วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2552

กว่าจะถึงอรหันต์..พระมหาโมคคัลลานเถระ

จิตอาสาเพื่อสังคมอุดมสุข

มีฤทธิ์แม้มากมาย
ไม่ตายก็ย่อมได้
แต่ยอมชีพตักษัย
เพื่อให้หมดหนี้กรรม

พระมหาโมคคัลลานเถระนั้น ได้ถือกำเนิดจากสกุลพราหมณ์ ที่หมู่บ้านโกลิตคาม ใกล้ๆ นครราชคฤห์ ในแคว้นมคธ โดยได้ชื่อว่า โกลิตะ เป็นบุตรของพราหมณ์หัวหน้าหมู่บ้าน ซึ่งมีมารดาชื่อโมคคัลลีพราหมณี และมีเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่อยู่หมู่บ้านใกล้ๆกันชื่อ อุปติสสะ (คือพระสารีบุตรนั่นเอง)

โกลิตะ กับ อุปติสสะเป็นสหายกันมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กเลยทีเดียว เพราะสองสกุล สนิทสนม กันมาได้ ๗ ชั่วสกุลแล้ว ทั้งสองจึงเรียนด้วยกัน ไปไหนมาไหนด้วยกันเสมอๆ

ต่อมาได้บวชแสวงหาโมกขธรรมในสำนักของสญชัยปริพาชก แต่เห็นว่าไม่เป็นทางหลุดพ้น จากกิเลสได้ สองสหาย จึงลาไปบวช ในสำนักของ พระพุทธเจ้าองค์สมณโคดม

เมื่อบวชได้ ๗ วัน ภิกษุโมคคลัลานะ (เรียกโกลิตะตามชื่อของนางพราหมณีโมคคัลลี ผู้เป็น มารดา) ได้บำเพ็ญสมณธรรม(ธรรมของผู้สงบระงับกิเลส) อยู่ที่บ้าน กัลลวาลมุตตคาม ในแคว้นมคธ ฝึกฝน พากเพียรอย่างหนัก จนกระทั่งเหนื่อยเพลียเกิดอาการนั่งโงกง่วง โดนกิเลส ถีนมิทธะ (จิตง่วงหรี่ซึม) ครอบงำ
พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงเสด็จมาโปรด ด้วยการตรัสถามว่า

"ดูก่อนโมคคัลลานะ เธอง่วงหรือ....เธอง่วงหรือ...."

ภิกษุโมคคัลลานะได้ยินเสียง ของพระศาสดาเรียกอยู่ จึงได้สติขึ้นมา แล้วตอบออกไป

"เป็นอย่างนั้นพระเจ้าข้า"

"ดูก่อนโมคคัลลานะ เธอจงฟัง เมื่อเธอไม่มีสัญญา(การกำหนดรู้)อย่างไรอยู่ ความง่วง ย่อมครอบงำได้ ฉะนั้นเธอพึงทำไว้ในใจ ซึ่งสัญญานั้นให้มาก ก็จะเป็นเหตุให้เธอ ละความง่วงได้

แต่ถ้ายังละไม่ได้ เธอพึงตรึกตรองพิจารณาถึงธรรม ตามที่ตนได้สดับแล้ว ได้เรียนมาแล้ว ด้วยใจ ก็จะเป็นเหตุ ให้เธอละความง่วงได้

แต่ถ้ายังละไม่ได้ เธอพึงสาธยายธรรม ตามที่ตนได้สดับมา ได้เรียนแล้วโดยพิสดาร ก็จะเป็นเหตุ ให้เธอ ละความง่วงได้

แต่ถ้ายังละไม่ได้ เธอพึงแยงช่องหูทั้งสองข้าง หรือเอามือลูบตัว ก็จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงได้

แต่ถ้ายังละไม่ได้ เธอพึงลุกขึ้นยืน เอาน้ำล้างหน้า เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวฤกษ์ (ดาวที่มีแสงสว่าง แผ่รังสีออกได้รอบตัว) ก็จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงได้

