั่งสอนในเรื่องการครองราชย์จนเรียบร้อย จากนั้นได้เสด็จออกบวชเป็นฤาษี
ครั้นพระราชฤาษีผนวชได้ ๗ วันเท่านั้น พระราชาพระองค์ใหม่ได้เสด็จไปหาถึงที่ประทับ ทรงแสดงความเสียพระทัย ให้ปรากฏ กราบทูลว่า
ขอเดชะพระพุทธเจ้าข้า บัดนี้จักรแก้วอันเป็นทิพย์นั้นได้อันตรธานไปเสียแล้ว
พระราชฤาษีทรงสดับเช่นนั้น จึงทรงปลอบพระทัย
"อย่าเสียใจไปเลย เพราะจักรแก้วอันเป็นทิพย์ไม่ใช่สมบัติ ที่สืบต่อกันมา แต่เป็นสมบัติที่ต้อง กระทำเอง ขอให้พระองค์ประพฤติ จักกวัตติวัตร (ข้อปฏิบัติของพระเจ้าจักรพรรดิ) โดยรักษาอุโบสถ (ศีล ๘) ทุกวันอุโบสถ (วันพระ) ๑๕ ค่ำ แล้วจักรแก้วอันเป็นทิพย์จะมาปรากฏแด่พระองค์"
"ก็แล้วจักกวัตติวัตรอันประเสริฐนั้นเป็นไฉน พระเจ้าข้า"
"จงอาศัยธรรมเท่านั้น สักการะธรรม เคารพธรรม นับถือธรรม บูชาธรรม ยำเกรงธรรม มีธรรมเป็นธงชัย มีธรรมเป็นยอด มีธรรมเป็นใหญ่"
จงจัดการรักษา ป้องกันและคุ้มครองชนภายใน ไพร่พล กษัตริย์อนุยนต์ สมณะและพราหมณ์ คฤหบดี ชาวนิคม และชนบท สัตว์ทั้งหลาย อย่าให้อธรรมมีได้ในแว่นแคว้น
ถ้าบุคคลเหล่าใดในแว่นแคว้นไม่มีทรัพย์ พึงให้ทรัพย์แก่บุคคลเหล่านั้น
ถ้าสมณพราหมณ์เหล่าใดในแว่นแคว้น เว้นขาดจากความมัวเมาและความประมาท ตั้งมั่นอยู่ในขันติ (ความอดทน) และโสรัจจะ (ความเสงี่ยมเจียมตัวสำรวมกิริยาวาจา) ฝึกตน สงบตน ให้ตนดับกิเลส พึงเข้าไปหา สมณพราหมณ์ เหล่านั้น แล้วไต่ถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไร
ไม่ ควรเสพ กระทำอะไรอยู่ไม่เป็นประโยชน์ แต่เป็นทุกข์ตลอดกาล กระทำอะไรอยู่เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข ตลอดกาล เมื่อได้ฟังคำของสมณพราหมณ์เหล่านั้นแล้ว สิ่งใดเป็นอกุศล พึงละเว้นสิ่งนั้นเสีย สิ่งใดเป็นกุศล พึงยึดถือสิ่งนั้นเอาไปประพฤติ
นี้แลคือ จักกวัตติวัตรอันประเสริฐ
ทรงสดับอย่างนั้น พระราชาทรงนำเอา จักกวัตติวัตรไปประพฤติทุกประการ ในไม่ช้า จักรแก้วอันเป็นทิพย์ ก็ได้ปรากฏขึ้นแด่พระองค์ จึงทรงประคองจักรแก้วด้วยพระหัตถ์ขวา แล้วตรัสว่า
"จักรแก้วอันประเสริฐ จงหมุนแล่นไปเถิด จงชนะโลกทั้งปวงเถิด"
จักรแก้วนั้นก็หมุนไปทิศต่างๆ ไม่ว่าหมุนไปในทิศใด พระราชาพร้อมด้วยจาตุรงคินีเสนา (๑.พลช้าง ๒. พลม้า ๓. พลรถ ๔. พลเดินเท้า) ก็ติดตามไปยังทิศนั้นๆ
