วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2552

กรรมชั่วกรรมดี


การวินิจฉัยว่า สิ่งใดเป็น " กรรมดี " สิ่งใดเป็น " กรรมชั่ว " สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ มีหลักเกณฑ์ดังนี้คือ

๑. การกระทำที่มีเหตุมาจากกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ การกระทำนั้นเป็นกรรมดี ถูก เป็นบุญ ควรทำ
ถ้ามีเหตุมาจากอกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ โมหะ การกระทำนั้นเป็นกรรมชั่ว ผิด เป็นบาป ไม่ควรทำ

๒. การกระทำที่ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนใครๆ มีสุขเป็นผล ไม่ทำให้ร้อนใจภายหลัง การกระทำนั้นเป็นกรรมดี ถูก เป็นบุญ ควรทำ
ถ้าเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนหรือผู้อื่น มีทุกข์เป็นผล หรือทำให้ร้อนใจภายหลัง การกระทำนั้นเป็นกรรมชั่ว ผิด เป็นบาป ไม่ควรทำ

๓. การกระทำที่ทำให้กุศลธรรมเจริญขึ้น อกุศลธรรมเสื่อมไป การกระทำนั้นเป็นกรรมดี ถูก เป็นบุญ ควรทำ
ถ้าทำให้กุศลธรรมเสื่อมไป อกุศลธรรมเจริญขึ้น การกระทำนั้นเป็นกรรมชั่ว ผิด เป็นบาป ไม่ควรทำ

การกระทำความดีที่สมบูรณ์แบบนั้น ต้องทำให้ครบวงจร คือ ดีทั้งเหตุ ดีทั้งผล และทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างได้รับผลดี เช่น
ในการปล่อยสัตว์ ผู้ปล่อยก็ได้บุญ คือ รู้สึกดีใจชื่นใจที่ตนได้ทำความดี สัตว์ที่ถูกปล่อยก็ดีใจที่มีชีวิตรอดพ้นจากความตาย หรือพ้นจากการจองจำ

การกระทำบางอย่าง เช่น หลับในเวลาเรียน แม้จะไม่ใช่กรรมชั่ว แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่สมควร ดังนั้นนอกจากพิจารณาเหตุและผลดังกล่าวแล้ว
ก่อนจะทำอะไรลงไป ควรพิจารณาถึงสิ่งต่าง ๆ ดังนี้

๑. กฎหมาย การทำผิดกฎหมายย่อมไม่สมควร เช่น การ จอดรถในที่ห้ามจอด

๒. ศีล การกระทำบางอย่าง เช่น การฆ่าสัตว์โดยมีอาชญาบัตรถูกต้อง แม้จะไม่ผิดกฎหมาย แต่ผิดศีล จึงไม่ควรทำ สำหรับคฤหัสถ์ควรรักษาศีลห้าเป็นอย่างน้อย

๓. ฐานะ การกระทำใด ถ้าไม่เหมาะกับเพศ วัย ความรู้ กำลัง ยศ ตระกูล หรือ ฐานะในสังคมของตน การกระทำนั้นไม่สมควร เช่น
เป็นชายแต่แต่งกายเหมือนหญิง มีรายได้น้อยแต่ชอบใช้ของแพง ๆ

๔. คำตำหนิ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ติตนเองด้วยสิ่งใด ไม่ควรทำสิ่งนั้น ดังนั้น การกระทำใด ถ้าตนเองตำหนิ หรือ ผู้รู้ (จักผิดชอบชั่วดี) ตำหนิ การกระทำนั้นไม่สมควร
คำตำหนิของผู้รู้เปรียบเหมือนลายแทงขุมทรัพย์ ผู้นำมาพิจารณาโดยแยบคายจะได้รับประโยชน์ คือ รู้ข้อบกพร่องในตัว แล้วแก้ไขเสีย

๕. กาลเวลา การกระทำที่ไม่เหมาะสมกับกาลเวลาแบ่งได้ ๔ ลักษณะ คือ
๕.๑ ควรจะรีบแต่กลับเฉื่อยชา เช่น การปฐมพยาบาลผู้ประสบอุบัติเหตุหรือป่วยหนัก ต้องทำอย่างรีบด่วน ถ้าช้าอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้
๕.๒ ควรจะช้าแต่กลับเร็ว เช่น การรีบกลืนอาหารโดยไม่เคี้ยวให้ละเอียดทำให้อาหารย่อยยาก
๕.๓ ผิดเวลา ถ้าพูดไม่ถูกกาลเวลา เช่น การพูดกับคนที่กำลังโกรธมักจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี
การทำผิดเวลา เช่น ซื้อควายหน้านา ซื้อผ้าหน้าหนาว ย่อมได้ของแพง เพราะไม่วางแผนไว้ล่วงหน้า
๕.๔ ผิดลำดับ คือ ควรทำก่อนกลับทำทีหลัง ควรทำทีหลังกลับทำก่อน

