วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552

กว่าจะถึงอรหันต์..พระนันทาเถรี


ึจิตอาสาเพื่อสังคมอุดมสุข


ในอดีตชาติของพระนันทาเถรี (ในอรรถกถาใช้เป็นชื่อ สุนทรีนันทา) เคยสั่งสมบุญเอาไว้ ในสมัยของ พระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ผู้ทรงรู้แจ้งจบในธรรมทั้งปวง ทรงฉลาด ในวิธีแสดงธรรม ตรัสสอนให้สรรพสัตว์ เกิดดวงตาเห็นธรรม ทรงช่วยหมู่ชน ให้ข้ามพ้น วัฏฏสงสาร (การเวียน ว่ายตายเกิดอยู่กับกิเลส) ทรงทำให้เดียรถีย์ (นักบวชนอก พุทธศาสนา) กลับใจมาถือมั่นในศีล ๕ ศาสนาของพระองค์ ว่างเปล่าจาก พวกเดียรถีย์ งดงามไปด้วย พระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้เที่ยงแท้คงที่

ครั้งนั้น นางเกิดในตระกูลเศรษฐีที่มั่งคั่งร่ำรวย ในเมืองหงสวดี เป็นผู้เพียบพร้อม ด้วยความสุขสบาย ตั้งแต่เล็ก จนกระทั่งเติบโต เป็นสาวรุ่น ไม่ต้องพบพาน ความทุกข์ยาก ลำบากใดๆเลย

วันหนึ่ง นางมีโอกาสเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ได้ฟังพระธรรมเทศนา อันประกาศถึง ปรมัตถธรรม (สิ่งเป็นจริงที่มีประโยชน์สูงสุด คือนิพพาน) อย่างจับจิต จับใจยิ่งนัก บังเกิดความเลื่อมใสมาก จึงได้นิมนต์พระพุทธเจ้า พร้อมด้วยหมู่สงฆ์ ถวายมหาทาน ด้วยมือของตนเอง แล้วก้มลงกราบ ซบศีรษะลง จรดพื้น เอ่ยปากแสดงการอธิษฐาน (ตั้งจิต) อันแรงกล้า ต่อพระพุทธองค์ ว่ามุ่งมั่นปรารถนา ความเป็นผู้เลิศยอดกว่าใครๆ ในการมีฌาน (สภาวะสงบอันประณีตยิ่ง)

คราวนั้นเอง พระพุทธเจ้าองค์ปทุมุตตระ ทรงได้พยากรณ์ ด้วยญาณหยั่งรู้ในอนาคตว่า "ในอนาคต นับจากกัป (โลกวอดวายหนึ่งครั้ง) นี้ถึงกัปที่หนึ่งแสน พระพุทธเจ้าพระนามว่า โคดม จะอุบัติขึ้นในโลก เธอจะมีชื่อว่านันทา จะได้เป็นธรรมทายาท ของพระศาสดา พระองค์นั้น แล้วเธอจะได้ สมดังความปรารถนา ที่ตั้งจิตไว้ดีแล้วนั้น"

นางได้ฟังคำตรัสแล้ว มีใจยินดียิ่ง มีจิตเต็มเปี่ยมด้วยเมตตา บำรุงดูแล พระพุทธเจ้า และหมู่สงฆ์ทั้งหมด ด้วยปัจจัย (สิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตอยู่) ทั้งหลายจนตลอดชีวิต

ด้วยผลบุญแห่ง กุศลกรรมที่ทำดีไว้นั้น ทำให้ได้เกิดในสวรรค์ (สภาวะสุข ของผู้มี จิตใจสูง) ชั้นต่างๆ เมื่อได้กายใหม่เป็นมนุษย์ ก็เป็นอัครมเหสี ของพระเจ้า จอมจักรพรรดิ หรือพระเจ้าเอกราช มีความสุข ในที่ทุกสถานทั้ง เป็นเทวดาและมนุษย์ ไม่ว่าจะไปเกิด ในชาติใดๆ

เมื่อถึงชาติสุดท้าย ในสมัยของพระพุทธเจ้าองค์สมณโคดม นางได้เกิดเป็น พระธิดาของ พระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ กับพระนางมหาปชาบดีโคตมี ซึ่งเป็น พระน้านาง ของเจ้าชาย สิทธัตถะ และมีเจ้าชายนันทะ เป็นพระภาดา (พี่ชาย) นางได้ชื่อว่า นันทา ก็เพราะรูปโฉมงดงามยิ่งนัก มหาชนพากันชื่นชม สรรเสริญ ว่ามีความงาม ดังดวงอาทิตย์ ที่เจิดจ้า ในพระนครกบิลพัสดุ์นั้น นอกจาก พระนางยโสธรา ซึ่งเป็นพระสุณิสา (พี่สะใภ้) แล้ว นางเป็นสาวสวย ที่งามที่สุด ยิ่งกว่าสาวรุ่น คนใดทั้งปวง

ครั้นต่อมา เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงออกบวช ได้สำเร็จเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว บรรดา พระประยูรญาติ ใกล้ชิด พากันออกบวชหมด แม้แต่พระมหาปชาบดี ผู้เป็นพระมารดา พระยโสธรา ผู้เป็นพระสุณิสา เจ้าชายนันทะ ผู้เป็นพระภาดา (พี่ชาย) พระราหุล ผู้เป็นพระนัดดา (หลานชาย) เหลืออยู่แต่นางยังเป็นคฤหัสถ์อยู่ผู้เดียว

นางนึกถึงคำเตือนของพระมารดาที่ว่า "ลูกรัก เจ้าเกิดอยู่ในศากยสกุล เป็นน้องสาว ของพระพุทธองค์ กับพระนันทะ ก็เมื่อบัดนี้ในวัง ไม่มีนันทกุมารเสียแล้ว เจ้ายังจะอยู่ เพื่อประโยชน์อะไรเล่า รูปกาย แม้จะสวยสดงดงาม ก็มีความแก่เป็นจุดจบ กายนี้ บัณฑิตรู้กันดีว่า เป็นของไม่สะอาด เมื่อยังเจริญ แข็งแรง ก็มิได้มีโรค แต่บั้นปลาย ก็จะมีโรค เพราะชีวิตมีความตาย เป็นที่สุด แม้ร่างนี้ของลูก จะงาม จูงใจให้หลงใหล ยิ่งตกแต่งด้วย เครื่องประดับมากอย่าง ก็ยิ่งมีความงาม เปล่งปลั่ง เป็นที่นิยมยินดี ของสายตาทั้งหลาย เสมือนทรัพย์มีค่า ที่ชาวโลกพากันสรรเสริญบูชา แต่ไม่ช้านาน เท่าไรเลย ความชราก็เข้ามาย่ำยี ลูกรัก เจ้าจงละทิ้งพระราชวัง ละทิ้งรูปกาย ที่บัณฑิต ติเตียน แล้วมาประพฤติ พรหมจรรย์ เถิด"

ถึงจะหลงใหลในความงดงามอยู่ แต่นางก็ตัดสินใจ ทำตามคำตรัส ของพระมารดา จึงได้ออกบวช เป็นภิกษุณี ซึ่งออกบวชเพียงร่างกายเท่านั้น แต่จิตใจมิได้บวช ด้วยศรัทธา แท้จริง บวชเพราะ ปรารถนาอยู่ใกล้ชิด กับพระญาติสนิท มากกว่า

ครั้นบวชแล้ว เพราะความที่ยังติดสวย ติดงามนี่เอง นันทาภิกษุณี จึงถูกรบกวน ด้วยอารมณ์ ราคจริต (นิสัยรักสวยรักงาม) เสมอ ต้องระลึกถึงตัวเองอยู่ ด้วยการ เพ่งฌานให้มาก แต่ก็มิได้ ขวนขวาย ในการปฏิบัติธรรมนั้น แม้พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี จะกล่าวตักเตือนอยู่ก็ตาม อีกทั้งนันทาภิกษุณี ก็ไม่ยอมไปฟังธรรม จากพระพุทธองค์เลย ด้วยความเข้าใจว่า พระศาสดา ทรงตำหนิติเตียนรูป ทรงชี้แต่โทษของรูป ด้วยเหตุนี้เอง พระศาสดาจึงตรัสสั่ง พระมหาปชาบดีโคตมีเถรีว่า "ภิกษุณีทั้งหมด จงมารับโอวาท จากเรา ตามลำดับ ตามวาระของตน "

พอถึงวาระที่นันทาภิกษุณีต้องไปฟังธรรม ก็เลี่ยงส่งรูปอื่นไปแทนเสีย ทำให้พระศาสดา ต้องตรัสย้ำ กำชับอีกว่า "เมื่อถึงวาระฟังธรรมของรูปใด ภิกษุณีรูปนั้น พึงมาฟังธรรม ด้วยตนเอง ไม่พึงส่งรูปอื่นมาแทน" ทำให้นันทาภิกษุณี ไม่อาจละเมิดรับสั่ง ของพระศาสดาได้ ต้องปฏิบัติตามนั้น

วันหนึ่ง พระพุทธองค์ทอดพระเนตร เห็นใบหน้าของนันทาภิกษุณีแจ่มใส ดังดอกบัวบาน เมื่อมาฟังธรรม เป็นอุปนิสัยอันควร แก่การบรรลุธรรม จึงตรัสเนรมิตนางงามเลิศ คนหนึ่ง ทั้งน่าชื่นชม ทั้งน่าชอบใจ ให้ปรากฏในจิต ของนันทาภิกษุณี เสมือนปรากฏอยู่ เบื้องหน้าสายตา ฉะนั้น ด้วยอานุภาพแห่ง อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ของพระองค์

พอได้เห็นนางงามที่สวยพริ้งยิ่งกว่าตน นันทาภิกษุณี ถึงกับคิดเพ้อไปว่า "ดีจริงหนอ เป็นลาภแก่ดวงตา ของเราแล้วหนอ ที่ได้พบเห็นนางงามถึงปานนี้ เชิญเถิด แม่คนงาม เธอมีชื่อสกุลใด หากมีความประสงค์สิ่งใด จงบอกแก่ฉันเถิด ฉันจะให้"

"เวลานี้ยังไม่ใช่เวลาที่จะถามปัญหา ท่านจงให้ฉันนอนหนุนตัก ให้ฉันได้พักหลับ สักครู่ก่อน" ว่าแล้ว นางงามนั้น ก็เอาศีรษะพาดลงที่ตัก ของนันทาภิกษุณี หลับตาพริ้มอย่างเป็นสุข

ทันใดนั้นเอง.....หน้าผากของนางงามนั้น พลันพองโตขึ้น แล้วปรากฏของแข็ง ก้อนใหญ่ตกลง กระแทกหน้าผากอย่างแรง หน้าผากของนางงาม แตกดังโพละ ทั้งเลือดทั้งหนอง ไหลพรั่งพรูออกมา ส่งกลิ่นเหม็นเน่า คละคลุ้ง มีการบวมเขียว ลุกลามไปทั่วทั้งตัว กายสั่นเทิ้ม หายใจถี่ ได้รับทุกข์ ทรมาน ดิ้นทุรนทุรายอยู่ ขณะนั้น นันทาภิกษุณี ถึงกับสะดุ้ง แล้วกลับรำพัน อย่างสลดสังเวชใจว่า "แม่คนงาม ประสบทุกข์ ฉันก็พลอยมีทุกข์ จมอยู่ในมหาทุกข์ไปด้วย แม่คนงามที่เป็นที่พึ่ง ของฉัน บัดนี้ หน้าที่งดงามนั้น หายไปไหน จมูกโด่งงามนั้น หายไปไหน ริมฝีปากที่สวย เหมือนลูก มะพลับสุก หายไปไหน ลำคอคล้ายปล้องทองคำ หายไปไหน ใบหูดังพวงดอกไม้ สิ้นสีสันไปแล้ว ปทุมถัน คล้ายดอกบัวตูมแตกแล้ว มีกลิ่นเหม็น คล้ายศพเน่า เอวกลม ตะโพกผาย ของแม่คนงาม เต็มไปด้วย สิ่งชั่วถ่อยหนอ

โอ....รูปไม่เที่ยง อวัยวะทั้งหมดสกปรกน่ารังเกียจ น่ากลัวเหมือนซากศพ ที่ถูกทิ้งไว้ ในป่าช้า แต่ร่างกายนี้กลับเป็นที่ยินดีของพวกพาลชน (คนโง่เขลา)

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้อารมณ์จิต ของนันทาภิกษุณี ว่าเข้ากระแส สู่ความสังเวชแล้ว เกิดความเบื่อหน่ายในรูป จึงตรัสสอนว่า "ดูก่อนนันทา จงดูร่างกายอันกระสับกระส่าย ไม่สะอาด เปื่อยเน่า ดังซากศพ จงอบรมจิตให้ ตั้งมั่นด้วยดี มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ด้วยอสุภารมณ์ (อารมณ์ที่พิจารณา เห็นความไม่สวยไม่งาม) ร่างกายเรานี้ฉันใด ร่างกายท่าน ก็ฉันนั้น ร่างกายท่านฉันใด ร่างกายเรา ก็ฉันนั้น ร่างกายเป็นของเหม็นเน่า มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป พวกคนพาล ยินดียิ่งนัก แต่พวกบัณฑิต ย่อมพิจารณา เห็นร่างกายนี้ เป็นของสกปรก ท่านจงพิจารณา โดยไม่เกียจคร้านเถิด ทั้งกลางวันกลางคืน ก็จะเบื่อหน่าย ในรูปกายนี้ จะแทงตลอด เห็นด้วยปัญญาของตนได้"

ด้วยการตั้งใจและกระทำจิตให้แยบคาย พิจารณากาย เห็นเป็นอนิจจัง (ไม่เที่ยง) ทุกขัง (เป็นทุกข์) อนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน) ทำให้นันทาภิกษุณี เกิดญาณ (ความรู้จริง) ขึ้นแล้ว พระศาสดาจึงตรัส แสดงธรรมยิ่งขึ้นว่า "รูปกายนี้ตามธรรมดาแล้ว สร้างขึ้นให้เป็นนคร แห่งกระดูก มีเนื้อและเลือด ฉาบทาไว้ เป็นที่ ตั้งแห่งความชรา ความตาย ความถือดี และความลบหลู่" เมื่อจบคาถาธรรมนี้ พระนันทาเถรี มีจิตสว่างไสว ตั้งมั่นอยู่ในธรรม ได้บรรลุธรรม เป็นพระอรหันต์แล้ว จึงอุทานออกมาว่า

"เมื่อเราเป็นผู้ไม่ประมาท ค้นคว้าอยู่โดยอุบายอันแยบคาย จึงเห็นกายนี้ ทั้งภายใน และภายนอก ตามความเป็นจริง เราจึงเบื่อหน่ายในกาย คลายความกำหนัด ในภายใน ไม่เกาะเกี่ยว ในสิ่งใดๆ เป็นผู้สงบระงับ ดับสนิทแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในที่ไหนๆ ก็มีฌาน (สภาวะสงบ อันประณีตยิ่ง) อยู่ ตลอดเวลา"

พระศาสดาทรงพอพระทัย ในคุณสมบัตินั้น จึงทรงตั้งให้พระนันทาเถรี อยู่ในตำแหน่ง เอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยมพิเศษกว่าผู้อื่น ในทางใดทางหนึ่ง) ด้านชำนาญในฌานไว้แล้ว

(พระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่ม ๒๖ ข้อ ๔๔๒ พระไตรปิฎกฉบับ หลวงเล่ม ๓๓ ข้อ ๑๖๕

(พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯเล่ม ๓๓ หน้า ๔๗๗ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๔ หน้า ๑๓๖)




วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2552

กว่าจะถึงอรหันต์....ตอน..พระเขมาเถรี

จิตอาสาเพื่อสังคมอุดมสุข


สาวงาม แปรเปลี่ยน เป็นเฒ่า
เข้าเฝ้า ศาสดา ได้ผล
เบื่อหน่าย คลายกาม กายตน
หลุดพ้น พานพบ นิพพาน


ในอดีตชาติ แต่โบราณกาลนานมา แล้ว พระเขมาเถรี เคยเกิดอยู่ใน ตระกูลเศรษฐี รุ่งเรืองด้วยทรัพย์สมบัติ และแก้วมณี มีค่ามากมาย อาศัยอยู่ในกรุงหังสวดี เพียบพร้อมไปด้วยความสุข
มีอยู่คราวหนึ่ง ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ฟังธรรมเทศนาแล้ว เกิดความเลื่อมใส อย่างยิ่ง จึงขอยึดเป็นที่พึ่ง ในพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น แล้วนิมนต์พระพุทธเจ้า กับพระสาวกทั้งหลาย เพื่อทำบุญ ถวายทาน และอาหาร อันประณีต ตลอด ๗ วัน เลยทีเดียว
วันหนึ่งนางได้พบเห็น พระปทุมุตตรพุทธเจ้า ทรงตั้งภิกษุณีองค์หนึ่ง ให้เป็นผู้เลิศ ทางปัญญา ยิ่งกว่าภิกษุณีทั้งปวง จึงบังเกิดจิตยินดี ปรารถนาได้เป็นเช่นนั้นบ้าง ได้ตั้งจิตอธิษฐาน ไว้ในใจ แล้วหมอบลง กราบพระพุทธเจ้า
ทันใดนั้นพระพุทธเจ้าตรัสขึ้นว่า "ความปรารถนาเธอจะสำเร็จ สักการะบูชา ที่เธอทำแล้วแก่เรา พร้อมด้วย ภิกษุสงฆ์ จะมีผลมาก เธอจะได้เป็นผู้เลิศยอดด้วยปัญญา เป็นภิกษุณีชื่อ เขมา ในสมัยของพระพุทธเจ้า
พระนามว่า สมณโคดม"