ส่วนกษัตริย์ทั้งหลายในทิศนั้นๆ ต่างก็ยอมแพ้ต่อพระราชาผู้ครองจักรแก้ว ยอมยกราช-อาณาจักรให้แต่โดยดี เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิได้ครองแผ่นดินอันกว้างใหญ่แล้ว ก็ทรงกล่าวกับกษัตริย์เหล่านั้นว่า
"พวกท่านไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงถือเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ไม่พึงประพฤติผิดในกาม ไม่พึงกล่าวเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา แล้วจงครองราช-สมบัติไปตามเดิมเถิด"
คราวนั้นเอง จักรแก้ว ได้ปราบปรามกษัตริย์ทั้งปวงอย่างราบคาบ พระเจ้าจักรพรรดินั้นได้ชนะอย่างวิเศษ ชนะด้วยธรรม โดยไม่ต้องใช้อาวุธเลย มีแผ่นดินกว้างใหญ่จรดมหามหาสมุทรทั้ง ๔ แล้ว พระองค์ ทรงมีจักรแก้ว ปรากฏอยู่ เหมือนเครื่องประดับ อันทรงคุณค่ายิ่ง ทำให้สว่างไสวไปทั่วพระราชวัง
กาลเวลาผ่านไปยาวนานหลายพันปี...กระทั่งถึงสมัยของพระเจ้าจักรพรรดิองค์ ที่ ๗ จักรแก้วอันเป็นทิพย์ ได้ถอยเคลื่อนจากที่ตั้ง พระเจ้าจักรพรรดิก็ทรงออกผนวชเป็นฤาษี มอบราชสมบัติให้พระราชโอรสองค์ใหญ่
พอผนวชได้ ๗ วัน จักรแก้วก็อันตรธานไป พระราชาองค์ใหม่ทรงเสียพระทัย แต่ไม่ได้เสด็จไปเฝ้าพระราชฤาษี ทรงปกครองบ้านเมือง ไปตามความคิดเห็นของพระองค์เอง ประชาชนไม่มีความสุขความเจริญ เหมือนพระราชา พระองค์ก่อน ซึ่งทรงประพฤติในจักกวัตติวัตร อันประเสริฐ
บรรดาผู้คนทั้งหมดจึงพากันประชุม กราบทูลพระราชาว่า
"พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้พระองค์ทรงปกครองประชาชนตามความคิดเห็นของพระองค์เอง บ้านเมืองไม่เจริญ เช่นกษัตริย์พระองค์ก่อนๆ ซึ่งทรงประพฤติในจักกวัตติวัตร พวกข้าพระองค์อันได้แก่ อำมาตย์ ข้าราชบริพาร โหราจารย์ แม่ทัพ นายกอง คนรักษาประตูเมือง คนเลี้ยงชีพ อยู่พร้อมในที่นี้แล้ว จำจักกวัตติวัตร อันประเสริฐนั้นได้อยู่ ขอพระองค์โปรดตรัสเถิด พวกข้าพระพุทธเจ้า จะทูลถวายแด่พระองค์"
พระราชาก็ทรงสอบถาม พวกเขาจึงกราบทูลให้ทรงทราบทั้งหมด พระราชาก็ทรงนำไปใช้ โดยรับสั่ง ให้จัดการรักษา ป้องกันและคุ้มครองประชาชนโดยธรรม แต่ไม่ได้พระราชทานทรัพย์ แก่คนยากจน ความขัดสน จึงกระจายแพร่หลาย เกิดการลักขโมยกัน มีชายคนหนึ่ง ถูกจับได้ว่าขโมย โดนนำตัว ไปถวายพระราชา พระองค์ทรงถามว่า
"เจ้าขโมยของผู้อื่นจริงหรือไม่"
"จริง พระเจ้าข้า"
"เพราะเหตุไรเล่า"