อรรถกถาอาวาริยชาดกกล่าวถึงคนแจวเรือจ้างข้ามฟาก เขาส่งผู้โดยสารข้ามแม่น้ำคงคาก่อนแล้วค่อยทวงค่าจ้างภายหลัง การทำผิดลำดับทำให้เขาต้องทะเลาะกับผู้โดยสารที่ไม่ยอมจ่ายค่าจ้าง เขาต้องใช้วิธีด่าและทุบตีผู้โดยสาร จึงจะได้ค่าจ้าง ถ้าเขาใช้นโยบาย จ่ายก่อน จรทีหลัง ซึ่งเป็นวิธีที่ถูกต้อง เขาจะเรียกร้องค่าจ้างได้มากตามต้องการ เพราะผู้โดยสารที่อยากจะข้ามฟาก แม้เกินราคาค่าจ้างก็ให้ได้

๖. สถานที่ การกระทำที่ไม่เหมาะกับสถานที่มี ๒ ลักษณะ คือ
๖.๑ ขัดกับประเพณีอันดีงาม เช่น การแต่งกายด้วยสีฉูดฉาดไปในงานศพ คนไทยเราไม่นิยมทำกัน ท่านจึงสอนว่า เข้าเมือง ตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม
๖.๒ ขัดกับสภาพแวดล้อม เช่น การสวมเสื้อผ้าสีดำหรือสีที่มืดทึบในขณะที่อากาศร้อนเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะสีดำจะดูดความร้อนได้ดีทำให้ร่างกายร้อนมาก
เมื่อกลางปี ๒๕๓๘ ในสหรัฐอเมริกา อากาศร้อนจัดมาก มีผู้เสียชีวิตเกือบพันคนเพราะปรับตัวให้เข้ากับอากาศที่ร้อนจัดไม่ได้
อนึ่ง การอยู่ในถิ่นที่มีมลพิษมาก ห่างไกลจากที่ทำงาน ไกลจากวัด มีแหล่งอบายมุขมาก เป็นสิ่งที่ไม่ควร เพราะเป็นอันตรายแก่สุขภาพและไม่สะดวกในการประกอบอาชีพ
และการปฏิบัติธรรม

๗. ความพอดี การกระทำที่ไม่พอดี คือ ทำยังไม่ถึงดีหรือทำเลยดี ทำให้ผลที่ออกมาไม่ดี เช่น การหุง ข้าวนานจนเลยความพอดี ย่อมได้ข้าวไหม้ ถ้าหุงยังไม่ถึงจุดที่พอดี ก็เลิกหุงเสียก่อน ข้าวก็สุก ๆ ดิบ ๆ


กรรมชั่วมีมาก ในที่นี้จะกล่าวถึงทุจริต ๓ ชนิด รวม ๑๐ อย่าง คือ
๑. กายทุจริต ได้แก่ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม (กายกรรม 3)
๒. วจีทุจริต ได้แก่ พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ (วจีกรรม 4)
๓. มโนทุจริต ได้แก่ อยากได้ของเขาในทางไม่ชอบ ปองร้ายเขา มีความเห็นผิด (เช่น ทานไม่มีผล กรรมดีกรรมชั่วไม่มีผล นรกสวรรค์ไม่มี พ่อแม่ไม่มีบุญคุณ) (มโนกรรม 3)

เมื่อ แบ่งย่อยออกไปอีก คือ ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง ชักชวนผู้อื่นในการฆ่าสัตว์ พอใจในการฆ่าสัตว์ กล่าวสรรเสริญการฆ่าสัตว์ ..... กล่าวสรรเสริญความเห็นผิด ฯลฯ
รวมเรียกว่า อกุศลกรรมบถ ๑๐
กรรมชั่วย่อมนำไปสู่คุกตะรางหรือนรก ควรเว้นเสีย และควรเว้นอบายมุขซึ่งเป็นเหตุให้ฉิบหาย เช่น น้ำเมา การพนัน คนชั่ว ความเกียจคร้าน เป็นต้น
กรรมดีมีมาก เช่น กุศลกรรมบถ ๑๐ (การละเว้นอกุศลกรรมบถ ๑๐)
บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ คือ กรรมดีหรือบุญที่เกิดจากการให้ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา การอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ การขวนขวายในกิจที่ชอบ การให้ส่วนบุญ
การอนุโมทนาส่วนบุญ การฟังธรรม การแสดงธรรม การทำความเห็นให้ตรง
มงคล ๓๘ คือ เหตุแห่งความเจริญ เช่น ไม่คบคนพาล คบบัณฑิต ไม่ประมาท สันโดษ อดทน เป็นต้น
กรรมดีเป็นสิ่งที่ควรกระทำเพราะนำความสุขมาให้ทั้งในชาตินี้ และชาติหน้า





ไม่มีความคิดเห็น:

เครื่องหมายของ Facebook

ShareThis

ป้ายกำกับ

Powered By Blogger

ค้นหาบล็อกนี้

พระธรรมาภิวัฒน์'s space

เพื่อชีวิตจิตสำนึกที่ดีงาม

ผู้ติดตาม

Network