นับจากชาตินั้นมา เพราะอำนาจผลบุญต่างๆ ที่ได้กระทำไว้ ทำให้นางไปเกิด ในชาติใดๆ ก็ได้เป็น พระอัครมเหสี ของพระราชา มีทรัพย์มาก มีความสุขสบายมาก
กระทั่งได้เกิดในสมัยของพระพุทธเจ้า พระนามว่า วิปัสสี มีโอกาสบวชอยู่ ในพระพุทธศาสนา ประพฤติพรหมจรรย์ ด้วยความเพียร เป็นพหูสูต (มีความรู้มาก) ฉลาดในปัจจยาการ (อาการที่เป็นเหตุ เป็นผลแก่กัน) คล่องแคล่วในอริยสัจ ๔ มีปัญญาละเอียดถี่ถ้วน แสดงธรรมไพเราะ ปฏิบัติตามสัตถุศาสน์ (พระพุทธพจน์)
ด้วยผลแห่งพรหมจรรย์ (ประพฤติ อริยมรรคองค์ ๘) นั้นนางได้ไปเกิดในชาติใด ก็เป็นผู้มีสมบัติมาก มีปัญญา รูปงาม มีบริวารเชื่อฟัง ไม่ว่าจะไปในที่ใด ก็ไม่มีใครๆดูหมิ่นเลย
ครั้นมาเกิดในสมัยของพระพุทธเจ้า พระนามว่า โกนาคมนะ นางได้ทำบุญมหาศาล ในกรุงพาราณสี ด้วยการถวายสังฆาราม แก่พระมุนี (นักบวชที่เข้าถึงธรรม) หลายพันรูป สร้างพระวิหาร ถวายแก่ พระพุทธเจ้า และหมู่สงฆ์
ต่อมา เมื่อได้มาเกิดในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ นางได้เป็น พระธิดาคนโตสุด ของพระเจ้ากาสี พระนามว่า กิกี ในกรุงพาราณสี ที่อุดมสมบูรณ์ ชาตินี้นางได้นามว่า สมณี
วันหนึ่ง มีโอกาสฟังธรรมของพระพุทธเจ้า แล้วบังเกิดความยินดีพอใจนัก จึงขอบวช แต่พระราชบิดา ไม่ทรงอนุญาต นางจึงประพฤติพรหมจรรย์ ตั้งแต่เป็นกุมารี (เด็กหญิงวัยรุ่น) ดำรงชีวิตอยู่ อย่างเป็นสุข คอยบำรุงดูแล แก่พระพุทธเจ้า และภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย
พอมาถึงยุคสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า สมณโคดม นางได้ชื่อว่า เขมา เพราะพอเกิดมาแล้ว ในราชสกุล แห่งกรุงสากละ แคว้นมัททะ ทำให้พระเจ้ามัททราช และชาวพระนคร มีแต่ความเกษม สำราญ ถ้วนหน้ากัน
เมื่อเติบโตเจริญวัยเป็นสาว ก็มีรูปสะสวยและผิวพรรณงดงาม ได้ไปเป็นพระเทวีของ พระเจ้าพิมพิสาร แห่งกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ผู้ซึ่งถวายพระราชอุทยานเวฬุวัน เป็นสังฆาราม แก่พระศาสดา
ด้วยเหตุที่ พระนางเขมา มีรูปร่างงาม เป็นที่โปรดปราน ของพระราชสวามี พระนางจึงยินดีพอใจ ในการบำรุง รูปโฉมให้งาม และไม่พอใจ ที่จะฟังคนกล่าวถึง รูปที่น่ารังเกียจ หรือโทษภัยต่างๆ ของรูป พระนางจึงไม่เสด็จไปเฝ้า พระศาสดาเลย เพราะเกรงว่าพระศาสดา จะแสดงโทษ ของรูปให้ฟัง
พระเจ้าพิมพิสารทรงเล็งเห็นเช่นนั้น จึงมีพระประสงค์ จะช่วยเหลือพระนางเขมา รับสั่งให้ เหล่านักร้อง แต่งเพลงขึ้น พรรณาถึงความงดงาม ของพระเวฬุวันมหาวิหาร แล้วขับกล่อม ให้พระนางฟัง กระทั่ง พระนางเขมา เคลิบเคลิ้มว่า "พระมหาวิหารนี้ เป็นที่ประทับของพระศาสดา ช่างน่ารื่นรมย์ งดงามยิ่งนัก เป็นดุจดั่ง นันทวันอันเป็นสวนสวรรค์ ของพระอินทร์ ที่น่าเพลินชมมิรู้เบื่อ ผู้ใดหากได้เห็น พระมหาวิหาร ก็เสมือนได้เห็น นันทวัน เฉกเช่นเดียวกัน"
พระนางจึงทูลขอเสด็จไปชมพระมหาวิหารนั้น พระเจ้าพิมพิสาร ทรงดีพระทัยนัก รีบตรัสว่า
"เชิญชม พระมหาวิหารเวฬุวันเถิด เป็นที่สวยงาม สงบเย็นตาเย็นใจยิ่ง เปล่งปลั่งด้วยรัศมี ของพระผู้มี พระภาคเจ้า อันงามด้วยคุณ-ความดีทุกสมัย"

แต่พระนางรีบทูลทันทีว่า
"ในเวลาที่พระศาสดาเสด็จบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ เมื่อนั้นหม่อมฉันจะเข้าไปชม พระมหาวิหาร เพคะ"

แล้วเช้าวันหนึ่ง...เมื่อเหล่าภิกษุบิณฑบาต อยู่ในพระนคร พระนางเขมาจึงเสด็จชม พระมหาวิหาร มวลดอกไม้ กำลังแย้มบาน หมู่แมลงผึ้งบินว่อน ตอมดอกไม้ เสียงนกดุเหว่าร่ำร้อง ดังเสียงเพลง ประสานกับ นกยูงรำแพนหาง ราวกับฟ้อนรำ สงบสงัดจากความพลุกพล่านอื่น พบเห็นแล้ว รื่นรมย์ เย็นใจด้วยกุฎี (ที่อยู่ของพระ) และ มณฑปต่างๆ
ขณะเพลิดเพลินเที่ยวชมอยู่นั้น พระนางเขมาได้เห็นภิกษุหนึ่ง บำเพ็ญเพียรอยู่ ทรงดำริในใจว่า
"ภิกษุรูปนี้ อยู่ในวัยรุ่นหนุ่ม รูปงาม แต่กลับโกนศีรษะโล้น ครองสังฆาฏิ นั่งอยู่ที่โคนไม้ ละความยินดี ที่เกิดจาก อารมณ์ทั้งปวง แล้วเจริญฌาน (สภาวะสงบ อันประณีตยิ่ง) อยู่ มาปฏิบัติในป่า เช่นนี้ ช่างเหมือน กับคนอยู่ในความมืด เพราะธรรมดาแล้ว คฤหัสถ์ควรบริโภคกาม อย่างมีความสุข พอแก่แล้ว จึงค่อย
ปฏิบัติธรรม ให้เจริญงอกงาม ในภายหลัง"

คิดอย่างโลกีย์แล้ว ก็เสด็จไปชมพระคันธกุฎี อันเป็นที่ประทับของพระศาสดา ด้วยคาดว่า คงจะว่างเปล่า ไม่มีผู้ใดอยู่ ในช่วงเวลานั้น แต่กลับปรากฏว่า.... ได้พบเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับสำราญอยู่ พระศาสดา ก็ทรงเห็นพระนางเขมาเทวีเสด็จมา จึงทรงเนรมิต หญิงงามดังเทพอัปสร (นางฟ้า) ถวายงานพัด แด่พระองค์
ฝ่ายพระนาง จำต้องเข้าเฝ้า แล้วบังเกิดความคิดขึ้นว่า
" พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงองอาจกว่าใครทั้งปวง มิได้มีความเศร้าหมองใดๆเลย ก็แล้วยังมีสาวงาม ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ดังทองคำ รูปร่าง สวยงดงาม ดูแล้วเป็นที่น่ายินดีพอใจนัก ยิ่งมองยิ่งชม ยิ่งไม่เบื่อตาเลย โอ...หญิงสาวนางนี้ ช่างรูปงามเหลือเกิน เราไม่เคยเห็นใครงาม เช่นนี้มาก่อนเลย

แต่...ขณะนั้นเอง สาวงามนั้นพลันมีสภาพเปลี่ยนไป กลายเป็นหญิงชรา ผิวพรรณเหี่ยว ย่นทั้งตัว ผมก็หงอกฟันก็หัก น้ำลายไหลยืด ตาขาวฝ้าฟาง หูตึง นมหย่อนยาน หลังงอกายซูบผอม ตัวสั่นงันงก แม้มีไม้เท้า ก็พยุงไม่ไหว ล้มลงกองอยู่ที่พื้นดิน แล้วหอบหายใจถี่ ประหนึ่งจะขาดใจตาย"
ความสังเวชใจที่ไม่เคยปรากฏแก่ พระนางเลยนั้น บัดนี้บังเกิดขึ้นแล้ว ทำให้พระนาง ขนลุกชูชัน เห็นในโทษ ของรูปกาย ที่พวกคนพาล (โง่เขลา) หลงยินดีกันอยู่
พระศาสดาทรงทราบวาระจิตของพระนางแล้ว จึงได้ตรัสด้วยพระกรุณาว่า
"ดูก่อนพระนางเขมา เชิญดูร่างกายอันกระสับกระส่าย ไม่สะอาด โสโครก มีของเหลว ไหลเข้า-ถ่ายออก ที่บรรดาคนพาลยินดีนัก

จงอบรมจิตให้เป็นสมาธิ (จิตตั้งมั่น) มีอารมณ์เดียว โดยอาศัยอสุภารมณ์ (อารมณ์ที่เห็น เป็นสภาพ น่ารังเกียจ) เถิด
  • จงมีกายคตาสติ (สติในการพิจารณากาย เพื่อลดละกิเลส)
  • รูปกายหญิงนี้ เป็นฉันใด รูปกายของเธอ ก็เป็นฉันนั้น
  • รูปกายของเธอเป็นฉันใด รูปกายของหญิงนี้ก็เป็นฉันนั้น
  • จงคลายความพอใจกายนี้ ทั้งภายในและภายนอกเสียเถิด
  • จงอบรมอนิมิตตวิโมกข์ (ความหลุดพ้นที่เกิดจากปัญญา พิจารณาเห็นนามรูป โดยความ เป็นอนิจจัง)
  • จงละมานานุสัย (ความถือตัว ที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน)เสีย แล้วเธอจะเป็นผู้สงบได้
เพราะคนใด ถูกความกำหนัดด้วยราคะ เกาะติดอยู่ ย่อมเป็นเสมือนแมงมุม เกาะติดใยที่ทำไว้เอง แต่ถ้า หากคนใด ตัดราคะให้ขาดเสีย ไม่มีความอาลัย ละกามสุขไป ย่อมหลุดพ้นได้"
พระศาสดาตรัสจบตรงนี้แล้ว ทรงรู้ว่า พระนางเขมาเทวี มีจิตควรแล้ว จึงทรงแสดง มหานิทานสูตร ว่าด้วยเรื่องของ ความเวียนตายวนเกิด เพราะวิญญาณและนามรูป เป็นปัจจัย ของกันและกัน กระทั่งตรัสถึง ความหลุดพ้น ด้วยสมาธิ และปัญญา
พระนางเขมาได้ฟังสูตรอันประเสริฐนี้แล้ว ระลึกถึงสัญญา (ความทรงจำ) แต่เก่าก่อน ได้บังเกิด ดวงตาเห็นธรรม ทันที ดังนั้น จึงหมอบลงที่แทบพระบาท ของพระศาสดา แสดงโทษของตนว่า
"ข้าแต่พระองค์ ผู้ทรงเห็นแจ้งในธรรมทั้งปวง ผู้มีพระมหากรุณาเป็นที่ตั้ง ผู้เสด็จข้ามสงสารแล้ว ผู้ประทานอมตธรรม หม่อมฉันขอถวาย นมัสการแด่พระองค์
หม่อมฉันเกิดจิตแล่นไป สู่ทิฐิอันรกชัฏ หลงใหลไป เพราะกามราคะ แต่พระองค์ทรงช่วยแนะนำ ด้วยอุบาย อันประเสริฐ หม่อมฉันขอ แสดงโทษ ที่มัวเมายินดี อยู่ในรูปกาย แล้วระแวงว่า พระองค์ไม่ทรงเกื้อกูล คนทั้งหลาย ที่ติดอยู่ในรูป จึงมิได้มาเข้าเฝ้าพระองค์ ผู้ทรงเกื้อกูลมาก ผู้ทรงประทานธรรม อันประเสริฐ หม่อมฉัน ขอแสดงโทษนั้น"
"สาธุ! พระนางเขมา จงลุกขึ้นมาเถิด"
พระนางก็กระทำตามนั้น แล้วประณมมือนมัสการด้วยเศียรเกล้า กระทำประทักษิณ (แสดงความเคารพ ด้วยการเดินเวียนขวา ตามเข็มนาฬิกา) พระองค์แล้ว ก็เสด็จกลับไปเฝ้า พระเจ้าพิมพิสาร กราบทูลว่า
"ข้าแต่ พระองค์ ผู้ทรงชนะข้าศึก น่าชมอุบาย อันเป็นกุศลยอดเยี่ยมนั้น ที่พระองค์ทรงดำริแล้ว ให้หม่อมฉัน ปรารถนาไปชม พระมหาวิหารเวฬุวัน ได้เข้าเฝ้าพระศาสดา บัดนี้ถ้าพระองค์ จะทรงพระกรุณา โปรดให้หม่อมฉัน ผู้เบื่อหน่ายในรูป ตามที่พระพุทธองค์ ตรัสสอนแล้ว ขอบวชอยู่ในพุทธศาสนานี้ เพคะ"

"ดูก่อนพระน้องนาง พี่อนุญาต บรรพชาจงสำเร็จแก่เธอเถิด"
เมื่อภิกษุณีเขมาบวชแล้ว ๗ เดือน ขณะบำเพ็ญเพียรอยู่นั้น วันหนึ่งเพ่งมองดูโคมไฟ ที่เดี๋ยวก็จุดสว่างไสว เดี๋ยวก็ดับวูบไป จึงบังเกิดจิตสังเวช พิจารณาเบื่อหน่าย ในสังขารทั้งปวง เข้าใจในปัจจยาการนั้น ข้ามพ้นโอฆะ ๔ (กิเลสที่ท่วมทับใจ หมู่สัตว์โลก คือ ๑. กาม ๒. ภพ ๓. ทิฎฐิ ๔. อวิชชา) ได้แล้ว บรรลุธรรม
เข้าสู่สภาพ อรหัตตผล ในทันทีนั้น

พระเขมาเถรีเป็นผู้มีความชำนาญในอภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทา ๔ ฉลาดในวิสุทธิทั้งหลาย (ความบริสุทธิ์ หมดจด ในศีล - ในจิต - ในทิฏฐิ) คล่องแคล่วในกถาวัตถุ (ถ้อยคำที่ควรพูด) รู้จักนัย (ข้อสำคัญ) แห่งอภิธรรม (ธรรมที่ก่อประโยชน์สูงสุด ที่ว่าด้วยจิต - เจตสิก - รูป - นิพพาน)
แล้ววันหนึ่ง...ขณะที่พระเขมาเถรีนั่งพักอยู่ บริเวณโคนไม้แห่งหนึ่ง มารผู้มีบาป (กามสัญญา) เข้ามา ดลจิตว่า
"แม่นางเขมาเอย เจ้าก็ยังเป็นสาวสะคราญ มีรูปโฉมงดงาม แม้หนุ่มๆวัยรุ่นทั้งหลาย ก็หมายร่วมอภิรมย์ด้วย จงไปเถิด ไปร่วมรื่นรมย์ เคล้าเสียงดนตรี ทั้งหลายกันเถิด"


พระเขมาเถรีมิได้หวั่นไหวแต่อย่างใดเลย ตอบโต้ด้วยอาการสงบเย็นว่า
" มาร...เราอึดอัดระอาในกายอันเปื่อยเน่า กระสับกระส่าย มีความแตกดับไป เป็นธรรมดานี้ เราถอน กามตัณหา ได้หมดแล้ว กามทั้งหลาย อุปมาดั่งหอก และหลาว ทิ่มแทงขันธ์ทั้งหลาย เอาไว้นั้น บัดนี้ ความยินดี ในกามทั้งสิ้น ไม่มีแก่เราแล้ว เรากำจัด ความเพลิดเพลิน ในสิ่งทั้งปวงแล้ว ทำลายกอง แห่งความมืดแล้ว