แต่ถ้ายังละไม่ได้ เธอพึงทำในใจถึงอาโลกสัญญา(กำหนดหมายแสงสว่าง) ตั้งความสำคัญ ในกลางวันว่า กลางวันอย่างไร กลางคืนก็อย่างนั้น กลางคืนอย่างไรกลางวันก็อย่างนั้น มีใจเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่ออยู่ ทำจิตให้มีแสงสว่างเกิด ก็จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงได้

แต่ถ้ายังละไม่ได้ เธอพึงอธิษฐาน (ตั้งจิตกำหนดใจ) จงกรม(การเดินไปมาโดยมีสติกำกับ ไม่ให้กิเลส ครอบงำได้) กำหนดหมายเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ (ร่างกายและจิตใจ) มีใจไม่คิดไปภายนอก ก็จะเป็นเหตุ ให้เธอละความง่วงได้

แต่ถ้ายังละไม่ได้อีก เธอจงสำเร็จสีหไสยา คือนอนตะแคงเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติ สัมปชัญญะ กำหนดหมายเวลาที่จะลุกขึ้น พอตื่นแล้ว พึงรีบลุกขึ้นด้วยตั้งใจว่า เราจะไม่ทำ ความสุขในการนอน ไม่ทำ ความสุขในการเอนข้าง ไม่ทำความสุข ในการเคลิ้มหลับ

ดูก่อนโมคคัลลานะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้เถิด"

แล้วพระศาสดาทรงทำให้ภิกษุโมคคัลลานะสลดใจ ด้วยคำตรัสปลุกสำนึกที่ว่า

"โมคคัลลานะ ความพยายามของเธออย่าได้ไร้ผลเสียเลย"

เมื่อได้ฟังกรรมฐาน(วิธีปฏิบัติลดละกิเลสให้เหมาะสมกับฐานะ) ที่พระศาสดา ช่วยบรรเทา ความโงกง่วงแล้ว ภิกษุโมคคัลลานะ ก็เจริญวิปัสสนา (ฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้แจ้ง เห็นจริง) ให้เข้าถึงมรรคผล จนได้บรรลุธรรม ทำกิเลสสิ้นเกลี้ยง เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในพระพุทธศาสนา ซึ่งพระศาสดา ทรงยกย่องเป็น เอตทัคคะ (ผู้ยอดเยี่ยมพิเศษ ในทางใด ทางหนึ่ง) ในด้านผู้มีฤทธิ์มาก และได้เป็นอัครสาวก เบื้องซ้ายของพระผู้มีพระภาคเจ้า มีคุณวิเศษ เหล่านี้คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖

มีอยู่วันหนึ่ง ปรากฏหญิงแพศยา(สำส่อน,โสเภณี) ได้เข้ามาเล้าโลมพระมหาโมคคัลลานเถระ ท่านจึง อบรมสั่งสอนนางว่า

"เราติเตียนกระท่อม คือสรีระร่างกายที่สำเร็จด้วยโครงกระดูกนี้ อันฉาบทาด้วยเนื้อ ร้อยรัด ด้วยเส้นเอ็น เต็มไปด้วยของสกปรก มีกลิ่นเหม็นน่าเกลียด ที่คนทั้งหลาย เข้าใจว่า เป็นของของตน

แม้ร่างกายของเธอก็เช่นกันกับถุงอันเต็มไปด้วยคูถ(อุจจาระ) มีหนังหุ้มห่อปกปิดไว้ เหมือน นางปีศาจ มีฝีที่อก มีช่องเก้าช่องเป็นที่ไหลออกเนืองนิตย์ จึงควรละเว้นสรีระของเธอ อันมีช่อง เก้าช่อง ที่เต็มไปด้วย กลิ่นเหม็น ดังชายหนุ่มผู้รักสะอาด หลีกเลี่ยงมูตคูถ(ปัสสาวะ อุจจาระ) ไปจนห่างไกล ฉะนั้น