"เพราะข้าพระองค์ไม่มีอะไรจะเลี้ยงชีพ"
พระราชาทรงสงสาร พระราชทานทรัพย์แก่เขา แล้วรับสั่งว่า
"เจ้าจงนำทรัพย์นี้ไปเลี้ยงชีวิตตน เลี้ยงดูบิดามารดา บุตร ภรรยา จงประกอบการงานสุจริต จงรู้จักทำบุญ ในสมณพราหมณ์ อันมีผลเกื้อกูลแก่สวรรค์ มีสุขเป็นผลเถิด"
แม้ขโมยคนอื่นๆ โดนจับมา พระราชาก็ ทรงพระราชทานทรัพย์ให้ แล้วทรงสอนเขาให้ประพฤติสุจริต เหตุการณ์ดังนี้ ทำให้คนทั้งหลาย เกิดความคิดว่า
"คนขโมยได้พระราชทานทรัพย์ ถ้าอย่างนั้นแม้เราก็ควรเป็นขโมยบ้าง"
ขโมยจึงยิ่งเพิ่มมากขึ้นเมื่อเป็นอย่างนี้ พระราชาจึงทรงดำริใหม่ว่า
"ถ้าเราให้ทรัพย์แก่คนขโมย การทำผิดศีลลักขโมยก็ทวีมากขึ้น อย่ากระนั้นเลย เราจะให้คุมตัวขโมย อย่างแข็งขัน แล้วนำไป ประหารชีวิตเสีย"
จึงรับสั่งให้ราชบุรุษกระทำตามนั้น พวกหัวขโมยทั้งหลายเจอเหตุการณ์เช่นนี้ ก็พากันคิดว่า
"เพียงแค่ลักขโมยของผู้อื่น ก็ถูกประหาร ชีวิตเสียแล้ว ถ้าอย่างนั้นพวกเราควรมีอาวุธไว้ใช้"
คราวนี้พอขโมยของจากเจ้าทรัพย์แล้ว ก็เลยฆ่าเจ้าทรัพย์ด้วย กลายเป็นโจรปล้นชาวบ้าน ปล้นตามถนนหนทาง ลุกลามไปถึง ปล้นชุมชน ปล้นนิคม กระทั่งปล้นพระนคร เข่นฆ่าประชาชนทั้งหลาย
เหตุการณ์เลวร้ายจึงเกิดขึ้นเป็นลำดับ คือ
-พระราชาไม่พระราชทานทรัพย์แก่คนยากไร้ ความขัดสน จึงแพร่หลาย
-การปล้นฆ่า (ปาณาติบาต) จึงแพร่หลาย
-การโกหก (มุสาวาท) กันจึงแพร่หลาย
-การพูดส่อเสียด (ปิสุณาวาจา) จึงแพร่หลาย
-การคบชู้ ประพฤติผิดในกาม (กาเมสุมิจฉาจาร) จึงแพร่หลาย
-การด่าทอพูดคำหยาบ (ผสุสวาจา) จึงแพร่หลาย
-การพูดเพ้อเจ้อ (สัมผัปปลาปะ) จึงแพร่หลาย
-ความเพ่งเล็งอยากได้ (อภิชฌา) จึงแพร่หลาย
-ความพยาบาทปองร้าย (พยาปาท) จึงแพร่หลาย
-ความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) จึงแพร่หลาย
-ความกำหนัดที่วิปริตผิดธรรม (อธัมมราคะ) จึงแพร่หลาย
-ความละโมบโลภจัด (วิสมโลภะ) จึงแพร่หลาย
-ความประพฤติธรรมที่ผิด (มิจฉาธรรม) จึงแพร่หลาย
-การปฏิบัติผิดต่อบิดามารดา การปฏิบัติผิด ต่อสมณพราหมณ์ และการไม่อ่อนน้อม ต่อผู้ใหญ่ในตระกูล จึงแพร่หลาย
เมื่อสิ่งเหล่านี้แพร่หลายในยุคใด ประชาชนในยุคนั้นจะมีอายุสั้น มีผิวพรรณทราม ชายหญิงจะสมสู่ ปะปนกันหมด เป็นเสมือนแพะ ไก่ หมู หมา ฯลฯ แล้วจะมีความโกรธกันรุนแรง อาฆาตมาดร้ายจัด มองเห็น คนเป็นสัตว์ ใช้อาวุธห้ำหั่นฆ่ากันเอง เป็นมิคสัญญี (ยุคที่มีแต่รบราฆ่าฟันกัน) แต่...ยังมีมนุษย์บางกลุ่ม เกิดความคิดว่า