ดูก่อนมารใจบาป เจ้าจงรู้ไว้อย่างนี้ เรากำจัดเจ้าแล้ว เรามิใช่พวกคนพาล ที่ไม่รู้ความเป็นจริง พากัน กราบไหว้ ดวงดาว บูชาไฟอยู่ แล้วสำคัญว่า เป็นความบริสุทธิ์ แต่เรากราบไหว้บูชา ทำตามคำสั่งสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วจึงพ้น จากทุกข์ทั้งปวง เผากิเลสทั้งหลายสิ้น กิจในพระพุทธศาสนา เราได้กระทำเสร็จแล้ว"
มารมิอาจทำได้ดังปรารถนา จึงหายวับไปในทันใด
ต่อมา...พระเขมาเถรีเที่ยวจาริกไปในแคว้นโกศล แวะพักอยู่ที่โตรนวัตถุ(ค่าย) แห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ระหว่าง กรุงสาวัตถี กับเมืองสาเกต
ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปหาพระเขมาเถรีถึงที่พัก เพราะได้ยินชื่อเสียง อันฟุ้งขจรไป ของพระเถรีรูปนี้ว่า
"พระเขมาเถรีเป็นบัณฑิต เฉียบแหลม มีปัญญามาก เป็นพหูสูต มีถ้อยคำไพเราะ มีปฏิภาณดี"

พระองค์ได้ตรัสถามปัญหาว่า
"ข้าแต่แม่เจ้า เมื่อสัตวโลกตายแล้ว เบื้องหน้าย่อมเกิดอีก หรือไม่เกิดอีก หรือเกิดอีกก็มี และไม่เกิดอีกก็มี หรือ เกิดอีกก็มิใช่ และ ไม่เกิดอีกก็มิใช่"

"ขอถวายพระพร ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงพยากรณ์"
"ข้าแต่แม่เจ้า ก็แล้วอะไรเล่า เป็นเหตุสำคัญให้พระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ทรงพยากรณ์ปัญหาเหล่านี้"
"ขอถวายพระพร อาตมภาพขอถาม มหาบพิตรบ้าง มหาบพิตร มีนักคำนวณ นักประเมิน หรือ นักประมาณ ก็ตาม จะสามารถ คำนวณทราย ในแม่น้ำคงคาไหมว่า ทรายมีประมาณเท่านี้ ร้อยเม็ด...พันเม็ด... หมื่นเม็ด... แสนเม็ด.."
"ไม่มีนักคำนวณเช่นนั้นได้เลย แม่เจ้า"
"แล้วมหาบพิตร จะมีนักคำนวณ ซึ่งสามารถคำนวณน้ำในมหาสมุทรว่า น้ำมีอยู่เท่านี้ อาฬหกะ (มาตราตวง ชนิดหนึ่ง) ร้อย... พัน... หมื่น... แสนอาฬหกะ....."
"ไม่มีเลย แม่เจ้า"
"นั่นเพราะเหตุไรเล่า มหาบพิตร"
"เพราะมหาสมุทรเป็นของลึก ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้ยาก"
"ฉันนั้นแล มหาบพิตร การกำหนด ความเกิดของสัตว์โลกนั้น เป็นของลึก ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้ยาก ดุจมหาสมุทรฉันนั้น"
"พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพอพระทัย ในคำตอบยิ่งนัก อนุโมทนาภาษิตนั้น แล้วเสด็จลุกจากอาสนะ ไหว้พระเถรี ทรงกระทำประทักษิณ แล้วเสด็จจากไป
ต่อมา...พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วตรัสถามปัญหาเหล่านั้นอีก พระศาสดา ก็ทรงตอบ เช่นเดียวกับ พระเขมาเถรี ทำให้พระเจ้าปเสนทิโกศล ถึงกับทรงอุทานว่า
"อัศจรรย์จริง ไม่เคยมี พระเจ้าข้า ที่เนื้อความกับเนื้อความ พยัญชนะกับพยัญชนะ ของพระศาสดา กับพระเขมาเถรี ในการตอบปัญหานี้ เทียบเคียงกันได้ สมกันได้ ไม่ผิดเพี้ยนกัน ในบทที่สำคัญเลย น่าอัศจรรย์นัก"
พระศาสดาก็ทรงพอพระทัยในปัญญาของพระเถรีนี้ จึงทรงแต่งตั้ง พระเขมาเถรี ไว้ในตำแหน่ง เอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยมพิเศษ ในทางใดทางหนึ่ง)
"พระเขมาเถรี เป็นผู้เลิศด้วยปัญญามาก เหนือกว่าพวกภิกษุณีสาวิกาของเราทั้งปวง เป็นดังตราชู มาตรฐาน ของภิกษุณีสาวิกา ของเราทีเดียว"
(พระไตรปิฎกเล่ม ๑๘ ข้อ ๗๕๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๑๕๐,๓๗๖ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๔๕๓ พระไตรปิฎกเล่ม ๓๓ ข้อ ๑๕๘ อรรถกถาแปล เล่ม ๕๔ หน้า ๒๑๔)

วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ชาดกทันยุค อดีตชาติของพระพุทธเจ้า .. บ้านเมืองอาริยะ(หัตถิปาลชาดก).ตอนจบ)





จิตอาสาเพื่อสังคมอุดมสุข





   เช้าวันรุ่งขึ้น พราหมณ์ปุโรหิต นั่งขบคิดอยู่ที่เรือนของตนใน ที่สุดก็ตัดสินใจ ปรึกษากับนางพราหมณีว่า "ดูก่อน แม่วาเสฏฐิ ต้นไม้จะถูกเรียกชื่อว่าต้นไม้ได้ ก็เพราะมีกิ่งและใบ ส่วนต้นไม้ที่ไม่มีกิ่งและใบนั้น ชาวโลกเรียกว่า ตอไม้ ก็บัดนี้ลูกทั้ง๔ ของเราออกบวชกันหมดแล้ว เราเป็นผู้ไม่มีบุตร เหลือกันอยู่ตามลำพังเป็นเสมือน "มนุษย์ตอไม้" ถึงเวลาแล้วที่แม้เราก็จะออกบวชเช่นกัน"
จากนั้นปุโรหิตจึงเรียกพราหมณ์หมื่นหกพันคน มาประชุมกันแล้วกล่าวว่า "เราจะละทิ้งโลกียสุขอันเร่าร้อน จะไปบวชในสำนักของลูกชายเรา แล้วพวกท่านจะทำอย่างไรกันเล่า"
พราหมณ์เหล่านั้นตอบว่า "ท่านอาจารย์ นรกนั้นเป็นของร้อนเฉพาะตัวท่านผู้เดียวก็หาไม่ แม้พวกเราก็จะบวชตามท่านด้วย"
เมื่อเป็นดังนั้น พราหมณ์ปุโรหิตจึงยกทรัพย์สมบัติทั้ง ๘๐ โกฏ ิ(๘๐๐ล้าน) ให้แก่นางพราหมณีทั้งหมด แล้วพาพราหมณ์ ทั้งหลายมีแถวยาวประมาณโยชน์หนึ่ง ไปสู่ฝั่งแม่น้ำคงคา หัตถิปาลกุมาร จึงแสดงธรรมให้แก่พราหมณ์ทั้งหลายฟัง
ต่อมาในวันรุ่งขึ้น...นางพราหมณีได้คิดว่า "ลูกของเราตัดตาข่ายคือกามไปแล้ว ละทิ้งราชสมบัติ ออกบวช สามีของเราก็ทิ้งสมบัติ ๘๐ โกฏิพร้อมตำแหน่งปุโรหิต เพื่อออกบวช เหลืออยู่แต่เราผู้เดียว จะทำอะไรได้ ไฉนเราไม่ปฏิบัติตามลูก และสามีของเราเล่า"
เมื่อนางพราหมณีรู้แจ้งชัดอย่างนี้ จึงตกลงใจว่าจะออกบวช ดังนั้นจึงเรียกนางพราหมณีทั้งหลายมา บอกว่า "เธอทั้งหลาย เราจะออกบวชในสำนักของลูกชายเรา แล้วพวกเธอจะทำอย่างไรกันเล่า"
นางพราหมณีเหล่านั้นตอบว่า "ข้าแต่แม่เจ้า ถ้าท่านออกบวช พวกข้าพเจ้าก็จะบวชด้วย" นางพราหมณี จึงสละทรัพย์สมบัติทั้งหมด แจกจ่ายออกไป แล้วพาบริวารราวโยชน์หนึ่ง ไปยังฝั่งแม่น้ำคงคา หัตถิปาล กุมาร จึงแสดงธรรมให้ฟัง
วันรุ่งขึ้น...พระราชาเอสุการีได้ตรัสถามถึงพราหมณ์ปุโรหิต ราชบุรุษจึงกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ ท่านปุโรหิตและภรรยา ได้ละทิ้งสมบัติทั้งหมด แล้วพาบริวารของตน ไปยังสำนักของหัตถิปาลกุมาร แล้วพะยะค่ะ"
พระราชาทราบเรื่องแล้ว ทรงดำริว่า "ทรัพย์สมบัติที่ไม่มีเจ้าของปกครอง สมควรตกเป็นสมบัติของเรา" จึงสั่งให้ราชบุรุษ ไปขนเอาทรัพย์สมบัติ ที่เหลือจากเรือนของปุโรหิต มาเก็บไว้
เมื่อพระอัครมเหสีของพระราชาสดับข่าวนี้เข้า ทรงดำริขึ้นว่า "พระราชสวามีของเรานี้ ช่างหลงใหล งมงายนัก ไยไปขนเอาทรัพย์สมบัติ ที่เป็นประดุจคบเพลิง เป็นประดุจก้อนน้ำลาย ที่เขาบ้วนทิ้งแล้ว เอามาบรรจุไว้ในพระคลังหลวง เราจะทำให้พระราชาได้สติ ละทิ้งสมบัติเหล่านั้นไปเสีย"
พระอัครมเหสีจึงรับสั่งให้คนไปขนเอาเนื้อวัวและเนื้อสุนัข มากองไว้ที่หน้าพระลานหลวง แล้วขึงตาข่ายล้อมไว้โดยรอบ เมื่อบรรดานกแร้งพอเห็นเนื้อแต่ไกล ก็โผลงมาเพื่อจะกินเนื้อ หากแร้งตัวใดมีปัญญา ก็ได้คิดว่าเขาขึงตาข่ายดักไว้ ถ้ากินเนื้ออิ่ม แล้ว ร่างกายหนัก จะไม่อาจบินออกไปได้ ดังนั้นจึงคายสำรอกเนื้อออกมา แล้วบินขึ้นได้ ไม่ติดตาข่ายนั้น ส่วนแร้งตัวใดโง่เขลา พากันกินเนื้อเพลิดเพลินจนร่างกายหนัก ไม่อาจบินออกจากตาข่ายได้ ต้องติดอยู่กับตาข่ายนั้น ราชบุรุษก็จะจับแร้งเหล่านั้นมาถวาย พระอัครมเหสี พระนางจึงนำแร้งเหล่านั้น ไปให้พระราชาทอดพระเนตร แล้วทูลว่า "ขอเดชะ ขอเชิญพระองค์เสด็จไปทอดพระเนตร กิริยาของฝูงแร้ง ที่หน้าพระลานหลวงด้วยเถิด"
ขณะที่พระราชาทรงทอดพระเนตรอยู่นั้น พระอัครมเหสีกราบทูลว่า "แร้งฝูงนี้ ตัวใดกินเนื้อแล้ว ยอมสำรอกออกเสีย ก็จะบินหลุดออกจากตาข่ายได้ แต่แร้งตัวใดกินเนื้อแล้ว ไม่ยอมสำรอกออกมา ก็จะบินติดอยู่ในตาข่าย ตกอยู่ในเงื้อมมือของหม่อมฉัน ข้าแต่พระองค์ พราหมณ์ได้คายกามทั้งหลาย ออกทิ้งแล้ว ส่วนพระองค์กลับรับเอากามนั้นบริโภคอีก ผู้ใดบริโภคสิ่งที่ผู้อื่นคลายออกแล้ว เสมือนได้กลืนก้อนน้ำลายของผู้อื่น ไม่พึงได้รับคำสรรเสริญ"
พระราชาทรงสดับคำของพระนางแล้ว บังเกิดความสลดพระทัยยิ่งนัก ได้สติรู้สึกตัว จึงตรัสกับพระนางอย่างสำนึกผิดว่า "เปรียบเสมือนผู้มีกำลัง ช่วยฉุดผู้ทุพพลภาพ ให้ขึ้นมาจากเปือกตม ได้ฉันใด เธอก็ช่วยพยุงฉัน ให้ขึ้นมาจากกามได้ด้วยคำ สุภาษิตฉันนั้น และฉันก็ละอายแก่ใจจริงๆ จึงคิดว่าฉันจะสละราชสมบัติ ออกบวชเสียในวันนี้ทีเดียว"
จึงสั่งเรียกอำมาตย์ทั้งหลายมาเฝ้า แล้วตรัสว่า "เราจะไปบวชอยู่ในสำนัก ของหัตถิปาลกุมาร แล้ว พวกเจ้าจะทำอย่างไร" เหล่าอำมาตย์กราบทูลว่า "ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็จะบวชติดตามพระองค์ไป พระเจ้าข้า"
ดังนั้น พระเจ้าเอสุการี จึงทรงละทิ้งราชสมบัติ และรัฐสีมาถึง ๑๒ โยชน์ (๑๙๒ กม.) ทรงประกาศว่า "ผู้ใดต้องการราชสมบัติ จงมาขึ้นครองราชย์เถิด" แล้วเสด็จออกบรรพชา ดุจช้างตัวประเสริฐ สลัดเครื่องผูกให้ขาดไปได้ และนำหมู่อำมาตย์ ราชบริพารประมาณ ๓ โยชน์ (๔๙ กม.) เสด็จไปยังฝั่งแม่น้ำคงคา หัตถิปาลกุมารจึงแสดงธรรมให้ฟัง
ต่อมาวันรุ่งขึ้น...ประชาชนที่เหลืออยู่ในพระนคร ประชุมกันแล้ว ได้พากันไปยังประตูพระราชวัง ขอเข้าเฝ้ากราบทูลต่อ พระอัครมเหสีว่า ก็พระราชาผู้กล้าหาญประเสริฐสุด ทรงพอพระทัยในการบรรพชา ละรัฐสีมาไปแล้ว ขอพระนางทรงโปรดเป็นพระราชา แห่งข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระนางเจ้าโปรดเสวยราชสมบัติ เหมือนพระราชาเถิด
พระอัครมเหสีทรงสดับถ้อยคำของมหาชนแล้ว ได้ตรัสว่า "เมื่อพระราชาทรงเสด็จออกบรรพชาแล้ว แม้เราก็จะละกามทั้งหลายอันน่ารื่นรมย์ใจ เพราะเวลาย่อมล่วงเลย ไป ราตรีย่อมผ่านไป ช่วงแห่งวัยย่อมละลำดับไป เราจะเป็นผู้เย็นใจ ก้าวล่วงความข้องในกามทั้งปวง เที่ยวไปในโลก แต่ผู้เดียว ไม่มีกามเป็นเพื่อนสอง"
ตรัสดังนี้แล้ว พระนางรับสั่งให้เรียกภรรยาอำมาตย์ทั้งหลายเข้าเฝ้า แล้วตรัสถามว่า "เราจะออกบวช แล้วพวกเธอจะทำอย่างไรกัน" เหล่าภรรยาอำมาตย์ทูลตอบว่า "แม้พวกหม่อมฉัน ก็จะบวชตามเสด็จ ด้วยเพคะ"
พระอัครมเหสี จึงทรงรับสั่งให้จารึกพระสุพรรณบัฏ (แผ่นทองคำจารึกพระราชสาสน์ เป็นคำสั่ง) ว่า "ขุมทรัพย์ใหญ่ฝังไว้ในที่โน้นบ้าง ในที่นี้บ้าง ใครมีความต้องการ จงขนเอาทรัพย์ ที่เราพระราชทานไว้แล้วนี้ไปเถิด" แล้วผูกพระสุพรรณบัฏไว้ที่เสาต้นใหญ่ ให้พนักงานเปิดประตู พระคลังทอง และให้ตีกลอง ป่าวประกาศทั่วพระนคร จากนั้นพระนางทรงสละราชสมบัติ เสด็จไปสู่ฝั่งแม่น้ำคงคา
ขณะนั้นมหาชนพากันเดือดร้อนโกลาหล เพราะทั้งพระราชาและเทวี ทรงสละราชสมบัติออกบวชหมด ประชาชนทั้งหลาย จึงต่างพากันละทิ้งบ้านช่อง ทั้งคนจนและคนมั่งมี พากันจูงลูกหลาน ออกตามเสด็จพระเทวี บรรดาร้านรวงและตลาด จึงมีสิ่งของวางเกลื่อนกลาด แต่ไม่มีผู้ใดจะสนใจ เหลียวกลับมาดูเลย พระนครถึงกับกลายเป็นเมืองร้าง ปราศจากผู้คน ประชาชนติดตามพระ เทวีไปยาวประมาณถึง ๓ โยชน์ (๔๘ กม.) พอถึงแล้ว หัตถิปาลกุมาร ได้แสดงธรรม ให้ทั้งหมดได้รับฟังกัน จากนั้นจึงพามหาชนทั้งปวง มีประมาณถึง ๑๒ โยชน์ (๑๙๒ กม.) บ่ายหน้าไปสู่หิมวันตประเทศ
นครอื่นๆ ในแคว้นกาสิกรัฐ ซึ่งอยู่ใกล้ๆนั้น ชาวเมืองพากันลือกระฉ่อนไปว่า "หัตถิปาลกุมารพาผู้คน ๑๒ โยชน์ไปจากเมืองหมด จนทำให้นครพาราณสี ถึงกับรกร้างว่างเปล่า นำมหาชนออกบวชมุ่ง สู่หิมวันตประเทศ ฉะนั้นเราจะอยู่ไปไยในเมืองนี้"
จึงต่างพากันออกบวชตาม จนประชาชนเพิ่มถึง ๓๐ โยชน์ (๔๘๐ กม.) ในที่สุด หัตถิปาลกุมาร ก็พาผู้คนทั้งหลายมา จนถึงป่าหิมพานต์ แล้วบรรพชา เป็นฤาษี
หัตถิปาลฤาษีให้ช่วยกันจัดสร้างอาศรมขึ้น เป็นหมู่กลุ่ม โดยให้บรรดาหญิงแม่ลูกอ่อน และเด็กอยู่ตรงกลาง ถัดออกมา เป็นอาศรมของหญิงชรา ถัดออกมาอีก เป็นของหญิงวัยปานกลาง ส่วนชั้นนอกสุด เป็นอาศรมของเหล่าผู้ ชายทั้งหมด
เมื่อเป็นดังนี้ พระราชาในแคว้นอื่นๆ อีก ๖ แคว้น พอได้ทราบข่าวว่า นครพาราณสีไร้พระราชา ครองบัลลังก์แล้ว จึงต่าง เสด็จมาดูความจริง ได้ทอดพระเนตรเห็น กองแก้วแหวนเงินทอง เครื่องประดับตกแต่งอันมีค่ามากมาย เกลื่อนทั่ว จนต้องดำริขึ้นว่า" เหตุไฉนหนอ พระเจ้าเอสุการี ทรงสละละทิ้งพระนคร ที่มีสมบัติมากมายเยี่ยงนี้ไปได้ แล้วทรงออกบวช ชะรอยการ บรรพชานี้ จะต้องเป็นสิ่งมีคุณค่าอันโอฬารยิ่งใหญ่กว่าสมบัติ เหล่านี้เป็นแน่แท้"
พระราชาทั้งหลายจึงทรงสอบถามหนทาง แล้วเสด็จตามไปยังอาศรมของหัตถิปาลฤาษี ครั้นหัตถิปาลฤาษีทราบว่า พวก พระราชา เสด็จมาถึงแนวป่า จึงเดินทางออกไปต้อนรับ และแสดงธรรมให้พระราชาทั้งหลายฟัง
พระราชาทั้งหมด ๖ พระองค์ล้วนมีจิตยินดีในการออกบวช พากันสละราชสมบัติ เสด็จออกบรรพชาบ้าง อาศรมจึงกว้าง ไกลออกไป มีปริมณฑลได้ถึง ๓๖ โยชน์ (๕๗๖ กม.) เนืองแน่นไปด้วย มวลหมู่สังคมนักบวช
หากนักบวชรูปใดมีกามวิตกเกิด หัตถิปาลฤาษีก็จะแสดงธรรมให้ผู้นั้นพ้นทุกข์ไปได้ คำสั่งสอนต่างๆ มากมาย ของหัตถิปาลฤาษี ทำให้มหาชนเป็นอันมาก ปราศจากทุคติ คือ ไม่ดำเนินชีวิตชั่ว ไม่ไปสู่นรก คือความเร่าร้อนใจ ไม่กำเนิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน คือความมืดมัวโง่เขลา ไม่กำเนิดเป็นเปรต คือความหิวกระหายไร้สุข และไม่กำเนิดเป็นอสุรกาย คือความสะดุ้งหวาดกลัวภัย ด้วยประการฉะนี้
ในครั้งนั้น พระเจ้าเอสุการีคือ พระเจ้าสุทโธทนะในบัดนี้ ปุโรหิตคือ พระกัสสป ในบัดนี้ ส่วนหัตถิปาลกุมาร ก็คือเรา ตถาคตนั่นเอง
(พระไตรปิฎก เล่ม ๒๗ ข้อ ๒๒๔๕ อรรถกถาแปล เล่ม ๖๑หน้า ๒๓๙)