หากว่า ใครๆ พึงรู้จักสรีระของเธอ เช่นเดียวกับที่เรารู้จักแล้ว ก็จะพากันหลบหลีกเธอไปเสีย ห่างไกล เหมือนคน ที่รักสะอาดเห็นหลุมคูถ ในฤดูฝน แล้วหลีกเลี่ยงไปจนห่างไกล ฉะนั้น"

หญิงแพศยาได้ฟังคำสอนนั้นแล้ว ก็ยังไม่เกิดความสลดใจ ได้ตอบพระเถระว่า

"ข้าแต่สมณะผู้มีความเพียรมาก ท่านพูดอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น แต่คนบางจำพวก ยังจมอยู่ ในร่างกาย อันนี้ เหมือนกับโคเฒ่าที่จมอยู่ในตม ฉะนั้น"

พระเถระเห็นว่าเธอยังมีมิจฉาทิฐิ (ความเห็นผิด)อยู่ จึงกล่าวสอนสำทับให้นาง สำนึกว่า การประพฤติ ตามใจชอบนั้น ไม่มีประโยชน์มีแต่นำโทษมาให้โดยถ่ายเดียว

"ผู้ใดประสงค์ย้อมอากาศด้วยขมิ้น หรือด้วยน้ำย้อมอย่างอื่น การกระทำของผู้นั้น ย่อมทุกข์ลำบาก เปล่าๆ เพราะจิตของเรานี้ก็เสมือนเช่นอากาศ เป็นจิตตั้งมั่นด้วยดีในภายใน ฉะนั้นเธออย่ามาหวังความรักจากฉัน ที่มีอยู่ในดวงจิตอันลามกของเธอเลย เหมือนตัว แมลง ถลาเข้าสู่กองไฟ ย่อมถึงความพินาศฉะนั้น

เธอจะดู ร่างกาย ที่กระดูก ๓๐๐ ท่อนยกขึ้นตั้งไว้ มีแผลทั่วไป อันบุญกรรมกระทำให้วิจิตร และ กระสับกระส่าย ซึ่งพวกคนพาล(โง่เขลา) พากันปรารถนาอยู่โดยมาก ร่างกายนี้ ไม่มีความยั่งยืน มั่นคงอยู่เลย"

หญิงแพศยา เล้าโลมพระเถระไม่สำเร็จ กลับโดนตำหนิติเตียนสั่งสอน ก็ให้รู้สึกอับอาย รีบหลบหลีก หนีไปจาก ที่ตรงนั้นทันที

กาลต่อมา....ชื่อเสียงของพระมหาโมคคัลลานเถระที่เป็นผู้มีฤทธิ์ มากกระฉ่อนไปทั่ว ทำให้พวก เดียรถีย์ (นักบวชนอกพุทธศาสนา) เกิดจิตริษยา ด้วยเข้าใจเอาเองว่า

"เหตุที่พระสมณโคดมได้ลาภสักการะเกิดขึ้นมากมาย ก็เพราะอาศัยฤทธิ์ของภิกษุ ชื่อโมคคัลลานะนี้เอง"

พวกเดียรถีย์จึงตกลงกันจ้างโจรด้วยทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะ(๔,๐๐๐ บาท) ให้ฆ่า พระโมคคัลลานะ เถระเสีย พวกโจรก็มาดักฆ่าพระเถระ แต่พระเถระมีฤทธิ์มาก ได้หลบพ้นภัย อยู่เสมอ จนกระทั่ง พระเถระ ได้พิจารณารู้ว่า นี่เป็นกรรมเก่า ที่ตนได้กระทำไว้ ในอดีตชาติ จึงไม่หลบหนีอีกต่อไป ยอมให้พวกโจรทุบตี จนกระดูก ทั่วกายแหลกละเอียด พวกโจรเข้าใจว่า พระเถระตายแล้ว จึงพากันหนีไป