"พวกเราอย่าฆ่าใครๆ เลย ใครๆ ก็อย่าฆ่าเรา"
พวกเขาเหล่านี้พากันไปหลบอยู่ตามป่าเขาหรือเกาะ อาศัยผลไม้ และรากไม้ในป่าเป็นอาหารเลี้ยงชีพ กระทั่งพ้น ๗ วันไปแล้ว จึงพากันออกมาจากที่ซ่อน พอได้พบเห็นกันเข้า ก็ดีใจ ต่างสวมกอดกันและกัน ละล่ำละลัก กล่าวว่า
ท่านผู้เจริญ เราได้พบเห็นกันแล้ว ท่านยังมีชีวิตอยู่
แล้วพากันปรึกษาร่วมกัน สรุปได้ว่า
"พวกเราต้องสูญเสียสิ้นญาติมากมาย ก็เพราะไปยึดถืออกุศลธรรม (กิเลสชั่ว) เป็นเหตุ อย่ากระนั้นเลย พวกเราควร ประพฤติกุศล (การชำระกิเลส) ควรถือศีล (ข้อปฏิบัติเว้นจากความชั่ว) ยึดถือในกุศลธรรม ทั้งหลายเถิด"
ทั้งหมดจึงพากันประพฤติธรรมตามนั้น ทำให้อายุยืนมากขึ้น ผิวพรรณผ่องใส ยิ่งกาลเวลาผ่านไปยาวนาน ประชาชน ผู้ประพฤติในกุศลธรรมในยุคต่อๆ มา ก็ยิ่งความสุขความเจริญมากขึ้น
จนกระทั่งถึง ยุคสมัยของพระเจ้าสังขะ ผู้ ทรงธรรม มีกรุงเกตุมดีเป็นเมืองหลวง ที่มั่งคั่งสมบูรณ์ พลเมืองมากมาย พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ พระองค์ทรงปกครองโดยธรรม ทรงชนะโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาวุธ ก็ได้ครอบครอง ราชอาณาจักกว้างใหญ่ มีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็น ขอบเขต เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ สมบูรณ์ พรั่งพร้อมด้วยแก้ว ๗ ประการ
ในยุคกาลนั้นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า เมตไตรย จะเสด็จอุบัติขึ้นในโลก แล้วพระเจ้าสังขะ ก็จะทรงบำเพ็ญทานแก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพกและยาจกทั้งหลาย จะเสด็จออกบวช เป็นบรรพชิต ในสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผนวชแล้วไม่นาน มีความเพียรในธรรม ไม่ประมาท ก็ทำที่สุดแห่งพรหมจรรย์ (นิพพาน) ได้
................
สุดท้าย เมื่อตรัสจบการปกครองด้วยธรรม ของพระเจ้าจักรพรรดิแล้ว พระพุทธเจ้าองค์ สมณโคดมทรงสรุปว่า
"จงมีธรรมเป็นเกาะ
มีธรรมเป็นที่พึ่ง
อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่"
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๑ "จักกวัตติสูตร"ข้อ ๓๓ -๔๙
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น