แหล่งอ้างอิง หนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ฉบับที่ 130 เดือน พฤษภาคม 2544
หน้า 1/1

วบอ้างอิง www.bunniyom.com

ชาดกทันยุค.อดีตชาติของพระพุทธเจ้า"หัตถิปาลชาดก" ตอนบ้านเมืองอาริยะ (ตอน ๑)

จิตอาสาเพื่อสังคมอุดมสุข




บ้านเมืองที่นิยมบุญ เป็นบ้านเมืองอาริยะ การเมืองที่นิยมบุญ เป็นการเมืองอาริยะ
บ้านเมืองอาริยะ (หัตถิปาลชาดก)
ในอดีตกาล มีพระราชาทรงพระนามว่า เอสุการี ครอบครองราชสมบัต ิอยู่ในนครพาราณสี โดยมีพราหมณ์ปุโรหิตผู้หนึ่ง เป็นสหายรักกันมาตั้งแต่ยังเยาว์ ทั้งสองไม่มีโอรส และบุตรสืบสกุลเลย
วันหนึ่ง ขณะที่ทั้งสองกำลังอารมณ์ดีมีความสุขอยู่ ก็ได้ปรึกษาหารือกัน โดยปุโรหิตเอ่ยขึ้นก่อนว่า "ยศอันยิ่งใหญ่ของเราทั้งสองมีมาก แต่บุตรสืบสกุลนั้น ไม่มีเลย เราจะทำอย่างไรกันดี"
พระเจ้าเอสุการี ตรัสแสดงความคิดเห็นบ้างว่า "สหายรัก เอาอย่างนี้สิ หากภรรยาที่เรือนของท่าน ให้กำเนิดบุตรชาย เราจะให้บุตรของท่าน ได้ครอบครองราชสมบัติของเรา แต่ถ้าหากว่ามเหสีของเรา ให้กำเนิดโอรส โอรสของเราก็จะช่วยดูแล ทรัพย์สมบัติของท่านด้วย" ทั้งสองต่างตกลงกันและกัน เอาไว้ดังนี้
วันหนึ่ง...ขณะที่พราหมณ์ปุโรหิตกำลังกลับบ้านส่วยของตน ได้ผ่านเข้าประตูเมือง ทางทิศใต้ บังเอิญได้พบเห็น หญิงยากจนคนหนึ่ง ชื่อ พหุปุตติกะ นางมีลูกเจ็ดคน ที่ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บอะไรเลย ลูกชายคนหนึ่งถือกระเบื้องภาชนะหุงต้ม คนหนึ่งก็หอบ เสื่อปูนอน คนหนึ่งก็พาเดินนำไปข้างหน้า คนหนึ่งก็คอยเดินตามหลัง คนหนึ่งก็เกาะ มือแม่เดินไป คนหนึ่งอยู่ที่สะเอวแม่ และอีกคนหนึ่ง อยู่บนบ่าของแม่
ปุโรหิตเห็นดังนั้น จึงถามนางว่า "แม่มหาจำเริญ พ่อของเด็กเหล่านี้อยู่ที่ไหนกัน แล้วไฉนจึงได้ลูกชายมากถึงเจ็ดคนเช่นนี้ ?"
นางพหุปุตติกะตอบว่า "พ่อแม่ของเด็กเหล่านี้ ไม่ได้อยู่ประจำที่เจ้าข้า ส่วนการได้ลูกชายนั้น..." นางชะงักคำพูด แล้วมองไปรอบๆ ตัว เพื่อแสวงหาคำตอบ พอดีแลเห็นต้นไทรต้นใหญ่ต้นหนึ่ง ขึ้นอยู่ใกล้ ประตูเมือง จึงแสร้งตอบไป ด้วยท่าที หนักแน่นจริงจังว่า "ข้าแต่นาย ดิฉันบวงสรวงเซ่นไหว้ บูชาต่อเทวดาที่สิงสถิต อยู่ที่ต้นไทรนี้เอง เทวดา จึงให้ลูก ถึงเจ็ดคน แก่ดิฉัน" ตอบเสร็จ นางพหุปุตติกะ ก็รีบเดินจากไปทันที
ปุโรหิตจึงลงจากรถ เดินตรงไปยังต้นไทร สังเกตดูสักครู่ก็จับกิ่งไทรเขย่าอย่างแรง พลางพูดด้วย เสียงอันดังว่า "เทวดาผู้เจริญ อะไรบ้างที่ท่านไม่ได้จากราชสำนัก ทุกๆ ปี พระราชาทรงสละ พระราชทรัพย์พันกหาปณะ (๔,๐๐๐ บาท) ตรัสสั่งให้ทำพลีกรรม แก่ท่าน ท่านกลับไม่ให้โอรส แก่พระราชาเลย แต่หญิงยากจนคนนั้น มีบุญคุณ ช่วยเหลือเกื้อกูลอะไรแก่ท่าน ทำไมท่านจึงให้บุตร แก่นางถึงเจ็ดคน ฉะนั้นถ้าหากท่าน ยังไม่ยอม ให้โอรสแก่พระราชาของเรา จากนี้ไปอีกเจ็ดวัน เราจะใช้ให้คนมาโค่น ต้นไทรนี้ลงทั้งราก แล้วสับให้เป็นท่อนๆ เลยทีเดียว" กล่าวแล้ว ปุโรหิตก็ขึ้นรถ กลับไป
และในวันรุ่งขึ้น ปุโรหิตก็มายังต้นไทรนี้อีก ทั้งยังกล่าวข่มขู่ในทำนองเดิมอีก ทำเช่นนี้ทุกวัน จนถึงวันที่ ๖ ก็สำทับว่า "ดูก่อนรุกขเทวดา (เทวดารักษาต้นไม้) เหลือเวลาอีกเพียงวันเดียวเท่านั้น ถ้าท่านยังไม่ยอมให้โอรส ผู้ประเสริฐแก่พระราชา ของเราละก็ พรุ่งนี้เราจะให้คนมาสำเร็จโทษท่าน"
ช่วงนั้นเอง...ในเหล่าเทวดา (คือผู้มีจิตใจสูง) ผู้ถึงกาลจุติ มีเทพบุตร ๔ สหาย ซึ่งมากด้วยบุญ อันควรเกิดในราชตระกูลปรากฏอยู่ แต่เทพบุตรทั้ง ๔ ไม่ปรารถนาที่จะเกิดในราชตระกูล จึงพากันไปเกิด ในเรือนของปุโรหิต โดยตั้งจิตร่วมกันไว้ว่า "เมื่อเกิดเป็นมนุษย์แล้ว จะละกามสมบัติ ออกบวช ตั้งแต่ยังมีวัยหนุ่มอยู่" ฉะนั้นเทวดาจึงดลใจแก่ปุโรหิตให้เกิดลาง สังหรณ์ เช่นนั้น ด้วยเหตุนี้เอง ต้นไทรนั้นจึง รอดพ้นจาก การถูกตัดโค่นไปได้
ครั้นเทพบุตรผู้เป็นพี่ใหญ่ จุติมาบังเกิดในครรภ์ของ นางพราหมณี ภรรยาปุโรหิตแล้ว ก็ได้ชื่อว่า หัตถิปาลกุมาร เพราะปุโรหิตได้มอบให้นายควานช้างเอาไปเลี้ยงไว้ เพื่อป้องกันการออกบวช ของกุมาร นั่นเอง
เมื่อหัตถิปาลกุมารเจริญเติบโตเริ่มเดินได้นั้น เทพบุตรองค์ที่สองก็จุติ มาบังเกิด ในครรภ์ ของนางพราหมณีอีก กุมารเกิดแล้วได้ชื่อว่า อัสสปาลกุมาร ฝากให้คนเลี้ยงม้า ช่วยดูแลให้ เพื่อป้องกันกุมารออกบวช แล้วเมื่อบุตรคนที่สามเกิด ก็ได้ชื่อว่า โคปาลกุมาร มีนายโคบาลเลี้ยงดูไว้ เพื่อป้องกันการออกบวช และบุตรคนที่สี่เกิดแล้ว ก็ได้ชื่อว่า อชปาลกุมาร มีคนเลี้ยงแพะช่วยเลี้ยงดูไว้
ครั้นกุมารทั้งสี่เมื่อเติบโตเจริญวัยเป็นหนุ่ม ได้มีรูปร่างสง่างามยิ่งนัก ซึ่งช่วงนั้นปุโรหิต ได้เชิญบรรดา นักบวชทั้งหลาย ออกไปจากพระราชอาณาเขตหมดสิ้น ในแคว้นกาสิกรัฐ จึงไม่มีบรรพชิต เหลืออยู่แม้แต่รูปเดียว
เมื่อหัตถิปาลกุมารอายุครบ ๑๖ ปี พระราชาได้ปรึกษากับพราหมณ์ปุโรหิตว่า "กุมารทั้ง ๔ เติบใหญ่แล้ว สมควรที่จะยกราชสมบัติให้ครอบครอง แต่ถ้าอภิเษกแล้ว หากว่ากุมารเหล่านี้ ได้พบปะบรรพชิตเข้า ก็อาจจะพากันออกบวชเสีย ถ้าเป็นอย่างนั้น ชาวเมืองก็จะระส่ำระสาย วุ่นวายไปหมด ฉะนั้นก่อนที่จะอภิเษกให้ เราสองต้องลงมือ ทดสอบกุมาร เหล่านี้ดูก่อน"
ทั้งสองจึงตกแต่งร่างกายปลอมแปลงเป็น ฤาษี เที่ยวภิกขาจารไป จนถึงประตูบ้าน ที่อยู่ของ หัตถิปาลกุมาร เมื่อหัตถิปาลกุมารมีโอกาส ได้พบเห็นฤาษีแล้ว ก็เกิดจิตปิติยินดี มีความเลื่อมใส ตรงเข้าไป ใกล้ๆ ถวายนมัสการ แล้วเอ่ยปากถามว่า
"นานมากแล้ว ที่ข้าพเจ้าไม่ได้พบเห็น ผู้มีผิวพรรณผ่องใส ดังเทพมุ่นชฎา ผู้ทรมานกิเลส ดั่งเปือกตม เป็นฤาษีผู้ยินดีในคุณธรรม นุ่งผ้าย้อมน้ำฝาด หรือผ้าคากรอง (ทำด้วยหญ้า) ปกปิดโดยรอบ ขอท่านผู้เจริญ รับอาสนะ (ที่นั่ง) รับน้ำ รับผ้าเช็ดเท้า และรับน้ำมันทาเท้า ข้าพเจ้าขอต้อนรับท่านด้วยสิ่งของมีค่า โปรดได้ กรุณารับของมีค่านี้ด้วยเถิด"
หัตถิปาลกุมารเชื้อเชิญฤาษีทั้งสองด้วยความเคารพศรัทธายิ่งนัก ปุโรหิตฤาษี จึงแกล้งถามว่า "แน่ะพ่อหัตถปาละ เจ้าสำคัญว่าเราทั้งสองเป็นใครกัน จึงกล่าวอย่างนี้"
หัตถิปาลกุมารจึงตอบว่า "ข้าพเจ้าคิดว่า ท่านเป็นฤาษีผู้มาจาก หิมวันตประเทศ"
ปุโรหิตจึงบอกความจริงว่า "พ่อคุณ...พวกเราไม่ใช่ฤาษีจริงๆ หรอก นี้คือ พระราชาเอสุการี เราก็คือปุโรหิตผู้เป็นบิดาของเจ้าไง"
หัตถิปาลกุมารจึงเกิดความสงสัยขึ้นทันที เอ่ยถามว่า "ทำไมต้องทำเช่นนี้ เพราะเหตุอันใดกันเล่า พระราชากับบิดาถึงต้องปลอมเป็นฤาษีด้วย"
ปุโรหิตเฉลยคำตอบว่า "ก็เพื่อทดลองใจเจ้าว่า หากเจ้าพบเห็นพวกบรรพชิตถือศีลแล้ว ก็มิได้คิด ออกบวช พวกเราก็จะ อภิเษกเจ้าให้เสวยราชสมบัติ"
หัตถิปาลกุมารได้ฟังดังนั้นก็รีบตอบว่า "ข้าแต่บิดา ข้าพเจ้าไม่ต้องการราชสมบัติเลย ข้าพเจ้า ต้องการที่จะบวชมากกว่า"
ปุโรหิตได้ยินดังนั้นถึงกับลนลานกล่าวว่า "ลูกรัก เจ้าจงร่ำเรียนวิชา และจงแสวงหา ทรัพย์ให้มาก จงปลูกฝังลูกหลานให้มั่นคงอยู่ในเรือน แล้วจงบริโภครูปรสกลิ่นเสียง อันบำเรอกามทั้งปวงก่อนเถิด กิจที่จะสงบระงับอยู่ในป่านั้น จะสำเร็จ ประโยชน์ดี ก็เมื่อยามแก่แล้ว ผู้ใดบวชในเวลาตอนนั้น ผู้นั้น พระอริยเจ้า ย่อมสรรเสริญ"
หัตถิปาลกุมารฟังแล้ว ก็กล่าวแย้งบิดาว่า "วิชาการต่างๆ เป็นของไม่เที่ยงแท้ ลาภคือทรัพย์ ก็ไม่เที่ยงแท้ ใครๆ จะเอาการมีลูกหลาน มาห้ามความแก่เฒ่าได้เล่า สัตบุรุษ (คนที่มีสัมมาทิฏฐิ) ทั้งหลายล้วนสอนให้ปล่อยวาง ในกามคุณ ๕ เพราะความเกิดแห่งผลกรรมใดๆ นั้น ย่อมมีได้ ตามกรรมของตน"
เมื่อพระราชาทรงสดับคำของหัตถิปาลกุมารแล้ว ก็ตรัสบ้างว่า "คำตรัสของเจ้าที่ว่า ความเกิดขึ้น แห่งผลกรรมใดๆ นั้น ย่อมมีได้ตามกรรมของตน ช่างเป็นคำจริงแท้ แน่นอน ฉะนั้นในเมื่อบิดามารดา ของเจ้านี้ก็แก่เฒ่าแล้ว หวังว่าเจ้าก็จะอยากอยู่ จนแก่เฒ่าอายุ ๑๐๐ ปี ไม่มีโรคใดบ้าง ฉะนั้น เจ้าต้องช่วยเลี้ยงดูบิดา มารดา ของเจ้าก่อน"
หัตถปาลกุมารฟังพระราชดำรัส แล้วกราบทูลว่า "ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ ความเป็นสหาย กับความตาย ความมีไมตรีกับความแก่นั้น ไม่เคยมีกับผู้ใดเลย เพราะไม่มีผู้ใดที่ไม่แก่ ไม่มีผู้ใดที่ไม่ตาย ผู้นั้นแม้มีอายุยืน ๑๐๐ ปี ไม่มีโรคเบียดเบียน ก็ได้ ในบางคราวเท่านั้น อุปมา ดังบุรุษเอาเรือมาจอดไว้ที่ท่าน้ำ รับคนฝั่งนี้ส่งถึงฝั่งโน้น แล้วรับคนฝั่งโน้น พามาส่ง ถึงฝั่งนี้ ฉันใด ความแก่และความเจ็บป่วย ย่อมนำเอาชีวิต ไปสู่อำนาจ แห่งความตายอยู่เนืองๆ ฉันนั้น"