แต่พระมหาโมคคัลลานเถระยังไม่ยอมตาย ด้วยคิดว่า

"เราจะต้องถวายบังคมลาพระศาสดาก่อน แล้วจึงจะปรินิพพาน"

พระเถระได้ใช้ฤทธิ์ไปเข้าเฝ้าพระศาสดา แล้วจึงไปปรินิพพานที่กาฬศิลาประเทศ จากนั้น ข่าวคราวว่า พวกโจร ฆ่าพระเถระตาย ก็แพร่สะพัดไปทั่วชมพูทวีป

พระเจ้าอชาตศัตรู ทรงให้สืบหาพวกโจร จนกระทั่งจับโจรทั้งหมดได้ แล้วรู้ว่าพวกเดียรถีย์ เป็นผู้ ว่าจ้างฆ่า จึงทรง ให้ประหารชีวิตทั้งหมด อย่างทารุณ

ภิกษุทั้งหลายได้สนทนากันในธรรมสภาถึงเรื่องนี้
"พระอัครสาวกเบื้องซ้าย ถึงแก่ความตายอย่างนี้ไม่เหมาะสมเลย"

พระศาสดาเสด็จมาพอดี จึงตรัสว่า
"ความตายของโมคคัลลานะนั้น ไม่เหมาะสมแก่อัตภาพ(ตัวตน)นี้เท่านั้น แต่เหมาะสมแก่กรรม ที่โมคคัลลานะ ได้กระทำไว้ในชาติกาลก่อน"

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลขอให้พระศาสดาตรัสเล่า พระองค์จึงทรงกล่าวถึงเรื่องราวในอดีตนั้น

ในอดีตกาล โมคคัลลานะได้เกิดเป็นกุลบุตรคนหนึ่งในนครพาราณสี ต้องทั้งทำงาน หาทรัพย์ และทั้งดูแล ปรนนิบัติ บิดา มารดาตาบอด ด้วยตนเอง ทำให้บิดามารดาเป็นห่วง จึงกล่าวว่า

"ลูกเอ๋ย เจ้าคนเดียวทำงานหนักทั้งในบ้านและนอกบ้าน เราจะติดต่อหานางกุมาริกา (เด็กหญิง) สักคนมาให้เจ้า"

แต่ลูกชายได้ห้ามพ่อแม่ไว้

"ข้าแต่พ่อและแม่ ตราบใดที่ท่านทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ ตราบนั้นลูกจะดูแลพ่อแม่ ด้วยมือ ของตนเอง"

แม้พ่อแม่จะถูกห้ามเอาไว้แล้ว ก็ยังรบเร้าอ้อนวอนเสมอๆ จนกระทั่ง ได้ให้คนนำเอา เด็กสาวคนหนึ่ง มาเป็น ภรรยา ของลูกชาย ความเป็นสะใภ้ใหม่ ทำให้นางปรนนิบัติพ่อแม่ ของสามีเป็นอย่างดี

แต่ไม่นานนัก นางก็เบื่อหน่ายที่จะดูแลพ่อแม่ของสามี จึงหาเรื่องแกล้งต่างๆ นานา แล้วบ่น กับสามีบ่อยๆ ว่า

"นี่เพราะพ่อและแม่ตาบอด มักทำของรกเลอะสกปรกไปทั่วเรือน ฉันเหนื่อยเหลือเกิน ที่จะตาม ดูแล ทนไม่ไหวแล้ว ฉันไม่อาจอยู่ร่วมกันกับพ่อแม่อย่างนี้ได้"

ลูกชายหลงเชื่อภรรยา ยิ่งถูกพูดกรอกหูอยู่บ่อยๆเข้า จึงเกิดความเห็นผิดคิดกำจัด พ่อแม่เสีย โดยออกอุบาย หลอก ให้พ่อแม่ขึ้นเกวียน เพื่อพาไปพบญาติ