ครั้นหัตถิปาลกุมารกล่าวแล้ว ก็หยุดสักครู่ จึงกล่าวต่อ "ขอเดชะพระมหาราชเจ้า ขอพระองค์ ก็ดำรงอยู่เป็นสุขเถิด ความแก่ ความเจ็บป่วย และความตาย ย่อมรุกรานเข้าใกล้ทุกคนตลอดเวลา ขอพระองค์อย่าได้ทรงประมาทมัวเมาเลย"
จบคำพูด หัตถิปาลกุมารถวายบังคมพระราชา และกราบลาบิดา แล้วพาบริวารของตน ละทิ้งสมบัติ ในพระนครพาราณสี ด้วยตั้งใจ ว่าจะออกบวช อีกทั้งยังมีชาวเมือง ส่วนหนึ่ง ติดตามหัตถิปาลกุมารไป ด้วยความคิดว่า "ขึ้นชื่อว่าการออกบวชนั้น ช่างเป็นความดีอันน่างดงามยิ่งนัก" รวมแล้วจึงมีผู้ตาม ไปกับหัตถิปาลกุมาร เป็นระยะทางยาว ประมาณถึง ๑ โยชน์ (๑๖ กม.) ทีเดียว
หัตถิปาลกุมาร เมื่อไปถึงฝั่งแม่น้ำคงคา เพ่งดูสายน้ำแล้วตกลงใจว่า "เราจะอยู่ ณ ที่นี่แหละ จะนั่งให้โอวาท แก่มหาชนทั้งหลาย อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคานี้ "
ในวันรุ่งขึ้น พระเจ้าเอสุการีกับพราหมณ์ ปุโรหิตคิดกันว่า เมื่อหัตถิปาลกุมาร ไม่ต้องการ ราชสมบัติ และคิดจะบวช ฉะนั้นคงต้องไปทดลองใจ ของอัสสปาลกุมาร ดูบ้าง ทั้งสองจึงตกแต่งแปลงร่าง ปลอมกาย เป็นฤาษีกันอีก แล้วไปประตูเรือน ของอัสสปาลกุมาร ทำเช่นเดียวกันกับหัตถิปาลกุมาร ทุกอย่าง แล้วก็ได้รับ คำตอบจากอัสสปาลกุมารว่า
"ข้าแต่ท่านบิดา ข้าพเจ้าไม่มุ่งหมายในราชสมบัติ ซึ่งเปรียบเสมือนก้อนน้ำลาย ที่พี่ชายของข้าพเจ้า บ้วนทิ้งแล้ว แม้จริงแท้ที่สัตว์ทั้งหลายผู้โง่เขลาเบาปัญญา ย่อมจะทิ้งกิเลสนั้นได้ยาก แต่ข้าพเจ้าก็จะ ละทิ้ง เพราะกามทั้งหลายเป็นดังเปือกตม ที่ก้าวลงไปแล้วทำให้จมลง เป็นที่ตั้งแห่งความตาย ฉะนั้นสัตว์ทั้งหลาย ผู้ข้องอยู่ในกาม จึงเป็นผู้มีจิตเลวทราม ย่อมข้ามถึงฝั่งไม่ได้เลย
แม้ในอดีต อัตภาพ (นิสัยใจคอ) ของข้าพระองค์ก็ได้กระทำกรรม อันหยาบช้ามาก่อน ผลแห่งกรรมนั้น ยึดข้าพระองค์ไว้มั่นแล้ว ข้าพระองค์จะพ้นไปจากผลแห่งกรรมนั้น ไม่ได้เลย ดังนั้นข้าพระองค์ จึงคิดจะปิดกั้น นิสัยใจคอนั้นอย่างรอบคอบ เพื่ออย่าได้กระทำกรรม อันหยาบช้าอีกเลย"
กล่าวจบ อัสสปาลกุมารก็กราบลาบิดาและพระราชา แล้วพาผู้ที่อยากติดตามไปด้วย มีความยาว ประมาณ โยชน์หนึ่ง (๑๖ กม.) ไปยังที่พำนักของหัตถิปาลกุมาร
หัตถิปาลกุมารได้แสดงธรรม แก่อัสสปาลกุมารฟัง แล้วกล่าวว่า "น้องรัก สมาคมนี้จะใหญ่ยิ่งกว่านี้ อีกมากนัก พวกเราจะพำนัก กันอยู่ในที่นี้ก่อน "
วันรุ่งขึ้น พระราชากับพราหมณ์ปุโรหิต ก็ปลอมตัว เป็นฤาษีอีก ไปยังเรือนของ โคปาลกุมาร ด้วยอุบายเหมือนเดิม แม้โคปาลกุมารก็ปฏิเสธราชสมบัติ และต้องการออกบวชเช่นพี่ชาย โดยกล่าวว่า "ข้าแต่พระเจ้าเอสุการี ประโยชน์ของข้าพระองค์ พินาศไปเสียแล้ว เหมือนผู้เลี้ยงโค ไม่เห็นโค ที่หายไปในป่า ฉะนั้น ต่อเมื่อข้าพระองค์ได้เห็น ทางแห่งบรรพชิตทั้งหลายแล้ว ไฉนจะไม่แสวงหา การออกบวชเล่า ข้าพระองค์ เห็นทางที่พี่ชายทั้งสองได้กระทำไป แล้ว เหมือนคนพบรอยเท้าโค ที่หายไป ฉะนั้น ข้าพระองค์ก็จะไปตามทางนั้นเหมือนกัน"
พระราชาและปุโรหิตช่วยกันกล่าวขอร้องว่า "พ่อโคปาลกุมาร รออีกสักวันสองวันก่อนเถิด ให้เราทั้งสองพอทำใจกันบ้าง แล้วเจ้าค่อยออกบวช"
แต่โคปาลกุมารกลับตอบว่า "ผู้ใดกล่าวผัดเพี้ยนการงาน ที่ควรกระทำในวันนี้ ว่าควรทำในวันพรุ่งนี้ แล้วกล่าวการงานที่ควร กระทำในวันพรุ่งนี้ ว่าควรทำในวันถัดไป ผู้นั่นย่อมเสื่อมจากการงานนั้น ฉะนั้น "กรรมดี" ควรทำในวันนี้ ไม่ควรผัดเพี้ยนว่าจะทำ "กรรมดี" ในวันพรุ่งนี้ ขึ้นชื่อว่า "กรรมดี" แล้ว ควรทำในวันนี้แหละ เพราะสิ่งใดเป็นอนาคต สิ่งนั้นยังไม่เกิดยังไม่มี จึงควรละความพอใจ ในอนาคตนั้นเสีย"
จากนั้นโคปาลกุมารกับบริวารติดตามไปเป็นขบวนยาวประมาณโยชน์หนึ่ง ก็เดินทางไปยังสำนัก ของพี่ชายทั้งสอง หัตถิปาลกุมารจึงแสดงธรรม ให้แก่ปาลกุมารฟัง ณ ที่นั้น
วันรุ่งขึ้น พระราชาและปุโรหิตยังคงปลอมเป็นฤาษี ไปยังเรือนของอชปาลกุมาร ในที่สุด แม้อชปาลกุมาร ก็ไม่ต้องการราชสมบัติ แต่ต้องการออกบวชเช่นนั้น ปุโรหิต จึงกล่าววิงวอนว่า "เจ้ายัง อายุน้อยนัก ควรจะบวชในเวลาที่ถึงวัยอันสมควร ให้เราทั้งสองเลี้ยงดูอุ้มชูเจ้าก่อนเถิด"
อชปาลกุมารจึงกล่าวว่า "ธรรมดาสัตว์โลกทั้งหลาย ไม่มีนิมิตเครื่องหมายที่มือ หรือที่เท้าของใครเลยว่า ผู้นี้ จะตายในเวลาเด็ก ผู้นั้นจะตายในเวลาแก่เฒ่า ข้าพเจ้าเองก็ไม่รู้เวลาตายของตัวเอง เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจะบวชในตอนนี้แหละ
เพราะข้าพเจ้าเคยเห็นหญิงสาวรูปร่างหน้าตางดงาม มีดวงตา ดังดอกการะเกด โดนความตายมาฉุดคร่า เอาชีวิตเธอไป ทั้งที่อยู่ในวัยแรกรุ่นเท่านั้น ยังไม่ทัน บริโภคสมบัติได้มากมายอะไรเลย แล้วยังมีชายหนุ่มสง่างาม ใบหน้าผ่องใส ผิวพรรณน่าดูน่าชม แม้ชายหนุ่มเห็นปานนี้ ก็ไปสู่อำนาจของความตาย
ข้าพเจ้าจึงคิดละกามและบ้านเรือนเสีย แล้วจะออกบวช ได้โปรดกรุณาอนุญาต แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด" อชปาลกุมารกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็กล่าวต่อไปอีกว่า "ขอท่านทั้งสองจงดำรงอยู่อย่างเป็นสุขเถิด ส่วนข้าพเจ้าผู้กำลังถูกความแก่ ความเจ็บ ความตาย รุกรานอยู่นี้ ขอกราบลาท่านทั้งสอง ไปก่อน"
จากนั้น อชปาลกุมารก็พาบริวารที่ติดตาม ไปเป็นแถวยาวโยชน์หนึ่ง ไปสู่ฝั่งแม่น้ำคงคา หัตถิปาล กุมารจึงแสดงธรรมให้น้องชายฟัง
เช้า...วันรุ่งขึ้น พราหมณ์ปุโรหิตนั่งขบคิดอยู่ที่เรือนของตน ในที่สุดก็ตัดสินใจปรึกษา กับนางพราหมณีว่า "ดูก่อนแม่วาเสฏฐิ ต้นไม้จะถูกเรียกชื่อว่าต้นไม้ได้ ก็เพราะมีกิ่งและใบ ส่วนต้นไม้ ที่ไม่มีกิ่งและใบนั้น ชาวโลกเขาเรียกว่า ตอไม้ ก็บัดนี้ลูกทั้ง ๔ ของเราออกบวชกันหมดแล้ว เราเป็นผู้ไม่มีบุตร เหลือกันอยู่ตามลำพัง เป็นเสมือน มนุษย์ตอไม้ ถึงเวลาแล้ว ที่แม้เราก็จะออกบวช เช่นกัน"
(อ่านต่อฉบับหน้า)



วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2552

มุมพักใจ : กำลังใจแห่งชีวิต

จิตอาสาเพื่อสังคมอุดมสุข

พลังแห่งชีวิต...กำลังใจแห่งชีวิต

อ่อนน้อม ถ่อมตน คือวิถีของผู้ทรงปัญญา
รวงข้าวที่หนักด้วยเมล็ดย่อมโน้มลงสู่ดิน
เฉกเช่นผู้ทรงคุณวุฒิ และปัญญามักถ่อมตน

ปฏิบัติต่อผู้อื่นเหมือนที่อยากให้เขาปฏิบัติต่อเรา
ปฏิบัติสิ่งดี ๆ ต่อผู้อื่นให้เป็นนิสัย
เพราะความดีย่อมดีในตัวมันเองเสมอ
แม้ว่าบางครั้งเราอาจไม่ได้รับความดีตอบ

ความผิดหวัง คือพลังสร้างความแข็งแกร่ง
จงยอมรับความผิดหวัง และความเจ็บปวด
ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
และใช้มัน เป็นบทเรียนที่จะไม่ให้เกิดขึ้นอีก

ไม่มีเวลา...ไม่มีในโลก
เวลาคือสิ่งเดียวที่คนบนโลกได้รับเท่ากันอย่างยุติธรรมที่สุด
เพียงแต่ใครจะสามารถจัดสรรเวลาให้มีค่ามากที่สุด

ชนะตนเองคือชัยชนะที่ยิ่งใหญ่
จงมุ่งมั่นความเป็นเลิศ แต่อย่ามุ่งหมายเพื่อความสมบูรณ์แบบ
การเอาชนะใจจนเอง คือชัยชนะที่ประเสริฐที่สุด
ความสำเร็จตัดสินที่ความสุขในใจเรา

เป็นและอยู่อย่างผู้กล้าหาญ
จงกล้าเข้าไว้ หากโอกาสมันล่วงผ่านไป
เราอาจจะเสียใจกับสิ่งที่ไม่ได้ทำมากกว่าสิ่งที่ทำไปแล้วเสียอีก

ทำในสิ่งที่รักหรือจะรักในสิ่งที่ทำ
หากไม่สามารถเลือกทำงานที่เรารักได้
ก็จงรักในงานที่ต้องทำ
เพราะความรักในงาน
สร้างความสำเร็จได้เช่นกัน

เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส
จงฉวยสิ่งดีจากสถานการณ์ที่เลวร้ายแทนที่จะให้คำว่า "ปัญหา"
ให้หันมาใช้คำว่า "โอกาส" แทน
เพราะเรื่องราวบนโลกนี้ มีมุมสำหรับมองมากกว่าสองด้านเสมอ

คนที่ไม่เคยพลาด คือคนที่ไม่เคยทำอะไรเลย
เมื่อพลาดพลั้งอย่าเพิ่งหมดหวังกับชีวิต
มีเพียงคนที่ไม่เคยทำอะไรเลยเท่านั้น
ที่จะไม่เคยพบกับความผิดหวัง

คิดทุกคำที่พูด แต่อย่าพูดทุกคำที่คิด
จงระมัดระวังทุกคำที่พูด
เพราะเมื่อพูดออกไปแล้ว
ไม่สามารถเรียกกลับมาคืนได้

รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง
หากต้องการชัยชนะต้องศึกษาตนเองให้รอบทิศ
ศึกษาคู่แข่งให้รอบด้าน
ประเมินเขา ประเมินเรา ก่อนลงสู้สนาม
เพราะบางเวลาที่โอกาสที่ดี มีเพียงครั้งเดียว

หาเพื่อนใหม่ และถนอมมิตรภาพกับเพื่อนเก่า
มิตรภาพยิ่งเก่ายิ่งเลอค่า
ทะนุถนอมความสัมพันธ์กับเพื่อนเก่า
และแสวงหาเพื่อนใหม่เพื่อขยายโลกให้กว้างขึ้น

ขอบคุณกัลยาณมิตรกลุ่มธรรมะสวัสดี

ไปที่กลุ่มนี้โดยคลิกที่นี่ กลุ่มธรรมะสวัสดี ขอบคุณมาก

ทำความดีด้วยการเสียสละ

จิตอาสาเพื่อสังคมอุดมสุข

ทำดีกับ Secret

รวมข่าวประชาสัมพันธ์ดีๆ เพื่อให้คุณมาทำความดีร่วมกับ Secret

ผ้าปูที่นอนเก่าแลกผ้าปูที่นอนใหม่
ชุดเครื่องนอนโตโต้ จัดกิจกรรมผ้าปูที่นอนเก่า (ยี่ห้อใดก็ได้) แลกซื้อผ้าปูที่นอนใหม่รุ่นไร้รอยต่อยี่ห้อโตโต้ขนาด 3.5 ฟุตได้ในราคา 200 บาท และขนาด 5-6 ฟุตในราคา 300 บาท ตั้งแต่วันนี้หรือจนกว่าสินค้าจะหมด
ทางบริษัทจะนำผ้าปูที่นอนเก่าทั้งหมดไปบริจาคให้แก่ สถานพยาบาลผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอดส์ ณ วัดพระบาทน้ำพุ
ดาวโหลดแบบฟอร์มแลกซื้อได้ที่ www.totobed.com หรือโทรศัพท์สอบถามได้ที่ 08-6311-7659

คอมนี้พี่ซ่อมให้
โครงการ "คอมนี้พี่ซ่อมให้" ต้องการรับบริจาคคอมพิวเตอร์มือสองจำนวนมาก เพื่อนำไปเพิ่มศักยภาพในการศึกษา และเปิดโลกกว้างให้น้องๆ ตามโรงเรียนในชนบทที่ยังขาดแคลน
นอกจากนี้ ทางโครงการยังต้องการอาสาสมัครที่มีความรู้ความสามารถในการซ่อมคอมพิวเตอร์ มาร่วมงานทุกวันเสาร์ เวลา 10.00 -14.00 น.
สอบถามรายละเอียดได้ที่ โครงการคอมพิวเตอร์เพื่อน้อง มูลนิธิกระจกเงา เลขที่ 41 อาคารเลิศปัญญา ห้อง 907 ชั้น 9 แขวงพญาไท เขตราชเทวี กทม. 10400 โทรศัพท์ 02-642- 7991 ต่อ 17

มอบไออุ่น สู่พี่น้องบนดอยสูง
โครงการ "มอบไออุ่น จากอุ่นไอรัก สู่พี่น้องบนดอยสูง" ขอเชิญผู้ใจดีร่วมกันแบ่งปันน้ำใจ บริจาคผ้าห่ม จำนวน 2,000 ผืน และ เสื้อกันหนาวสำหรับเด็ก จำนวน 1,000 ตัว สำหรับพี่น้องชาวไทยชาวภูเขาผู้ประสบภัยหนาว ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียง
เชิญร่วมบริจาคได้ที่โครงการกองทุนเสื้อผ้ามือสอง มูลนิธิกระจกเงา 106 หมู่ 1 บ้านห้วยขม ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย 57100 หรือ โทรศัพท์ 053-737412 ถึง 3 ต่อ 113

ความดีต้องเพียงพอ ชีวิตต้องพอเพียง
ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี ขอเชิญเยาวชนร่วมประกวดเรียงความ "ชีวิตดีเพราะมีวินัย ... แรงบันดาลใจจากคำพ่อสอน" ทำความดี และดำรงชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทุนการศึกษา 5,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณอภิดล โทรศัพท์ 0-2940-9946 หรือ 081-810-250 เว็บไซต์www.8kondee.com

สานฝันเด็กป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย
มูลนิธิสายธารแห่งความหวัง "Wishing well" ก่อตั้งโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะต่อเติมความฝันของเด็กซึ่งเป็นมะเร็งระยะสุด ท้าย และไม่สามารถรักษาได้ ให้มีโอกาสเลือกแนวทางการรักษา เพื่อจะได้ใช้ชีวิตในช่วงสุดท้ายให้มีคุณภาพและมีคุณค่าทางจิตใจ โดยการทำฝันครั้งสุดท้ายให้เป็นความจริง
ร่วมสบทบทุนเข้ามูลนิธิสายธารแห่งความหวัง ได้ที่ บัญชีออมทรัพย์ธนาคารไทยพานิชย์ สาขาสภากาชาดไทย เลขที่บัญชี 045-2-95999-4 หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ มูลนิธิสายธารแห่งความหวัง 25 สาทรใต้ ตึกกรุงเทพประกันภัย ชั้น 9 ถนนสาทร กรุงเทพ 10120 โทรศัพท์ 0-2677-4117 เว็บไซต์www.wishingwellthai.org

คุณครูริมคลอง
กลุ่มอาสาอิสระและกลุ่ม ซ.โซ่อาสา ขอชวนหนุ่มสาวชาวกรุงร่วมแบ่งปันความรู้สู่น้องๆ ผู้ยากไร้กับครูอาสาใจกลางเมือง โครงการดีๆ ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ขอเพียงมีใจที่จะร่วมแบ่งปันก็พอ พร้อมเปิดการเรียนการสอนแล้วทุกเสาร์-อาทิตย์ที่ชุมชนตึกแดง บางซื่อ (เสาร์ 09.00-12.00น.) , ครูริมคลองข้างโรงแรมรัตนโกสินทร์ (อาทิตย์ 09.00-12.00 น.) และครูใต้สะพานอรุณอมรินทร์ (อาทิตย์ 14.00-16.30 น.) สอบถามโทร 081-515-8564
ด่วน! รับจำนวนไม่จำกัด

กล่องของพี่ เพื่อสมุดของน้อง
"กล่อง" ใครว่าไม่สำคัญ เพราะนอกจากจะมีไว้บรรจุของแล้ว กล่องยังสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้งกับ โครงการกล่องของพี่ เพื่อสมุดของน้อง ที่เชิญชวนผู้มีน้ำใจร่วมบริจาคกล่องเครื่องดื่มประเภทกล่องนม กล่องน้ำผลไม้ และกล่องชาเขียวต่าง ๆ เพื่อนำมารีไซเคิลเป็นสมุดเรียนส่งตรงยังน้องๆ ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน
ส่วนวิธีการร่วมบริจาคก็ไม่ยาก แค่ดื่มน้ำให้หมด แกะมุมกล่อง พับให้แบน แล้วส่งใส่ตู้รับบริจาคที่ห้างสรรพสินค้า รวมทั้งร้านค้าสะดวกซื้อที่เข้าร่วมโครงการฯ เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น, คาร์ฟูร์, โรบินสัน, สยามพารากอน ฯลฯ ข้อมูลเพิ่มเติม www...thaibcg.com

ธรรมะ Mobile
ธรรมะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว หลังจากที่พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว. วชิรเมธี) ได้เปิดตัวสื่อธรรมะนวัตกรรมใหม่ "ธรรมะ Mobile " เพื่อเป็นอีกทางเลือกให้คนที่ไม่มีเวลาเข้าวัดฟังธรรม ได้เสพธรรมะสั้นๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือในรูปแบบ SMS ทุกวัน 3 เวลาหลังอาหาร ในอัตราค่าสมาชิกเพียงเดือนละ 29 บาท ทั้งนี้ก็เพื่อลดทุกข์ สร้างสุข และสร้างรอยยิ้มให้เกิดขึ้นในใจของทุกคนอย่างไร้ขีดจำกัด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-502-0428

Reuse me, please.
ของเหลือใช้สำหรับบางคน อาจเป็นของมีค่าที่สุดสำหรับอีกคนหนึ่งก็ได้ ใครที่กำลังจะโละของเหลือใช้ทิ้งลงถังขยะ ทางมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ขอรับบริจาคของเหล่านั้น เพื่อนำมาสร้างใหม่เป็นสื่อการสอนสำหรับน้องในถิ่นทุรกันดาร ไม่ว่าจะเป็นปฎิทินเก่า แก้ว เสื้อผ้า ต่างหู เข็มกลัด เศษกระดาษ กระดุม ลูกปัด ฯลฯ ก็สามารถนำมาบริจาคเป็นสื่อการสอนที่อัดแน่นด้วยสาระได้
นอกจากจะบริจาคของแล้ว หากใครมีเวลาว่างยังสามารถมาร่วมออกแรงสร้างสื่อการสอนให้น้องๆ ที่มูลนิธิฯได้อีกด้วย สนใจติดต่อ 02-691-0437-9 (ก่อนเวลา 18.00 น.)

เพียง 1 บาทก็ช่วยงานอาสาได้
เชื่อหรือไม่ว่า "เงิน 1 บาท" สามารถช่วยเหลือผู้คนนับร้อยนับพันได้ ด้วยการบริจาคเงินสมทบทุน "กองทุน V Fund" เพียงอาทิตย์ละ 1 บาท ตลอด 1 ปี ผ่านบัญชี มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย เพื่อกองทุนจิตอาสา ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาถนนเพชรบุรีตัดใหม่ บัญชีเลขที่ 043-2-66606-6 จากนั้นกองทุนจะรวมเงินส่งต่อให้กับมูลนิธิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการจิตอาสาคลองใส โครงการศิลปะในสวน การจัดทำแผนที่ทำดีออนไลน์ ฯลฯ
เพียงแค่ 1 บาทก็สามารถสร้างสรรค์สังคมให้ดีงามได้ สนใจสอบถามที่โทร 02-319-5017

สมทบทุนสร้างพระอุโบสถธรรมชาติ
วัดป่าสันติธรรม ประเทศออสเตรเลีย ขอชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมอนุโมทนาบุญสมทบทุนสร้างพระอุโบสถธรรมชาติแห่งแรกใน ออสเตรเลีย ท่ามกลางบรรยากาศอันแสนสงบในถ้ำของเขตอุทยาน Morton National Park ซึ่งพระอุโบสถแห่งนี้จะใช้เป็นสถานที่ในการอุปสมบทภิกษุ ภิกษุณี รวมทั้งบรรยายธรรม ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.santiforestmonastery.com

หนูหิว-หนูอยากเรียน
เชื่อหรือไม่ว่า ร้อยละ 35 ของเด็กในพม่าเรียนจบไม่เกินชั้น ป. 5 แถมจำนวนทหารเด็กในพม่ายังสูงที่สุดในโลกถึง 70,000 คน! ไม่นับรวมปัญหาความยากจน ภาวะทุโภชนาการและเด็กกำพร้า
ปัจจุบันพม่ามีโรงเรียนวัดที่ช่วยโอบอุ้มเด็กเหล่านี้ให้ได้เรียนและไม่อด อยากถึง 1,400 แห่ง แต่ด้วยสภาพสังคมปิดและเศรษฐกิจถดถอยโดยเฉพาะหลังเกิดไซโคลนนาร์กิส ทำให้โรงเรียนวัดเหล่านี้ขาดแคลนเงินทุนสำหรับอุปกรณ์การเรียน อาหาร และจ้างครู อย่างหนัก
เครือข่ายพุทธิกา และองค์กรด้านเด็กของไทยรวม 18 องค์กร รวมทั้งภาคีอื่นๆ จึงจัดทำ ผ้าป่าเพื่อการศึกษาของเด็กยากไร้ในพม่า เพื่อนำเงินบริจาคทั้งหมดมอบให้โรงเรียนวัดในพม่าแห่งละ 50,000 บาท หลังทอดผ้าป่าเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2551 ที่ผ่านมานี้สามารถรวบรวมปัจจัยได้ถึง 2.4 ล้านบาท แต่เนื่องจากโรงเรียนวัดในพม่ามีจำนวนมากดังกล่าวแล้ว การบริจาคสมทบทุนจึงยังคงทำได้ต่อไปผ่านทาง มูลนิธิเด็ก 3 ช่องทาง คือ ทางธนาณัติ สั่งจ่าย ปณ.กระทุ่มล้ม 73220, ทางตั๋วแลกเงิน สั่งจ่าย มูลนิธิเด็กเลขที่บัญชี 115-2-14733-0 (กรณีโอนเงิน ให้ส่งสำเนาใบโอนทางโทรสารหรือแฟ็กซ์ 0-2814-0369 หรือโทร. 0-2814-1481-7)
คนไทยเรามีน้ำใจต่อผู้ทุกข์ยากและเดือดร้อนเสมอไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหน
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ เครือข่ายพุทธิกา โทร. 0-2883-0592, 0-2886-9881 หรือ www.budnet.infob_netmail@yahoo.com หรือ bnetmail@gmail.com
หรือโอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ในนาม มูลนิธิเด็ก ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเพชรเกษม ซอย 114 E-mail:

สมทบทุนสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรม 84 พรรษาราชนครินทร์
Secret ขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินสมทบทุนสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรม 84 พรรษาราชนครินทร์ จังหวัดจันทบุรี โดยการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางยี่ขัน ชื่อบัญชี "การกุศล" เลขที่บัญชี 047-2-26347-3 สอบถามเพิ่มเติมที่ 081-8112027

เติมชีวิตด้วยการให้
มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาช่วยเด็กไทยที่ยากจนและด้อยโอกาสผ่าน "โครงการอุปการะเด็ก" โดยจะบริจาคตามเจตจำนงหรือเพียงเดือนละ 450 บาทอย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยให้เด็ก ๆ มีหลักประกันด้านสุขอนามัยและการศึกษาในระยะยาว นอกจากนี้ครอบครัวและชุมชนที่เด็กอาศัยอยู่ก็จะได้รับการส่งเสริมทักษะอา ชีพ จนพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด
โทร. 02-381-8863-5 www.worldvision.or.th

ครูอาสากลางกรุง
กลุ่มอาสาอิสระและกลุ่มอาสา Teacher4Sunday ร่วมกับ ชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า เขตดุสิต ชักชวนคนใจดีทุกเพศทุกวัยมาช่วยกันสอนหนังสือ และเสริมสร้างคุณธรรมให้กับน้อง ๆ ในระดับอนุบาลถึง ประถม 6 ทุกวันอาทิตย์ 9.00-12.00 น. ที่ชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า
สนใจติดต่อคุณจิระพงษ์ รอดภาษา โทร. 02-515-8564 อีเมล์ Rodpasa@hotmail.com
"ร่วมหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความดีกลางกรุง ดอกไม้แห่งความสุขจะบานกลางใจ"

พ่อของเด็กกว่า 400 ชีวิต
ขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาช่วยเหลือ พระครูวุฒิธรรมาทร เจ้าอาวาสวัดโบสถ์วรดิตถ์ อ. ป่าโมก จ. อ่างทอง ผู้เป็น "พ่อ" ของเด็กกำพร้ากว่า 400 ชีวิตที่ทางวัดอุปการะไว้ตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อน ซึ่งปัจจุบันกำลังประสบปัญหาค่าใช้จ่ายทั้งด้านอาหาร เสื้อผ้า และอุปกรณ์การเรียน
ร่วมบริจาคสิ่งของได้ที่วัดโบสถ์วรดิตถ์ หรือโอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ในนาม วัดโบสถ์วรดิตถ์ โดยพระครูวุฒิธรรมาทร ธนาคารกสิกรไทย สาขาป่าโมก เลขที่บัญชี 182-2-11-364-4
"ของเหลือจากคนเมืองอันมีจะกินเป็นสิ่งมีค่าเหลือหลายสำหรับเด็กที่ไม่เคยได้ใช้ 'เงิน' แม้แต่บาทเดียว . . ."