ระหว่างทาง พอถึงกลางดง ก็แสร้งกล่าวว่า

"ข้าแต่พ่อ ท่านช่วยถือเชือกบังคับเกวียนนี้ไว้ แล้ววัวจะเดินไปตามทางเอง เพราะที่นี้มีพวกโจร อยู่ ลูกจะลงเดิน คอยระวังให้"

แล้วตนเองก็กระโดดลงไปเดินข้างเกวียน สักครู่ก็แกล้งทำเป็นโจรส่งเสียงดังเข้าปล้น บิดา มารดา ตกใจกลัว แต่ก็ยัง ตะโกนบอกลูกชายว่า

"ลูก...พวกโจรมาแล้ว เจ้าจงรักษาตัวเองให้ดีเถิด พ่อแม่แก่แล้ว เจ้าไม่ต้องเป็นห่วงหรอก"

แม้พ่อแม่จะส่งเสียงร้องอยู่ แต่ลูกชายก็กระทำเยี่ยงโจร เข้าทุบตีทำร้ายพ่อแม่จนถึงแก่ ความตาย แล้วทิ้งศพไว้ ที่ในดงป่าทึบนั้น
......................................................

พระศาสดาตรัสกรรมเก่าของพระอัครสาวกเบื้องซ้ายแล้ว ตรัสว่า

"ภิกษุทั้งหลาย โมคคัลลานะกระทำอนันตริยกรรม (กรรมชั่วที่เป็นบาปหนัก ใหญ่หลวง) ไว้ประมาณนี้ จึงต้อง หมกไหม้ อยู่ในนรกหลายแสนปี แม้เศษผลบาปกรรมที่เหลือ ก็ได้ทำ ให้ถูกโจรทุบตี จนกระดูก แหลกละเอียด อย่างนั้นแหละ แล้วต้องถึงแก่ความตาย นับร้อยชาติเลย ทีเดียว

โมคคัลลานะได้ตายสมควรแก่กรรมของตนแล้ว ฝ่ายพวกเดียรถีย์กับพวกโจร ที่ประทุษร้าย พระเถระ ก็ได้ตาย สมควรแก่กรรมของตน แล้วเหมือนกัน

เพราะผู้ใดประทุษร้ายพระอรหันต์ผู้ไม่มีอาชญา(โทษ) หรือประทุษร้ายคนผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้นั้นย่อม เข้าถึงทุกข์ ๑๐ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งเร็วพลัน คือ

๑. เกิดทุกข์ทรมานแรงกล้า
๒. เสื่อมทรัพย์
๓. ถูกทำร้ายร่างกายรุนแรง
๔. เจ็บป่วยอย่างหนัก
๕. ฟุ้งซ่านถึงวิกลจริต
๖. ต้องราชภัย
๗. ถูกกล่าวหาร้ายแรง
๘. สิ้นญาติ
๙. สมบัติทั้งหลายพินาศย่อยยับ หรือไฟไหม้บ้านหมด
๑๐. เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงนรก

นี้แลทุกข์โทษภัยของผู้ประทุษร้ายคนที่ไม่มีความผิด"

แล้วพระพุทธองค์โปรดให้ก่อสถูป บรรจุอัฐิธาตุของพระมหาโมคคัลลานเถระ ไว้ที่ใกล้ซุ้ม ประตูวัด เวฬุวัน ในเขต เมืองราชคฤห์ แห่งแคว้นมคธนั่นเอง


(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๓ ข้อ ๕๘, เล่ม ๒๖ ข้อ ๔๐๐, เล่ม ๓๒ ข้อ ๔
อรรถกถาแปลเล่ม ๕๓ หน้า ๔๓๒, เล่ม ๗๐ หน้า ๔๘๔)


ไม่มีความคิดเห็น:

เครื่องหมายของ Facebook

ShareThis

ป้ายกำกับ

Powered By Blogger

ค้นหาบล็อกนี้

พระธรรมาภิวัฒน์'s space

เพื่อชีวิตจิตสำนึกที่ดีงาม

ผู้ติดตาม

Network