กล้าคิดกล้าทำ
Youth Venture เปิดโอกาสให้เยาวชนอายุ 14-24 ปี รวมกลุ่มกันคิดโครงการและลงมือทำกิจกรรมที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อชุมชน และสังคมของตนเอง โดยองค์กรจะสนับสนุนเงินทุนตั้งต้น คำแนะนำและเครื่องมือคิดโครงการ พี่เลี้ยงที่ปรึกษา และการเชื่อมต่อกับเยาวชนทั่วโลกที่เข้าร่วม
เปิดรับสมัครตลอดปี! ข้อมูลเพิ่มเติมและดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.thailand.youthventure.org

สานต่อการศึกษาไทย
เพื่อเป็นการสานต่อโอกาสทางการศึกษา โรงเรียนเตรียมสามเณรวัดครึ่งใต้ ตำบลครึ่งใต้ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ขอเชิญผู้มิจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินสมทบทุน "กองทุนอาหารกลางวัน และทุนการศึกษาพระภิกษุสามเณร" เพื่อให้พระภิกษุ สามเณร และเยาวชนลุ่มแม่น้ำโขงที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารริมตะเข็บชายแดนไทย-ลาว ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง โดยสามารถบริจาคได้ที่ชื่อบัญชี "กองทุนธรรมทาน" บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาศิริราช เลขที่บัญชี 016-4-16300-9 หรือติดต่อร่วมบริจาคที่ สถาบันวิมุตตยาลัย โทรศัพท์ 02-422-9123, 081-8890-010, 084-9117-235

อาสาทำดี 1 วัน
จิตใจแห่งอาสาสมัครนั้นเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา และเพื่อเป็นการฝึกให้กิจกรรมอาสากลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน โครงการ Volunteer one day trip จึงขอชวนทุกคนมาร่วมอาสาทำดีภายใน 1 วัน โดยผู้เข้าร่วมโครงการสามารถเลือกได้ว่าจะเข้าร่วมกิจกรรมอาสาด้านใด เริ่มต้นที่ปลูกปะการังชายฝั่ง จังหวัดชลบุรี, ปลูกปะการังที่เกาะ จังหวัดชลบุรี, ปลูกป่าชายเลน จังหวัดชลบุรี, สร้างกุฏิดิน จังหวัดราชบุรี และสร้างฝายชะลอน้ำ จังหวัดราชบุรี ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามที่หมายเลขโทรศัพท์ 086-770-2233 ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

อ่านสร้างชาติ
จริงอยู่ที่ว่าการอ่านคือจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ แต่แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าปัจจุบันเด็กไทยอ่านหนังสือเพียงวันละไม่เกิน 7 บรรทัด ยิ่งเป็นเด็กที่อยู่ในชนบทที่ห่างไกลด้วยแล้ว การได้อ่านหนังสือดีๆ สักเล่มถือได้ว่าเป็นโอกาสอันน้อยนิดของพวกเขา ดังนั้นเพื่อให้เยาวชนในถิ่นทุรกันดารได้มีโอกาสเปิดโลกทัศน์อันกว้างไกล โครงการอ่าน...สร้างชาติ จึงขอชวนคนไทยร่วมบริจาคหนังสือดี (มือสอง) โดยส่งมาได้ที่มูลนิธิกระจกเงา เลขที่ 41 อาคารเลิศปัญญา ชั้น9 ห้อง 907 พญาไท ราชเทวี กรุงทพฯ 10400 โทรศัพท์ 02-642-7991 ต่อ 16
บริจาคเพียงคนละ 1 เล่ม ก็สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้แล้ว

วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2552

กว่าจะถึงอรหันต์..พระมหาโมคคัลลานเถระ

จิตอาสาเพื่อสังคมอุดมสุข

มีฤทธิ์แม้มากมาย
ไม่ตายก็ย่อมได้
แต่ยอมชีพตักษัย
เพื่อให้หมดหนี้กรรม

พระมหาโมคคัลลานเถระนั้น ได้ถือกำเนิดจากสกุลพราหมณ์ ที่หมู่บ้านโกลิตคาม ใกล้ๆ นครราชคฤห์ ในแคว้นมคธ โดยได้ชื่อว่า โกลิตะ เป็นบุตรของพราหมณ์หัวหน้าหมู่บ้าน ซึ่งมีมารดาชื่อโมคคัลลีพราหมณี และมีเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่อยู่หมู่บ้านใกล้ๆกันชื่อ อุปติสสะ (คือพระสารีบุตรนั่นเอง)

โกลิตะ กับ อุปติสสะเป็นสหายกันมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กเลยทีเดียว เพราะสองสกุล สนิทสนม กันมาได้ ๗ ชั่วสกุลแล้ว ทั้งสองจึงเรียนด้วยกัน ไปไหนมาไหนด้วยกันเสมอๆ

ต่อมาได้บวชแสวงหาโมกขธรรมในสำนักของสญชัยปริพาชก แต่เห็นว่าไม่เป็นทางหลุดพ้น จากกิเลสได้ สองสหาย จึงลาไปบวช ในสำนักของ พระพุทธเจ้าองค์สมณโคดม

เมื่อบวชได้ ๗ วัน ภิกษุโมคคลัลานะ (เรียกโกลิตะตามชื่อของนางพราหมณีโมคคัลลี ผู้เป็น มารดา) ได้บำเพ็ญสมณธรรม(ธรรมของผู้สงบระงับกิเลส) อยู่ที่บ้าน กัลลวาลมุตตคาม ในแคว้นมคธ ฝึกฝน พากเพียรอย่างหนัก จนกระทั่งเหนื่อยเพลียเกิดอาการนั่งโงกง่วง โดนกิเลส ถีนมิทธะ (จิตง่วงหรี่ซึม) ครอบงำ
พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงเสด็จมาโปรด ด้วยการตรัสถามว่า

"ดูก่อนโมคคัลลานะ เธอง่วงหรือ....เธอง่วงหรือ...."

ภิกษุโมคคัลลานะได้ยินเสียง ของพระศาสดาเรียกอยู่ จึงได้สติขึ้นมา แล้วตอบออกไป

"เป็นอย่างนั้นพระเจ้าข้า"

"ดูก่อนโมคคัลลานะ เธอจงฟัง เมื่อเธอไม่มีสัญญา(การกำหนดรู้)อย่างไรอยู่ ความง่วง ย่อมครอบงำได้ ฉะนั้นเธอพึงทำไว้ในใจ ซึ่งสัญญานั้นให้มาก ก็จะเป็นเหตุให้เธอ ละความง่วงได้

แต่ถ้ายังละไม่ได้ เธอพึงตรึกตรองพิจารณาถึงธรรม ตามที่ตนได้สดับแล้ว ได้เรียนมาแล้ว ด้วยใจ ก็จะเป็นเหตุ ให้เธอละความง่วงได้

แต่ถ้ายังละไม่ได้ เธอพึงสาธยายธรรม ตามที่ตนได้สดับมา ได้เรียนแล้วโดยพิสดาร ก็จะเป็นเหตุ ให้เธอ ละความง่วงได้

แต่ถ้ายังละไม่ได้ เธอพึงแยงช่องหูทั้งสองข้าง หรือเอามือลูบตัว ก็จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงได้

แต่ถ้ายังละไม่ได้ เธอพึงลุกขึ้นยืน เอาน้ำล้างหน้า เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวฤกษ์ (ดาวที่มีแสงสว่าง แผ่รังสีออกได้รอบตัว) ก็จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงได้

แต่ถ้ายังละไม่ได้ เธอพึงทำในใจถึงอาโลกสัญญา(กำหนดหมายแสงสว่าง) ตั้งความสำคัญ ในกลางวันว่า กลางวันอย่างไร กลางคืนก็อย่างนั้น กลางคืนอย่างไรกลางวันก็อย่างนั้น มีใจเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่ออยู่ ทำจิตให้มีแสงสว่างเกิด ก็จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงได้

แต่ถ้ายังละไม่ได้ เธอพึงอธิษฐาน (ตั้งจิตกำหนดใจ) จงกรม(การเดินไปมาโดยมีสติกำกับ ไม่ให้กิเลส ครอบงำได้) กำหนดหมายเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ (ร่างกายและจิตใจ) มีใจไม่คิดไปภายนอก ก็จะเป็นเหตุ ให้เธอละความง่วงได้

แต่ถ้ายังละไม่ได้อีก เธอจงสำเร็จสีหไสยา คือนอนตะแคงเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติ สัมปชัญญะ กำหนดหมายเวลาที่จะลุกขึ้น พอตื่นแล้ว พึงรีบลุกขึ้นด้วยตั้งใจว่า เราจะไม่ทำ ความสุขในการนอน ไม่ทำ ความสุขในการเอนข้าง ไม่ทำความสุข ในการเคลิ้มหลับ

ดูก่อนโมคคัลลานะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้เถิด"

แล้วพระศาสดาทรงทำให้ภิกษุโมคคัลลานะสลดใจ ด้วยคำตรัสปลุกสำนึกที่ว่า

"โมคคัลลานะ ความพยายามของเธออย่าได้ไร้ผลเสียเลย"

เมื่อได้ฟังกรรมฐาน(วิธีปฏิบัติลดละกิเลสให้เหมาะสมกับฐานะ) ที่พระศาสดา ช่วยบรรเทา ความโงกง่วงแล้ว ภิกษุโมคคัลลานะ ก็เจริญวิปัสสนา (ฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้แจ้ง เห็นจริง) ให้เข้าถึงมรรคผล จนได้บรรลุธรรม ทำกิเลสสิ้นเกลี้ยง เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในพระพุทธศาสนา ซึ่งพระศาสดา ทรงยกย่องเป็น เอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยมพิเศษ ในทางใด ทางหนึ่ง) ในด้านผู้มีฤทธิ์มาก และได้เป็นอัครสาวก เบื้องซ้ายของพระผู้มีพระภาคเจ้า มีคุณวิเศษ เหล่านี้คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖

มีอยู่วันหนึ่ง ปรากฏหญิงแพศยา(สำส่อน,โสเภณี) ได้เข้ามาเล้าโลมพระมหาโมคคัลลานเถระ ท่านจึง อบรมสั่งสอนนางว่า

"เราติเตียนกระท่อม คือสรีระร่างกายที่สำเร็จด้วยโครงกระดูกนี้ อันฉาบทาด้วยเนื้อ ร้อยรัด ด้วยเส้นเอ็น เต็มไปด้วยของสกปรก มีกลิ่นเหม็นน่าเกลียด ที่คนทั้งหลาย เข้าใจว่า เป็นของของตน

แม้ร่างกายของเธอก็เช่นกันกับถุงอันเต็มไปด้วยคูถ(อุจจาระ) มีหนังหุ้มห่อปกปิดไว้ เหมือน นางปีศาจ มีฝีที่อก มีช่องเก้าช่องเป็นที่ไหลออกเนืองนิตย์ จึงควรละเว้นสรีระของเธอ อันมีช่อง เก้าช่อง ที่เต็มไปด้วย กลิ่นเหม็น ดังชายหนุ่มผู้รักสะอาด หลีกเลี่ยงมูตคูถ(ปัสสาวะ อุจจาระ) ไปจนห่างไกล ฉะนั้น

หากว่า ใครๆ พึงรู้จักสรีระของเธอ เช่นเดียวกับที่เรารู้จักแล้ว ก็จะพากันหลบหลีกเธอไปเสีย ห่างไกล เหมือนคน ที่รักสะอาดเห็นหลุมคูถ ในฤดูฝน แล้วหลีกเลี่ยงไปจนห่างไกล ฉะนั้น"

หญิงแพศยาได้ฟังคำสอนนั้นแล้ว ก็ยังไม่เกิดความสลดใจ ได้ตอบพระเถระว่า

"ข้าแต่สมณะผู้มีความเพียรมาก ท่านพูดอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น แต่คนบางจำพวก ยังจมอยู่ ในร่างกาย อันนี้ เหมือนกับโคเฒ่าที่จมอยู่ในตม ฉะนั้น"

พระเถระเห็นว่าเธอยังมีมิจฉาทิฐิ (ความเห็นผิด)อยู่ จึงกล่าวสอนสำทับให้นาง สำนึกว่า การประพฤติ ตามใจชอบนั้น ไม่มีประโยชน์มีแต่นำโทษมาให้โดยถ่ายเดียว

"ผู้ใดประสงค์ย้อมอากาศด้วยขมิ้น หรือด้วยน้ำย้อมอย่างอื่น การกระทำของผู้นั้น ย่อมทุกข์ลำบาก เปล่าๆ เพราะจิตของเรานี้ก็เสมือนเช่นอากาศ เป็นจิตตั้งมั่นด้วยดีในภายใน ฉะนั้นเธออย่ามาหวังความรักจากฉัน ที่มีอยู่ในดวงจิตอันลามกของเธอเลย เหมือนตัว แมลง ถลาเข้าสู่กองไฟ ย่อมถึงความพินาศฉะนั้น

เธอจะดู ร่างกาย ที่กระดูก ๓๐๐ ท่อนยกขึ้นตั้งไว้ มีแผลทั่วไป อันบุญกรรมกระทำให้วิจิตร และ กระสับกระส่าย ซึ่งพวกคนพาล(โง่เขลา) พากันปรารถนาอยู่โดยมาก ร่างกายนี้ ไม่มีความยั่งยืน มั่นคงอยู่เลย"

หญิงแพศยา เล้าโลมพระเถระไม่สำเร็จ กลับโดนตำหนิติเตียนสั่งสอน ก็ให้รู้สึกอับอาย รีบหลบหลีก หนีไปจาก ที่ตรงนั้นทันที

กาลต่อมา....ชื่อเสียงของพระมหาโมคคัลลานเถระที่เป็นผู้มีฤทธิ์ มากกระฉ่อนไปทั่ว ทำให้พวก เดียรถีย์ (นักบวชนอกพุทธศาสนา) เกิดจิตริษยา ด้วยเข้าใจเอาเองว่า

"เหตุที่พระสมณโคดมได้ลาภสักการะเกิดขึ้นมากมาย ก็เพราะอาศัยฤทธิ์ของภิกษุ ชื่อโมคคัลลานะนี้เอง"

พวกเดียรถีย์จึงตกลงกันจ้างโจรด้วยทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะ(๔,๐๐๐ บาท) ให้ฆ่า พระโมคคัลลานะ เถระเสีย พวกโจรก็มาดักฆ่าพระเถระ แต่พระเถระมีฤทธิ์มาก ได้หลบพ้นภัย อยู่เสมอ จนกระทั่ง พระเถระ ได้พิจารณารู้ว่า นี่เป็นกรรมเก่า ที่ตนได้กระทำไว้ ในอดีตชาติ จึงไม่หลบหนีอีกต่อไป ยอมให้พวกโจรทุบตี จนกระดูก ทั่วกายแหลกละเอียด พวกโจรเข้าใจว่า พระเถระตายแล้ว จึงพากันหนีไป

แต่พระมหาโมคคัลลานเถระยังไม่ยอมตาย ด้วยคิดว่า

"เราจะต้องถวายบังคมลาพระศาสดาก่อน แล้วจึงจะปรินิพพาน"

พระเถระได้ใช้ฤทธิ์ไปเข้าเฝ้าพระศาสดา แล้วจึงไปปรินิพพานที่กาฬศิลาประเทศ จากนั้น ข่าวคราวว่า พวกโจร ฆ่าพระเถระตาย ก็แพร่สะพัดไปทั่วชมพูทวีป

พระเจ้าอชาตศัตรู ทรงให้สืบหาพวกโจร จนกระทั่งจับโจรทั้งหมดได้ แล้วรู้ว่าพวกเดียรถีย์ เป็นผู้ ว่าจ้างฆ่า จึงทรง ให้ประหารชีวิตทั้งหมด อย่างทารุณ

ภิกษุทั้งหลายได้สนทนากันในธรรมสภาถึงเรื่องนี้
"พระอัครสาวกเบื้องซ้าย ถึงแก่ความตายอย่างนี้ไม่เหมาะสมเลย"

พระศาสดาเสด็จมาพอดี จึงตรัสว่า
"ความตายของโมคคัลลานะนั้น ไม่เหมาะสมแก่อัตภาพ(ตัวตน)นี้เท่านั้น แต่เหมาะสมแก่กรรม ที่โมคคัลลานะ ได้กระทำไว้ในชาติกาลก่อน"

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลขอให้พระศาสดาตรัสเล่า พระองค์จึงทรงกล่าวถึงเรื่องราวในอดีตนั้น

ในอดีตกาล โมคคัลลานะได้เกิดเป็นกุลบุตรคนหนึ่งในนครพาราณสี ต้องทั้งทำงาน หาทรัพย์ และทั้งดูแล ปรนนิบัติ บิดา มารดาตาบอด ด้วยตนเอง ทำให้บิดามารดาเป็นห่วง จึงกล่าวว่า

"ลูกเอ๋ย เจ้าคนเดียวทำงานหนักทั้งในบ้านและนอกบ้าน เราจะติดต่อหานางกุมาริกา (เด็กหญิง) สักคนมาให้เจ้า"

แต่ลูกชายได้ห้ามพ่อแม่ไว้

"ข้าแต่พ่อและแม่ ตราบใดที่ท่านทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ ตราบนั้นลูกจะดูแลพ่อแม่ ด้วยมือ ของตนเอง"

แม้พ่อแม่จะถูกห้ามเอาไว้แล้ว ก็ยังรบเร้าอ้อนวอนเสมอๆ จนกระทั่ง ได้ให้คนนำเอา เด็กสาวคนหนึ่ง มาเป็น ภรรยา ของลูกชาย ความเป็นสะใภ้ใหม่ ทำให้นางปรนนิบัติพ่อแม่ ของสามีเป็นอย่างดี

แต่ไม่นานนัก นางก็เบื่อหน่ายที่จะดูแลพ่อแม่ของสามี จึงหาเรื่องแกล้งต่างๆ นานา แล้วบ่น กับสามีบ่อยๆ ว่า

"นี่เพราะพ่อและแม่ตาบอด มักทำของรกเลอะสกปรกไปทั่วเรือน ฉันเหนื่อยเหลือเกิน ที่จะตาม ดูแล ทนไม่ไหวแล้ว ฉันไม่อาจอยู่ร่วมกันกับพ่อแม่อย่างนี้ได้"

ลูกชายหลงเชื่อภรรยา ยิ่งถูกพูดกรอกหูอยู่บ่อยๆเข้า จึงเกิดความเห็นผิดคิดกำจัด พ่อแม่เสีย โดยออกอุบาย หลอก ให้พ่อแม่ขึ้นเกวียน เพื่อพาไปพบญาติ

ระหว่างทาง พอถึงกลางดง ก็แสร้งกล่าวว่า

"ข้าแต่พ่อ ท่านช่วยถือเชือกบังคับเกวียนนี้ไว้ แล้ววัวจะเดินไปตามทางเอง เพราะที่นี้มีพวกโจร อยู่ ลูกจะลงเดิน คอยระวังให้"

แล้วตนเองก็กระโดดลงไปเดินข้างเกวียน สักครู่ก็แกล้งทำเป็นโจรส่งเสียงดังเข้าปล้น บิดา มารดา ตกใจกลัว แต่ก็ยัง ตะโกนบอกลูกชายว่า

"ลูก...พวกโจรมาแล้ว เจ้าจงรักษาตัวเองให้ดีเถิด พ่อแม่แก่แล้ว เจ้าไม่ต้องเป็นห่วงหรอก"

แม้พ่อแม่จะส่งเสียงร้องอยู่ แต่ลูกชายก็กระทำเยี่ยงโจร เข้าทุบตีทำร้ายพ่อแม่จนถึงแก่ ความตาย แล้วทิ้งศพไว้ ที่ในดงป่าทึบนั้น
......................................................

พระศาสดาตรัสกรรมเก่าของพระอัครสาวกเบื้องซ้ายแล้ว ตรัสว่า

"ภิกษุทั้งหลาย โมคคัลลานะกระทำอนันตริยกรรม (กรรมชั่วที่เป็นบาปหนัก ใหญ่หลวง) ไว้ประมาณนี้ จึงต้อง หมกไหม้ อยู่ในนรกหลายแสนปี แม้เศษผลบาปกรรมที่เหลือ ก็ได้ทำ ให้ถูกโจรทุบตี จนกระดูก แหลกละเอียด อย่างนั้นแหละ แล้วต้องถึงแก่ความตาย นับร้อยชาติเลย ทีเดียว

โมคคัลลานะได้ตายสมควรแก่กรรมของตนแล้ว ฝ่ายพวกเดียรถีย์กับพวกโจร ที่ประทุษร้าย พระเถระ ก็ได้ตาย สมควรแก่กรรมของตน แล้วเหมือนกัน

เพราะผู้ใดประทุษร้ายพระอรหันต์ผู้ไม่มีอาชญา(โทษ) หรือประทุษร้ายคนผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้นั้นย่อม เข้าถึงทุกข์ ๑๐ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งเร็วพลัน คือ

๑. เกิดทุกข์ทรมานแรงกล้า
๒. เสื่อมทรัพย์
๓. ถูกทำร้ายร่างกายรุนแรง
๔. เจ็บป่วยอย่างหนัก
๕. ฟุ้งซ่านถึงวิกลจริต
๖. ต้องราชภัย
๗. ถูกกล่าวหาร้ายแรง
๘. สิ้นญาติ
๙. สมบัติทั้งหลายพินาศย่อยยับ หรือไฟไหม้บ้านหมด
๑๐. เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงนรก

นี้แลทุกข์โทษภัยของผู้ประทุษร้ายคนที่ไม่มีความผิด"

แล้วพระพุทธองค์โปรดให้ก่อสถูป บรรจุอัฐิธาตุของพระมหาโมคคัลลานเถระ ไว้ที่ใกล้ซุ้ม ประตูวัด เวฬุวัน ในเขต เมืองราชคฤห์ แห่งแคว้นมคธนั่นเอง


(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๓ ข้อ ๕๘, เล่ม ๒๖ ข้อ ๔๐๐, เล่ม ๓๒ ข้อ ๔
อรรถกถาแปลเล่ม ๕๓ หน้า ๔๓๒, เล่ม ๗๐ หน้า ๔๘๔)


ร่วมอนุโมทนาบุญ (ทำบุญรวมญาติ) ถวายที่ดินให้พระศาสนา

จิตอาสาเพื่อสังคมอุดมสุข

วันนี้ที่วัดมีการทำบุญรวมญาติ สมทบทุนซื้อที่ดินถวายวัดป่าวังไฮ ต.หญ้าปล้อง
อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ซึ่งนำโดยโยม สวิน อักขรายุทธ อดีตอธิบดี กรมบังคับคดี
พร้อมครอบครัวและญาติมิตรซึ่งได้รวบรวมเงินจำนวน ๖๐๐,๐๐๐ บาทถ้วนจ่ายซื้อที่ดิน
จำนวน 1 ไร่ ถวายให้เป็นสมบัติของพระศาสนาและได้ทำการโอนเป็นโฉนดที่ดินเพื่อจะใช้
ทำสาธารณะประโยชน์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว..ขออนุโมทนาในกุศลเจตนาของคณะศรัทธา
ญาติโยมที่มีส่วนร่วมในกิจอันเป็นมหากุศลของพระพุทธศาสนาในครั้งนี้..จงมีแต่ความสุข ความเจริญ
ในหลักธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เจริญด้วย อายุ วรรณะ สุข พละ ทุกท่านเทอญ



โยม สวิน อักขรายุทธ อดีตอธิบดีกรมบังคับคดี และที่ปรึกษากฏหมายของวัดป่าวังไฮ
กล่าวเปิดใจถึงความรู้สึกในงานบุญครั้งนี้

ญาติโยมที่มาร่วมงานบุญ


ทำบุญให้ทานด้วยอาหารมังสวิรัติ

ช่วงถวายสังฆทาน(อาหาร)

สงฆ์อนุโมทนาในสังฆทาน

ร่วมรับประทานอาหาร(บุญคือความอิ่มความเต็ม)


ญาติโยมพิจารณาอาหารก่อนรับประทาน (ขอขอบพระคุณชาวนา
ที่ปลูกข้าวให้พวกเรารับประทาน ขอขอบพระคุณ พ่อครัว แม่ครัวที่ทำอาหาร
ให้เรารับประทานในมื้อนี้ พวกเราจะทำแต่ความดีเป็นการตอบแทน..สาธุ)

โยมสวินและภรรยา โยมกัลยา อักขรายุทธ ร่วมรับประทานอาหาร
โยม อ.ประสมลักษณ์ ประสานศรี เจ้าของที่ดินมาร่วมงานบุญพร้อมทั้งเปิดใจ
ถึงความรู้สึกในงานบุญครั้งนี้


มอบถวายโฉนดที่ดินให้เป็นสมบัติของพระพุทธศาสนา
ญาติโยมร่วมอนุโมทนาสาธุ..




ขอจบด้วยพุทธพจน์ที่ว่า
ผู้มีศรัทธาย่อมเลื่อมใสโดยฐานะ ๓ ประการคือ
๑.เป็นผู้ใคร่ที่จะเห็นท่านผู้มีศีล
๒.เป็นผู้ใคร่ที่จะฟังสัทธรรม(ธรรมที่ถูกต้องดีแท้)
๓.มีใจไม่ตระหนี่ อันเป็นความมัวหมอง และมีการให้ปันอันสละแล้ว
ยินดีในการสละ ยินดีในทาน ยินดีในการแจกจ่ายทาน
(พระไตรปิำฎก ภาษาไทย ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ,๒๐
"สีลสัมปทาสูตรที่ ๑ ข้อที่ ๑๓๑
"ฐานะสูตร" ข้อที่ ๔๘๑
ธรรมรักษา

วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2552

กรรมชั่วกรรมดี


การวินิจฉัยว่า สิ่งใดเป็น " กรรมดี " สิ่งใดเป็น " กรรมชั่ว " สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ มีหลักเกณฑ์ดังนี้คือ

๑. การกระทำที่มีเหตุมาจากกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ การกระทำนั้นเป็นกรรมดี ถูก เป็นบุญ ควรทำ
ถ้ามีเหตุมาจากอกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ โมหะ การกระทำนั้นเป็นกรรมชั่ว ผิด เป็นบาป ไม่ควรทำ

๒. การกระทำที่ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนใครๆ มีสุขเป็นผล ไม่ทำให้ร้อนใจภายหลัง การกระทำนั้นเป็นกรรมดี ถูก เป็นบุญ ควรทำ
ถ้าเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนหรือผู้อื่น มีทุกข์เป็นผล หรือทำให้ร้อนใจภายหลัง การกระทำนั้นเป็นกรรมชั่ว ผิด เป็นบาป ไม่ควรทำ

๓. การกระทำที่ทำให้กุศลธรรมเจริญขึ้น อกุศลธรรมเสื่อมไป การกระทำนั้นเป็นกรรมดี ถูก เป็นบุญ ควรทำ
ถ้าทำให้กุศลธรรมเสื่อมไป อกุศลธรรมเจริญขึ้น การกระทำนั้นเป็นกรรมชั่ว ผิด เป็นบาป ไม่ควรทำ

การกระทำความดีที่สมบูรณ์แบบนั้น ต้องทำให้ครบวงจร คือ ดีทั้งเหตุ ดีทั้งผล และทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างได้รับผลดี เช่น
ในการปล่อยสัตว์ ผู้ปล่อยก็ได้บุญ คือ รู้สึกดีใจชื่นใจที่ตนได้ทำความดี สัตว์ที่ถูกปล่อยก็ดีใจที่มีชีวิตรอดพ้นจากความตาย หรือพ้นจากการจองจำ

การกระทำบางอย่าง เช่น หลับในเวลาเรียน แม้จะไม่ใช่กรรมชั่ว แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่สมควร ดังนั้นนอกจากพิจารณาเหตุและผลดังกล่าวแล้ว
ก่อนจะทำอะไรลงไป ควรพิจารณาถึงสิ่งต่าง ๆ ดังนี้

๑. กฎหมาย การทำผิดกฎหมายย่อมไม่สมควร เช่น การ จอดรถในที่ห้ามจอด

๒. ศีล การกระทำบางอย่าง เช่น การฆ่าสัตว์โดยมีอาชญาบัตรถูกต้อง แม้จะไม่ผิดกฎหมาย แต่ผิดศีล จึงไม่ควรทำ สำหรับคฤหัสถ์ควรรักษาศีลห้าเป็นอย่างน้อย

๓. ฐานะ การกระทำใด ถ้าไม่เหมาะกับเพศ วัย ความรู้ กำลัง ยศ ตระกูล หรือ ฐานะในสังคมของตน การกระทำนั้นไม่สมควร เช่น
เป็นชายแต่แต่งกายเหมือนหญิง มีรายได้น้อยแต่ชอบใช้ของแพง ๆ

๔. คำตำหนิ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ติตนเองด้วยสิ่งใด ไม่ควรทำสิ่งนั้น ดังนั้น การกระทำใด ถ้าตนเองตำหนิ หรือ ผู้รู้ (จักผิดชอบชั่วดี) ตำหนิ การกระทำนั้นไม่สมควร
คำตำหนิของผู้รู้เปรียบเหมือนลายแทงขุมทรัพย์ ผู้นำมาพิจารณาโดยแยบคายจะได้รับประโยชน์ คือ รู้ข้อบกพร่องในตัว แล้วแก้ไขเสีย

๕. กาลเวลา การกระทำที่ไม่เหมาะสมกับกาลเวลาแบ่งได้ ๔ ลักษณะ คือ
๕.๑ ควรจะรีบแต่กลับเฉื่อยชา เช่น การปฐมพยาบาลผู้ประสบอุบัติเหตุหรือป่วยหนัก ต้องทำอย่างรีบด่วน ถ้าช้าอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้
๕.๒ ควรจะช้าแต่กลับเร็ว เช่น การรีบกลืนอาหารโดยไม่เคี้ยวให้ละเอียดทำให้อาหารย่อยยาก
๕.๓ ผิดเวลา ถ้าพูดไม่ถูกกาลเวลา เช่น การพูดกับคนที่กำลังโกรธมักจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี
การทำผิดเวลา เช่น ซื้อควายหน้านา ซื้อผ้าหน้าหนาว ย่อมได้ของแพง เพราะไม่วางแผนไว้ล่วงหน้า
๕.๔ ผิดลำดับ คือ ควรทำก่อนกลับทำทีหลัง ควรทำทีหลังกลับทำก่อน

อรรถกถาอาวาริยชาดกกล่าวถึงคนแจวเรือจ้างข้ามฟาก เขาส่งผู้โดยสารข้ามแม่น้ำคงคาก่อนแล้วค่อยทวงค่าจ้างภายหลัง การทำผิดลำดับทำให้เขาต้องทะเลาะกับผู้โดยสารที่ไม่ยอมจ่ายค่าจ้าง เขาต้องใช้วิธีด่าและทุบตีผู้โดยสาร จึงจะได้ค่าจ้าง ถ้าเขาใช้นโยบาย จ่ายก่อน จรทีหลัง ซึ่งเป็นวิธีที่ถูกต้อง เขาจะเรียกร้องค่าจ้างได้มากตามต้องการ เพราะผู้โดยสารที่อยากจะข้ามฟาก แม้เกินราคาค่าจ้างก็ให้ได้

๖. สถานที่ การกระทำที่ไม่เหมาะกับสถานที่มี ๒ ลักษณะ คือ
๖.๑ ขัดกับประเพณีอันดีงาม เช่น การแต่งกายด้วยสีฉูดฉาดไปในงานศพ คนไทยเราไม่นิยมทำกัน ท่านจึงสอนว่า เข้าเมือง ตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม
๖.๒ ขัดกับสภาพแวดล้อม เช่น การสวมเสื้อผ้าสีดำหรือสีที่มืดทึบในขณะที่อากาศร้อนเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะสีดำจะดูดความร้อนได้ดีทำให้ร่างกายร้อนมาก
เมื่อกลางปี ๒๕๓๘ ในสหรัฐอเมริกา อากาศร้อนจัดมาก มีผู้เสียชีวิตเกือบพันคนเพราะปรับตัวให้เข้ากับอากาศที่ร้อนจัดไม่ได้
อนึ่ง การอยู่ในถิ่นที่มีมลพิษมาก ห่างไกลจากที่ทำงาน ไกลจากวัด มีแหล่งอบายมุขมาก เป็นสิ่งที่ไม่ควร เพราะเป็นอันตรายแก่สุขภาพและไม่สะดวกในการประกอบอาชีพ
และการปฏิบัติธรรม

๗. ความพอดี การกระทำที่ไม่พอดี คือ ทำยังไม่ถึงดีหรือทำเลยดี ทำให้ผลที่ออกมาไม่ดี เช่น การหุง ข้าวนานจนเลยความพอดี ย่อมได้ข้าวไหม้ ถ้าหุงยังไม่ถึงจุดที่พอดี ก็เลิกหุงเสียก่อน ข้าวก็สุก ๆ ดิบ ๆ


กรรมชั่วมีมาก ในที่นี้จะกล่าวถึงทุจริต ๓ ชนิด รวม ๑๐ อย่าง คือ
๑. กายทุจริต ได้แก่ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม (กายกรรม 3)
๒. วจีทุจริต ได้แก่ พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ (วจีกรรม 4)
๓. มโนทุจริต ได้แก่ อยากได้ของเขาในทางไม่ชอบ ปองร้ายเขา มีความเห็นผิด (เช่น ทานไม่มีผล กรรมดีกรรมชั่วไม่มีผล นรกสวรรค์ไม่มี พ่อแม่ไม่มีบุญคุณ) (มโนกรรม 3)

เมื่อ แบ่งย่อยออกไปอีก คือ ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง ชักชวนผู้อื่นในการฆ่าสัตว์ พอใจในการฆ่าสัตว์ กล่าวสรรเสริญการฆ่าสัตว์ ..... กล่าวสรรเสริญความเห็นผิด ฯลฯ
รวมเรียกว่า อกุศลกรรมบถ ๑๐
กรรมชั่วย่อมนำไปสู่คุกตะรางหรือนรก ควรเว้นเสีย และควรเว้นอบายมุขซึ่งเป็นเหตุให้ฉิบหาย เช่น น้ำเมา การพนัน คนชั่ว ความเกียจคร้าน เป็นต้น
กรรมดีมีมาก เช่น กุศลกรรมบถ ๑๐ (การละเว้นอกุศลกรรมบถ ๑๐)
บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ คือ กรรมดีหรือบุญที่เกิดจากการให้ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา การอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ การขวนขวายในกิจที่ชอบ การให้ส่วนบุญ
การอนุโมทนาส่วนบุญ การฟังธรรม การแสดงธรรม การทำความเห็นให้ตรง
มงคล ๓๘ คือ เหตุแห่งความเจริญ เช่น ไม่คบคนพาล คบบัณฑิต ไม่ประมาท สันโดษ อดทน เป็นต้น
กรรมดีเป็นสิ่งที่ควรกระทำเพราะนำความสุขมาให้ทั้งในชาตินี้ และชาติหน้า





เครื่องหมายของ Facebook

ShareThis

ป้ายกำกับ

Powered By Blogger

ค้นหาบล็อกนี้

พระธรรมาภิวัฒน์'s space

เพื่อชีวิตจิตสำนึกที่ดีงาม

ผู้ติดตาม

Network